ปลัด สธ.ห่วงโควิดชายแดนใต้ หวั่นคุมไม่อยู่ หลังพบ 3 สายพันธุ์ครับ ทั้งอัลฟ่า เบต้า เดลต้า สั่งเข้มมาตรการคุมแพร่ระบาด พ่อเมืองยะลารับลูก ลุยใช้ ATK ตรวจเชิงรุก คาดหลัง 14 ต.ค.ตัวเลขติดเชื้อลดลง
วันพฤหัสบดีที่ 7 ต.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้วันนี้ จ.ปัตตานี จะหลุดจากชาร์ต 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ แต่ จ.ยะลา สงขลา และนราธิวาส ก็ยังอยู่ในท็อปเท็นเช่นเดิม
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่ผ่านศูนย์ข้อมูล COVID-19 ประจำวันที่ 7 ต.ค. พบว่า จ.ยะลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 740 ราย จากอันดับที่ 6 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 จ.สงขลา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดลงมาอยู่ที่ 596 จากอันดับ 2 ลงมาเป็นอันดับ 5 ขณะที่ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดลงมาอยู่ที่ 332 ราย จากอันดับ 5 ลงมาเป็นอันดับ 8
ขณะที่รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 7 ต.ค.64 มีรายละเอียดดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 741 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 27,241 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 6,248 ราย รักษาหายแล้ว 20,788 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 205 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 601 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 9,478 ราย, อ.กรงปินัง 1,933 ราย, อ.เบตง 1,980 ราย, อ.รามัน 3,714 ราย, อ.บันนังสตา 4,675 ราย, อ.กาบัง 767 ราย, อ.ธารโต 1,765 ราย และ อ.ยะหา 2,929 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,248 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 223 ราย, โรงพยาบาลเบตง 170 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 539 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 138 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 826 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 253 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 437 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 348 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 81 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 88 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 207 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 22 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 1,034 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 555 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 1,327 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 596 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 34,479 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 34,456 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 6,433 ราย รักษาหายแล้ว 27,888 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 158 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,634 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 9,033 ราย, อ.เมืองสงขลา 4,975 ราย, อ.สิงหนคร 3,823 ราย, อ.จะนะ 3,280 ราย, อ.สะเดา 2,789 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2,098 ราย, อ.เทพา 1,887 ราย, อ.รัตภูมิ 1,637 ราย, อ.บางกล่ำ 688 ราย, อ.นาทวี 652 ราย, สทิงพระ 582 ราย, อ.ระโนด 570 ราย, อ.นาหม่อม 399 ราย, ควนเนียง 297 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 208 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 52 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,105 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 381 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 342 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 147 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย, อ.ยี่งอ 1 ราย, อ.จะแนะ 7 ราย, อ.แว้ง 50 ราย, อ.สุคิริน 6 ราย, อ.บาเจาะ 49 ราย, อ.ระแงะ 7 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.เจาะไอร้อง 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 8 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 58 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 27,424 ราย รักษาหายสะสม 23,588 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 7 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 304 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 5,586 ราย, อ.ระแงะ 2,741 ราย, อ.รือเสาะ 1,643 ราย, อ.บาเจาะ 2,042 ราย, อ.จะแนะ 1,133 ราย, อ.ยี่งอ 2,098 ราย, อ.ตากใบ 2,218 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2,159 ราย, อ.สุไหงปาดี 2,334 ราย, อ.ศรีสาคร 1,445 ราย, อ.แว้ง 1,768 ราย, อ.สุคิริน 821 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,436 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 414 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 25,069 ราย รักษาหายแล้ว 16,123 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 314 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 152 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 340 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,352 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 542 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 45 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 187 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 139 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 12 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 62 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 209 ราย และ Home Isolation 173 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 5,264 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,297 ราย, อ.หนองจิก 341 ราย, อ.โคกโพธิ์ 210 ราย, อ.ยะหริ่ง 544 ราย, อ.สายบุรี 812 ราย, อ.ไม้แก่น 137 ราย, อ.แม่ลาน 54 ราย, อ.ยะรัง 441 ราย, อ.ปะนาเระ 136 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 331 ราย, อ.มายอ 529 ราย และ อ.กะพ้อ 217 ราย
@@ สธ.ห่วงสถานการณ์โควิดภาคใต้ หวั่นคุมไม่อยู่
