"บิ๊กเล็ก" ลุยงาน ผอ.ศบค.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ชายแดนใต้หารือผู้นำศาสนา เร่งติดตามสถานการณ์โควิด วางแผนปิดเกมโดยเร็วที่สุด ขณะที่ยะลาเอาจริง กฎเหล็กติดต่อราชการต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ด้านตัวเลขติดเชื้อใหม่รวม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,943 ราย เสียชีวิต 7 ศพ
วันอังคารที่ 19 ต.ค.64 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ผอ.ศบค.ส่วนหน้า" ได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พบปะหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เพื่อรับทราบปัญหา ข้อขัดข้อง ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำศาสนาที่มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจ ความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน พร้อมขอบคุณผู้นำศาสนาที่ได้มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิดได้เป็นอย่างดี
จากนั้นร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ทั้งหมดเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางกำหนดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การประชุมรับฟังปัญหา ข้อขัดข้อง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะได้เร่งหารือและแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด รวมทั้งเป็นมาตรการที่สอดคล้องตามวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้มียอดผู้ติดเชื้อลดน้อยลง เร่งผลักดันการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง ศบค.ส่วนหน้า จะนำไปกำหนดแนวทางและนโยบายในการทำงานต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก
ด้าน นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในนามตัวแทนประธานคณะกรรมการอิสลามทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกยินดีที่ พล.อ.ณัฐพล ได้มาร่วมพบปะพูดคุยหารือถึงข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฉีดวัคซีน รวมถึงการปฏิบัติตนตามมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและรับทราบถึงข้อเท็จจริง
@@ ยะลาเอาจริง ติดต่อราชการต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม
ส่วนที่ จ.ยะลา นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาและประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา เรื่อง "มาตรการกระตุ้นการดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19" โดยสาระสำคัญ คือ ก่อนหน้านี้ทางสาธารณสุขกำหนดเป้าหมายต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนประชากร ขณะที่ในเวลานี้ จ.ยะลา มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 62% ของจำนวนประชากร เท่านั้น
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมารับการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย จึงเห็นชอบให้กำหนดมาตรการ โดยเป็นการขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และธนาคาร ทุกแห่ง ให้บริการเฉพาะประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม โดยต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หรือเอกสารรับรองในแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ยืนยันการได้รับวัคซีนติดไว้บริเวณหลังบัตรประจำตัวประชาชน ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จ.ยะลา
ส่วนประชาชนใน จ.ยะลา ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนได้กับที่ว่าการอำเภอ หรือสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนในแต่ละอำเภอ ได้ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.64 เป็นต้นไป
@@ เบตงรับลูก ตรวจเข้มฉีดวัคซีนก่อนเข้าเมือง
ที่ด่านตรวจ กม.23 อ.เบตง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคัดกรองบุคคลที่เดินทางผ่านด่านตรวจ ทั้งผู้ที่ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ทุกคัน ซึ่งจะต้องนำหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่า ผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 จากการตรวจ ATK หรือ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ทั้งที่เป็นเอกสารหรือหลักฐานจาก "หมอพร้อม" มาแสดงต่อทางเจ้าหน้าที่ จึงจะสามารถผ่านเข้าพื้นที่ได้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้คนเดินทางที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนผ่านเข้าพื้นที่อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งให้ผู้เดินทางเข้าพื้นที่ทุกคนสแกนคิวอาร์โค้ด Yala Safe Alert ณ ด่านตรวจด้วย
@@ รัฐ-เอกชนร่วม ซับน้ำตาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19
จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้ พ.อ.รณชัย เวียงวงษ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ที่ 42 สำนักงานภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นพค.42 สนภ.4 นทพ.) มีคำสั่งให้กำลังในพื้นที่ สำรวจความต้องการและผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่เขตรับผิดชอบ อ.ยะหา อ.กาบัง อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.ธารโต จ.ยะลา เพื่อนำกำลังของหน่วยลงพื้นที่ร่วมกับ สื่อมวลชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เพื่อมอบข้าวสารอาหารแห้งและยา ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดและผู้สัมผัสเสี่ยงในเบื้องต้น
นางรอกีเยาะ สาและ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ จ.ยะลาหนักมาก ชาวบ้านต้องการอาหารและยา รวมทั้งอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด วันนี้ชาวบ้านดีใจมากที่ได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน
นางสาวรอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในพื้นที่กำลังอยู่ขาขึ้น ทราบว่าตอนนี้ยอดติดเชื้อรายวันไม่ต่ำกว่า 700 ราย และมีชาวบ้านยังรอความช่วยเหลือทั้งอาหารและยาจำนวนมาก
