การจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่เรียกโดยย่อว่า “ศบค.ส่วนหน้า” และมี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์นั้น แนวทางนี้มีผู้เห็นต่าง และออกมาคัดค้านรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
คนสำคัญที่ออกมาเคลื่อนไหว และมีนัยการเมืองอย่างเปี่ยมล้น คือ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย ที่โพสต์เฟซบุ๊กโดยจั่วหัวว่า “เรื่องโควิด ต้องให้หมอนำ” เนื้อความตอนหนึ่ง แสดงจุดยืนและมุมมองที่มีต่อ ศบค.ส่วนหน้า อย่างชัดแจ้ง
“ล่าสุด ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อแก้ไขการระบาดของโรคในพื้นที่ปลายด้ามขวาน แล้วให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงปลัดกระทรวงอื่นๆ ไปจนถึงผู้ว่าราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องไปเป็น ‘ลูกมือ’ ของท่าน แต่หัวโต๊ะ ผู้มีอำนาจสูงสุดคือ ’นายทหาร’ ยศพลเอก
ต้องขอบคุณกับเจตนาดีในการกระชับอำนาจ เพื่อให้ท่านมีความคล่องตัวในการบริหารงาน ประเด็นคือ นี่ท่านกำลังเอาโมเดล ‘ความมั่นคงต้องมาก่อน’ มาใช้กับเรื่องสาธารณสุข ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่เหมาะสม เป็นการนำเอา ’การทหารนำการสาธารณสุข’ สอดรับกับแนวทาง ‘การทหารนำการเมือง’ ที่ท่านนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ ข้องใจขยายอำนาจตัวเอง ยุส่งใช้ “หมอทหาร”
ผมไม่ได้มีปัญหากับตัวบุคคล แต่ผมมีปัญหากับหลักคิดที่ใช้ทหารมานำในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีรายละเอียดมาก เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ก็สมควรจะให้หน่วยงาน ที่มีความถนัดเฉพาะทางนั้นขึ้นมานำการทำงาน
หรือถ้าท่านไม่เชื่อมือใครแล้ว ท่านก็ไม่ต้องตั้งหน่วยงานอื่นๆ มานั่งกับท่าน ท่านใส่ชื่อแพทย์ทหารไปได้เลย ท่านจะได้คุมแบบเบ็ดเสร็จ
ตอนนี้สังคมกำลังมองว่า นี่คือการขยายอำนาจให้ตัวเองของท่าน อย่าลืมว่าประเทศไทย มีกฎหมายสำหรับการควบคุมโรคหลายต่อหลายตัว สามารถปรับใช้ได้เลยโดยไม่ต้องตั้งใหม่ แล้วเอาทหารมาคุมเหมือนที่กำลังทำอยู่
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด คือ เรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ท่านยังตั้งหน้าตั้งตาใช้อยู่นั้น เอาเข้าจริง สามารถแทนที่ได้ด้วย พ.ร.ก.โรคติดต่อ ซึ่งล่าสุด มีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาด แต่ท่านก็ไม่ใช้ ยังจะดึงดันรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง
แล้วที่ผ่านมา การเอาทหารไปนำหมอ เราเคยเรียนรู้ มีประสบการณ์มาแล้ว
เดือนพฤษภาคม 2564 เรามี ศูนย์อำนวยการแก้ไขโควิด-19 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็น ผอ.ศูนย์ แล้วผลออกมาเป็นอย่างไร?
จากเรื่องการตั้ง ศบค.กรุงเทพฯ เท่ากับว่า ท่านพร้อมจะให้ทหารนำหมอในทุกพื้นที่ ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าที่ต้องตั้ง ศบค.ชายแดนใต้ เพราะท่านกังวลเรื่องความมั่นคง
ผมไม่อยากฟื้นฝอยไปจนถึงหาเรื่อง แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรกระจายอำนาจให้แต่ละคน แต่ละฝ่าย แต่ละหน่วย ได้ทำงานที่ถนัดมิใช่หรือ เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ผมเคยแสดงความเห็นมาหลายครั้ง และบางครั้งก็อาจไม่สบอารมณ์ท่านนายกฯ ที่ไปติติงการทำงานของรัฐบาล แต่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เป็นนักการเมือง ผมต้องยืนหยัดบนจุดยืนของผม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้”
ท้ายข้อเขียนได้มีการติดแฮชแท็ก #คืนอำนาจให้หมอ
@@ ฉะ ทหารนำหมอคุมโรคระบาด “ผิดฝาผิดตัว”
อีกด้านหนึ่ง มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง กล่าวเรื่องเดียวกันว่า “ท่านนายกฯอย่าคิดว่าทหารจะทำได้ทุกอย่าง ท่านต้องไว้ใจหน่วยงานอื่นๆ บ้าง กระทรวงสาธารณสุขไทยไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ทั่วโลกยอมรับความสามารถ มีของดีต้องรู้จักใช้ นี่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง ท่านต้องถอยไปบ้าง"
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า พอพูดถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายความมั่นคงจะเทคแอ็คชั่นมากเป็นพิเศษ เพราะยังคิดถึงเรื่องการจัดการปัญหาความไม่สงบ ฉะนั้นการตั้ง “ศบค.ชายแดนใต้” ก็คือภาพสะท้อนเรื่องการเอาทหารไปนำหมอในการควบคุมคุมโรค ซึ่งเป็นเรื่องพิลึก ผิดฝาผิดตัว เรื่องโรคระบาดควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำ เพราะเป็นงานของแพทย์ พยาบาล ยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นทุนเดิม มีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะให้หมอ หรือทหารมาดูแลเรื่องสาธารณสุขมากกว่ากัน
@@ 5 จังหวัดใต้ติดท็อปเท็นป่วยใหม่มากที่สุด
วันเดียวกัน มีการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวัน พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ระบุตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โควิดประจำวันจันทร์ที่ 18 ต.ค.64 พบผู้ติดเชื้อ 10,111 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 9,718 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 328 ราย จากเรือนจำ เดินทางจากต่างประเทศ 24 ราย หายป่วยแล้ว 10,612 ราย รักษาอยู่ 107,226 ราย อาการหนัก 2831 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 644 ราย เสียชีวิต 63 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 65,677,794 โดส
10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด มี 5 จังหวัดภาคใต้ติดกลุ่มอยู่ด้วย คือ ยะลา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส นอกจากนี้มี กทม. ระยอง ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ โดยเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าการติดเชื้อมาจากสถานบันเทิง รวมถึงผู้ติดเชื้อจากพื้นที่เสี่ยงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
พญ.สุมนี ยังบอกด้วยว่า ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการปรึกษาหารือกันถึงปัญหาการระบาดในภาคใต้ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคไปช่วยสอบสวนโรคเพิ่มเติม