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิค-19 ปัจจุบันพบว่า ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มลดลง ค่อนข้างที่จะปลอดภัยทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงรวมถึงการฉีดวัคซีนที่ฉีดครอบคลุมประชากรในพื้นที่ ส่วนต่างจังหวัดอาจจะมีเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่กำลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องใช้แนวทางมาตรการในการควบคุมโรค ทั้งการฉีดวัคซีน และความร่วมมือต่างๆ เพื่อลดการติดเชื้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น หากไม่ทำมาตรการใดๆเลยและปล่อยไว้ อาจจะทำให้สถานการณ์การระบาดสูงขึ้นเหมือนในกรุงเทพฯในช่วงที่ผ่านมา
ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี พบว่า มี 3สายพันธุ์ที่แพร่ระบาด คือ สายพันธุ์ เบต้า เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน สายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายเร็ว ทำให้เกิดภาวะอันตรายในความรุนแรงของโรคเมื่อติดเชื้อ ดังนั้นมาตรการสำคัญในภาคประชาชน คือ มาตรการ universal prevention คือการคุมเข้มตัวเองขั้นสูงสุด
เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การระดมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งยอมรับในช่วงที่ผ่านมาวัคซีนอาจจะน้อย แต่ขณะนี้ก็จะมีการแจ้งจัดสรรวัคซีนเข้าไปในพื้นที่เพิ่มเติม ตลอดจนการรักษาพยาบาลให้ทั่วถึง ส่วนจำนวนเตียงในการรักษายังคงมีเพียงพอรองรับได้ ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ
ปลัด สธ. บอกว่า สัปดาห์หน้าจะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งคาดว่า จะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดไม่ให้สูงกว่านี้
ส่วนกรณีที่อาจจะมีประชาชนบางส่วนในพื้นที่ภาคใต้ไม่เข้ารับวัคซีนโควิด ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้หารือกับผู้นำทางศาสนาหรือตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อเข้ารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ภาคใต้กว่าแสนโดส ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนาก้า และไฟเซอร์
@@ ผู้ว่าฯยะลา ลุยตรวจ ATK เชิงรุก คาดหลัง 14 ต.ค.ดีขึ้น
ด้าน นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และ พ.ต.อ.สกนธ์ อนนท์รัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในพื้นที่ จ.ยะลา
นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า สถานการณ์ของจังหวัดยะลา มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนโดยเฉพาะในครัวเรือน เกิดจากการไม่ระวังตัวของประชาชนเนื่องจากได้รับการวัคซีนแล้วจึงคิดว่าไม่เป็นอะไร ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหานอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ที่ผ่านมาจะใช้การตรวจแบบ RT-PCR สำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้กลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจ นำเชื้อกลับไปแพร่กระจายในครอบครัว และชุมชนได้
ขณะเดียวกันการตรวจด้วยชุด ATK จะสามารถทราบผลได้ทันที และสามารถนำผู้ที่มีตรวจติดเชื้อ เข้ารับการกักตัวได้ทันทีในศูนย์สังเกตอาการ หรือ SQ ที่ทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ ก็จะเน้นการใช้การตรวจด้วยชุด ATK เพื่อที่จะตัดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากการตรวจเชิงรุกและจะเป็นเช่นนี้อีกประมาณ 1 สัปดาห์ หรือหลังวันที่ 14 ต.ค.นี้ ตนมั่นใจว่า จำนวนการติดเชื้อจะลดลง
ขณะที่ นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้จะพบผู้ป่วยมากที่ อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา อ.รามัน และ อ.ยะหา ตามลำดับ ทั้งนี้สถานการณ์ผู้ป่วยใน จ.ยะลา ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นมา พบผู้ป่วย 1 เดือนไม่ถึง 5 พันราย หลังจากนั้นเดือน ก.ย. ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 ราย คาดการณ์ว่า สถานการณ์ปัจจุบันกับมาตรการที่ดำเนินการอยู่ในเดือน ต.ค. อาจมีผู้ป่วยถึง 2 หมื่นราย คือ วันละประมาณ 700 คน ดังนั้นที่ต้องเตรียมคือเตียงรองรับผู้ป่วยที่จะต้องทำ CI ให้ได้ 4 พันเตียงรวมกับเตียงที่โรงพยาบาลมีอยู่อีกประมาณ 3,600 เตียง ก็คิดว่าจะสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
@@ ปัตตานี ยะลา ทยอยฉีดวัคซีนเข็มแรกให้นักเรียน
ที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด -19 รพ.ยะลา ภายในอาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นักเรียนที่มีอายุ 12-18 ปี ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด -19 เข็มแรกอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ได้มีนักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิและโรงเรียนพัฒนาวิทยายะลา กว่า 3,000 คน เข้ารับการฉีด เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้โรงเรียนที่มีความพร้อมกลับมาเปิดเรียน On Site ได้มากที่สุด เพื่อลดความเครียดและข้อจำกัดของนักเรียนในการเรียนออนไลน์
ส่วนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ทางสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้ทำแผนการจัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเป็นวันแรก โดยมีเด็กนักเรียนของโรงเรียนจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมือง จ.ปัตตานี กว่า 2,000 คน และยังมีอีกหลายอำเภอที่ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนในภาคการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ประจำปี 2564 ที่จะถึงนี้
@@ เบตงจัดบิ๊กคลีนนิ่งตลาดสดป้องกันโควิด
นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดสด ร่วมกันล้างตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง Big Cleaning Day พร้อมเฝ้าระวังและกำกับติดตามมาตรการการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล และการตรวจด้านชีวภาพด้วยชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (S I-2) ในตลาดสด ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดสด จะต้องเข้ารับการตรวจ Antigen test kit หรือ ATK ในวันที่ 8 ต.ค.64 เวลา 08.30 - 11.30 น. ณ อาคารตลาดสด ชั้น 2 หากผู้ประกอบการร้านค้าท่านใดไม่เข้ารับการตรวจ ATK ในวันดังกล่าว ทางเทศบาลเมืองเบตงจะพิจารณาไม่อนุญาตให้เข้ามาขายสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงและจะให้เปิดขายตามปกติในวันที่ 11 ต.ค.64 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย