"อนุทิน”ลงพื้นที่สงขลา – ยะลา ติดตามการแก้ปัญหาโควิด มั่นใจคุมสถานการณ์ได้เร็วแน่ พร้อมสนับสนุนไฟเซอร์ 1 ล้านโดส หวังฉีดเป้าหมายครบ 70% สิ้นเดือน ต.ค. ส่วนที่ปัตตานีเปิดวอล์คอินเร่งฉีดวัคซีนประชาชน ด้านตัวเลขติดเชื้อใหม่รวม 4 จังหวัด 2,495 ราย เสียชีวิต 12 ศพ
วันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ในพื้น โดยได้เข้ารับฟังรายงานสถานการณ์และรายงานผลการปฏิบัติงานจากสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ต่อจากนั้นนายอนุทิน พร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ในพื้น และเยี่ยมชมการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนศูนย์เยาวชน เทศบาลนครยะลา
นายอนุทิน กล่าวว่า ภาพรวมเขตสุขภาพที่ 12 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ 2,400 กว่าราย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 12 ต.ค.มีผู้ติดเชื้อสะสม138,261 รายเสียชีวิต 1,133 ราย อัตราตาย 0.8 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุการติดเชื้อเป็นการระบาดในครอบครัวและชุมชน มีการระบาดเป็นกลุ่มเล็กๆใน โรงงาน ตลาด และในกิจกรรมการรวมกลุ่ม ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ไม่มารับการฉีดวัคซีน จึงได้ส่งทีมในเขตสุขภาพที่ 12 กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต รพ.สต.ต่างๆ ช่วยลงพื้นที่พบผู้นำชุมชนและประชาชน เพื่อสื่อสารและทำการเข้าใจให้เข้ารับวัคซีน
โดยได้สนับสนุนวัคซีน ไฟเซอร์ 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมาย 70 เปอร์เซนต์ ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยในสัปดาห์นี้จะส่งวัคซีน 4 แสนโดส และสัปดาห์หน้าอีก 6 แสนโดส พร้อมสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ จ.นราธิวาส 200,000 เม็ด จ.ปัตตานี 50,000 เม็ด จ.สงขลา 1,200,000 เม็ด ส่วน จ.ยะลา ส่งให้ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.แล้ว 350,000 เม็ด พร้อมส่งชุดตรวจ ATK ให้บุคลากรทางการแพทย์อีก 140,000 ชุด มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้โดยเร็ว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เขตสุขภาพที่ 12 มีเตียงทั้งหมด 28,451 เตียง เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 401 เตียง กลุ่มสีเหลือง 3,167 เตียง และกลุ่มสีเขียวรวมในโรงพยาบาลสนาม 24,883 เตียง ใช้ไปแล้ว 79.9 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย รักษาตัวที่บ้าน ประมาณ 2,400 ราย ได้เพิ่มระบบ HI / CI เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงดูแลผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางขึ้นไป
หลังจากนายอนุทินและคณะเสร็จสิ้นภารกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา จึงได้เดินทางเข้าไปพักในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสต่อในวันพรุ่งนี้อีก 1 วัน
@@ปัตตานี เปิดวอล์คอินฉีดวัคซีน หวังได้ 50 %ในสัปดาห์นี้
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังคงย่ำแย่ เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้จะมีมาตรการลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่า ผู้ติดเชื้อกลับสวนทางกับมาตรการที่วางไว้ โดยในขณะนี้มาตรการที่จะเห็นเด่นชัดที่สุดของทางจังหวัดปัตตานี ก็คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะต้องฉีดให้ได้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ ตามที่นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้มอบหมายให้ทางบุคลากรทางการแพทย์ได้เร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชน
ทำให้จังหวัดปัตตานีได้จัดโครงการปัตตานี ต้องช่วยกัน ร่วมฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยรณรงค์ให้ประชาชนที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โดย Walk in ได้โดยไม่ต้องจ้องล่วงหน้า ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยต้องเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชนแสดงว่า เป็นคนจังหวัดปัตตานี ทำให้ในวันนี้ ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนไฟเซอร์กันเป็นจำนวนมาก โดยมีทางแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลปัตตานีได้ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจนถึงวันที่ 15 ต.ค.นี้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรตามที่กำหนดไว้
@@ตรวจโควิดก่อนเปิดตลาดสดเบตง พบพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อ6 ราย
ส่วนที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเบตง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง ได้ทำการตรวจ Antigen test kit หรือ ATK ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มีแผงขายของในตลาดสด ก่อนที่จะทำการเปิดตลาดสดให้พ่อค้าแม่ค้าเริ่มขายของได้อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ตลาดถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากพบมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อถึง 33 คน โดยทางเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลได้นำเต็นท์มากางตั้งแต่ช่วงเช้า มีพ่อค้าแม่ค้าเกือบ 300 คน มารับบัตรคิวต่อแถวคอยให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจ ซึ่งทุกคนก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง กล่าวว่า ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดสดทุกราย เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ก่อนที่จะทำการเปิดใช้ตลาดสด โดยหากมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำการปิดตลาดต่อไป ซึ่งผลการตรวจพ่อค้าแม่ค้าจำนวนทั้งสิ้น 285 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 6 คน และจะนำผู้ติดเชื้อไปตรวจหาเชื้อยืนยันที่โรงพยาบาลเบตงอีกครั้ง
ทำให้ในวันพรุ่งนี้ตลาดสดสามารถเปิดได้ตามปกติ แต่จะกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าใช้บริการต้องฉีดวัคซีน แล้ว 2 เข็ม อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนวัคซีนแอสตราเซนเนก้า แล้ว 1 เข็ม ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่จะเข้าใช้บริการคลาดสดเทศบาลเมืองเบตงต้องปฏิบัติตามมาตรการมี่เจ้าหน้าที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด
@@ติดเชื้อใหม่รวม 2,495 ราย เสียชีวิต 12 ศพ
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่ผ่าน ศบค. วันที่ 14 ต.ค.64 ระบุว่า จ.ยะลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 785 ราย ยังอยู่ในอันดับ 2 ต่อเนื่องอีกวัน ตามมาด้วย จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 594 ราย ยังคงอยู่อันดับ 3 อีกวัน ส่วน จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 545 ราย จากอันดับ 7 ขยับขึ้นมาอันดับ 4 และ จ.ปัตตานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 468 ราย อยู่ในอันดับ 6 อีกวัน
ขณะที่ตัวเลขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,495 ราย และเสียชีวิตรวม 18 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 785 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 32,095 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,366 ราย รักษาหายแล้ว 24,505 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 224 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 552 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 11,264 ราย, อ.กรงปินัง 2,136 ราย, อ.เบตง 2,576 ราย, อ.รามัน 4,467 ราย, อ.บันนังสตา 5,279 ราย, อ.กาบัง 874 ราย, อ.ธารโต 1,943 ราย และ อ.ยะหา 3,556 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 7,366 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 193 ราย, โรงพยาบาลเบตง 139 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 515 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 155 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 883 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 96 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 429 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 344 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 171 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 90 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 241 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 36 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 24 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 1,732 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 815 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,503 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 594 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 38,069 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 38,046 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,081 ราย รักษาหายแล้ว 31,823 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 165 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,805 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 9,764 ราย, อ.เมืองสงขลา 5,382 ราย, อ.สิงหนคร 4,022 ราย, อ.จะนะ 3,821 ราย, อ.สะเดา 3,058 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,399 ราย, อ.เทพา 2,148 ราย, อ.รัตภูมิ 1,961 ราย, อ.บางกล่ำ 803 ราย, อ.นาทวี 783 ราย, อ.ระโนด 629 ราย, สทิงพระ 602 ราย, อ.นาหม่อม 417 ราย, ควนเนียง 399 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 227 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 52 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,143 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 436 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 553 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 193 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย, อ.ยี่งอ 2 ราย, อ.จะแนะ 13 ราย, อ.แว้ง 24 ราย, อ.สุคิริน 10 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.บาเจาะ 1 ราย, อ.ระแงะ 52 ราย, อ.ศรีสาคร 28 ราย, อ.เจาะไอร้อง 82 ราย, อ.สุไหงปาดี 119 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 27 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 30,902 ราย รักษาหายสะสม 26,565 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 331 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 6,540 ราย, อ.ระแงะ 3,254 ราย, อ.รือเสาะ 1,685 ราย, อ.บาเจาะ 2,361 ราย, อ.จะแนะ 1,247 ราย, อ.ยี่งอ 2,252 ราย, อ.ตากใบ 2,381 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,320 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,724 ราย, อ.ศรีสาคร 1,674 ราย, อ.แว้ง 1,890 ราย, อ.สุคิริน 868 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,706 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 563 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 28,785 ราย รักษาหายแล้ว 17,610 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 341 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 191 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 398 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,480 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 575 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 47 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 170 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 123 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 3 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 27 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 239 ราย และ Home Isolation 343 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 6,381 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,360 ราย, อ.หนองจิก 514 ราย, อ.โคกโพธิ์ 335 ราย, อ.ยะหริ่ง 522 ราย, อ.สายบุรี 858 ราย, อ.ไม้แก่น 269 ราย, อ.แม่ลาน 69 ราย, อ.ยะรัง 496 ราย, อ.ปะนาเระ 247 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 420 ราย, อ.มายอ 748 ราย และ อ.กะพ้อ 260 ราย