กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดระบาด 4 จังหวัดชายแดนใต้ ด้าน “อนุทิน” เตรียมลงพื้นที่คุยผู้นำศาสนาดึงสร้างความเข้าใจประชาชนให้มารับวัคซีน ส่วนยะลาเดินหน้าตรวจเชิงรุก ATK แรงงานไทย ต่างด้าว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประจำวันจันทร์ที่ 11 ต.ค.64 พบว่า จ.ยะลา ยังมีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศต่อเนื่องอีกวัน มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 719 ราย
ตามมาด้วย จ.ปัตตานี ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้นเป็น 547 ราย จากอันดับ 4 ขยับขึ้นมาอันดับ 3 ส่วน จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 505 ราย จากอันดับ 3 ลงมาอยู่อันดับ 5 และ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 414 ราย จากอันดับ 5 ลงมาอยู่อันดับ 8
@@ เดลต้าครองชายแดนใต้ - พบเบต้าเพิ่ม 2 จ้งหวัด
ด้านศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากข้อมูลการสุ่มตรวจจำนวนตัวอย่าง 500-600 ตัวอย่างในไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่สายพันธุ์อัลฟ่าพบเล็กน้อย ส่วนภาคใต้พบสายพันธุ์เบต้าเพิ่มมา ทำให้ภาพรวมสายพันธุ์เดลต้าครองเมืองร้อยละ 97.5 ส่วนร้อยละ 2 เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า และร้อยละ 0.3 เป็นสายพันธุ์เบต้า ซึ่งพบในภาคใต้ สัปดาห์ผ่านมา จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบต้า จังหวัดละ 1 ราย
โดยในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สายพันธุ์หลักยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจำนวนการตรวจอาจจะน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน เบื้องต้นได้ประสานทางจังหวัดร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา เก็บตัวอย่างในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ (สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ) เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้จำนวนแต่ละตัวอย่างเพิ่มขึ้น
จากนั้นก็จะนำไปตรวจดูสัดส่วนของสายพันธุ์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้าหรือมีสายพันธุ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ รวมถึงแต่ละจังหวัดด้วยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้คาดการณ์สถานการณ์ได้ถูก หากเป็นสายพันธุ์เบต้าเพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์มิว หรือสายพันธุ์อื่นในต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่ตรวจพบในประเทศไทย
@@ “อนุทิน” เตรียมลงพื้นที่ติดตามการระบาด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ช่วงปลายสัปดาห์นี้ตนจะเดินทางลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ และจะมีการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เพื่อขอให้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรค เพราะหากติดเชื้อเยอะแล้วป่วยหนัก สถานพยาบาลอาจไม่เพียงพอ
ยืนยันว่าระบบสาธารณสุข เตียง สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความพร้อม นอกจากนี้ ยังมีระบบเขตสุขภาพที่ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ซึ่งภาคใต้เป็นเขตสุขภาพที่ 12 ก็จะมีสงขลา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ที่มีโรงพยาบาลศูนย์รองรับ เราจึงต้องลงไปหาวิธีลดการติดเชื้อให้มากที่สุด ไม่ให้ภาคใต้ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกินวันละ 2,300 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศก็จะต่ำกว่าหลักหมื่นรายแล้ว ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคก็จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ 500,000 โดส ลงพื้นที่ด้วย
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีการประสานในแต่ละตำบล เพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ เนื่องจากพี่น้องชาวใต้อยู่กับเป็นครอบครัวใหญ่มั่นคง ซึ่งถ้าทำได้ การใช้ชีวิตก็จะได้อยู่ด้วยกันในชุมชน ซึ่งก็จะเหมือนกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการรักษาใน “ศูนย์พักคอย” หรือการแยกกักที่บ้าน
@@ ยะลาตรวจเชิงรุก ATK แรงงานไทย-ต่างด้าว
วันเดียวกัน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา ประกอบด้วย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา, จัดหางานจังหวัดยะลา, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดยะลา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา เดินหน้าปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ตามคำสั่งการของ นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบการ โดยได้รับความร่วมมือในการดำเนินการคัดกรองลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ ด้วยชุดตรวจ ATK
โดยได้ดำเนินการตรวจกลุ่มลูกจ้างพนักงานของ บริษัท ยะลาเซเว่น จำกัด จำนวน 75 ราย และ ลูกจ้างของ บริษัทบำรุงโยธากิจ จำกัด อ.เมืองยะลา ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวจำนวน 75 ราย ผลไม่พบผู้ติดเชื้อ
เช่นเดียวกับที่ อ.เบตง จ.ยะลา ทาง ศปก.อ.เบตง ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและสาธารณสุขอำเภอเบตง เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มก้อนคลัสเตอร์แรงงาน และลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ในพื้นที่ ต.ตาเนาะแมเราะ และ ต.ธารน้ำทิพย์ ประกอบด้วย บริษัท เอเอ รับเบอร์ จำกัด (ต.ตาเนาะแมเราะ) ,บริษัท เอเอ ลัมเบอร์ จำกัด (ต.ตาเนาะแมเราะ) และกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ (ต.ธารน้ำทิพย์)
@@ ป่วยติดเชื้อใหม่รวม 2,071 ราย เสียชีวิต 12 ศพ
ขณะที่รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 11 ต.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,071 ราย และเสียชีวิตรวม 12 ราย แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 719 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 30,167 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 7,144 ราย รักษาหายแล้ว 22,808 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 215 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 520 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 10,568 ราย, อ.กรงปินัง 2,085 ราย, อ.เบตง 2,321 ราย, อ.รามัน 4,131 ราย, อ.บันนังสตา 5,018 ราย, อ.กาบัง 860 ราย, อ.ธารโต 1,862 ราย และ อ.ยะหา 3,322 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 7,144 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 227 ราย, โรงพยาบาลเบตง 174 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 514 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 151 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 878 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 207 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 423 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 311 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 112 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 83 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 216 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 24 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 1,362 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 1,097 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,365 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 423 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 27,115 ราย รักษาหายแล้ว 16,936 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 331 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 192 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 331 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,465 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 577 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 55 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 180 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 147 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 10 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 60 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 252 ราย และ Home Isolation 154 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 5,968 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,300 ราย, อ.หนองจิก 437 ราย, อ.โคกโพธิ์ 247 ราย, อ.ยะหริ่ง 505 ราย, อ.สายบุรี 966 ราย, อ.ไม้แก่น 221 ราย, อ.แม่ลาน 65 ราย, อ.ยะรัง 424 ราย, อ.ปะนาเระ 158 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 436 ราย, อ.มายอ 668 ราย และ อ.กะพ้อ 317 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 515 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 36,533 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 36,510 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,366 ราย รักษาหายแล้ว 30,006 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 161 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,200 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 9,382 ราย, อ.เมืองสงขลา 5,250 ราย, อ.สิงหนคร 3,938 ราย, อ.จะนะ 3,609 ราย, อ.สะเดา 2,986 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,271 ราย, อ.เทพา 2,043 ราย, อ.รัตภูมิ 1,827 ราย, อ.บางกล่ำ 741 ราย, อ.นาทวี 716 ราย, สทิงพระ 590 ราย, อ.ระโนด 581 ราย, อ.นาหม่อม 405 ราย, ควนเนียง 337 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 222 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 52 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,143 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 417 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 414 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 118 ราย, อ.ตากใบ 32 ราย, อ.จะแนะ 12 ราย, อ.แว้ง 36 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.บาเจาะ 44 ราย, อ.ระแงะ 50 ราย, อ.ศรีสาคร 52 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 36 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 30 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 29,380 ราย รักษาหายสะสม 25,333 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 322 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 6,122 ราย, อ.ระแงะ 3,128 ราย, อ.รือเสาะ 1,671 ราย, อ.บาเจาะ 2,223 ราย, อ.จะแนะ 1,186 ราย, อ.ยี่งอ 2,197 ราย, อ.ตากใบ 2,255 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,246 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,527 ราย, อ.ศรีสาคร 1,602 ราย, อ.แว้ง 1,860 ราย, อ.สุคิริน 842 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,521 ราย