@@ 4 จังหวัดติดเชื้อใหม่ 1,943 ราย เสียชีวิต 7 ศพ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ จ.สงขลา วันที่ 19 ต.ค.64 จากข้อมูลของทาง ศบค. พบว่า ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังสูง มีชื่ออยู่ใน 10 อันดับของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ
โดย จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 621 ราย จากอันดับ 5 ขยับขึ้นมาอันดับ 2 ตามมาด้วย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 498 ราย ยังอยู่ในอันดับ 4 ส่วน จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 455 ราย จากอันดับ 2 ลงมาอันดับ 5 และ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 453 ราย อยู่ในอันดับ 6
ส่วนรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 1,943 ราย และเสียชีวิตรวม 7 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 543 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 31,607 ราย รักษาหายแล้ว 18,933 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 349 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 204 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 435 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,436 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 575 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 44 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 174 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 124 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 11 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 17 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 215 ราย และ Home Isolation 468 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,845 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,462 ราย, อ.หนองจิก 644 ราย, อ.โคกโพธิ์ 319 ราย, อ.ยะหริ่ง 648 ราย, อ.สายบุรี 877 ราย, อ.ไม้แก่น 218 ราย, อ.แม่ลาน 84 ราย, อ.ยะรัง 515 ราย, อ.ปะนาเระ 189 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 357 ราย, อ.มายอ 866 ราย และ อ.กะพ้อ 333 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 498 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 41,023 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 41,000 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,242 ราย รักษาหายแล้ว 34,609 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 172 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 4,488 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 10,275 ราย, อ.เมืองสงขลา 5,709 ราย, อ.จะนะ 4,376 ราย, อ.สิงหนคร 4,138 ราย, อ.สะเดา 3,336 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,524 ราย, อ.เทพา 2,511 ราย, อ.รัตภูมิ 2,199 ราย, อ.นาทวี 947 ราย, อ.บางกล่ำ 877 ราย, อ.ระโนด 671 ราย, สทิงพระ 612 ราย, ควนเนียง 426 ราย, อ.นาหม่อม 425 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 280 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 53 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,144 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 497 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 455 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 35,472 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,718 ราย รักษาหายแล้ว 27,516 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 238 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 522 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 12,792 ราย, อ.กรงปินัง 2,299 ราย, อ.เบตง 3,049 ราย, อ.รามัน 4,713 ราย, อ.บันนังสตา 5,665 ราย, อ.กาบัง 960 ราย, อ.ธารโต 2,092 ราย และ อ.ยะหา 3,902 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 7,718 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 186 ราย, โรงพยาบาลเบตง 169 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 528 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 141 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 1,011 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 160 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 372 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 296 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 193 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 86 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 214 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 64 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 38 ราย, Hospitel ( 2 แห่ง ) 151 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 2,596 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 434 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,078 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 453 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 35 ราย, อ.ตากใบ 30 ราย, อ.ยี่งอ 53 ราย, อ.จะแนะ 17 ราย, อ.แว้ง 13 ราย, อ.สุคิริน 11 ราย, อ.รือเสาะ 3 ราย, อ.บาเจาะ 2 ราย, อ.ระแงะ 47 ราย, อ.ศรีสาคร 56 ราย, อ.เจาะไอร้อง 19 ราย, อ.สุไหงปาดี 91 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 76 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 33,242 ราย รักษาหายสะสม 29,047 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 352 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 6,822 ราย, อ.ระแงะ 3,719 ราย, อ.รือเสาะ 1,694 ราย, อ.บาเจาะ 2,592 ราย, อ.จะแนะ 1,310 ราย, อ.ยี่งอ 2,584 ราย, อ.ตากใบ 2,520 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,610 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,882 ราย, อ.ศรีสาคร 1,811 ราย, อ.แว้ง 1,970 ราย, อ.สุคิริน 903 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,831 ราย