“ยุทธการฮูแตยือลอ” ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 วัน ได้กลายเป็นประเด็นไอโอสร้างกระแสของกลุ่มต่อต้านรัฐ และย้อนให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โจมตีฐานปฏิบัติการบ้านยือลอ ที่ก่อความสูญเสียให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 18 ปีไฟใต้
กลุ่มแนวร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ได้พากันแชร์คลิปที่ที่อ้างว่าถูกส่งจากกลุ่มติดอาวุธที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปิดล้อมในป่าเสม็ด บ้านฮูแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.64 ที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน (4 ต.ค.) ก็ยังไม่จบภารกิจ
คลิปนี้มองไม่เห็นภาพ มีแต่เสียงปืน และเสียงตะโกนโหวกเหวกเป็นภาษามลายู คล้ายกับเสียงของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ยิงปะทะ มีรายงานว่าแนวร่วมหลายคนที่ได้ฟังคลิปนี้ ถึงกับร่ำไห้ เพราะสงสารกลุ่มคนที่ถูกปิดล้อม เนื่องจากช่วงท้ายคลิปมีเสียงพูดเป็นภาษามลายูเพื่อลาตาย ยอมตาย แต่ไม่ยอมมอบตัว
คลิปถูกส่งต่อกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ชายแดนใต้ คล้ายเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ รูปแบบหนึ่งของขบวนการก่อความไม่สงบ เพื่อปลุกใจแนวร่วมให้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป
@@ ทหารโต้คลิปปลอม เหตุพื้นที่ไม่มีสัญญาณ
แต่ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า คลิปที่อ้างว่าเป็นเสียงยิงปะทะ ที่แชร์ให้สมาชิกกลุ่มแนวร่วม ไม่น่าจะอัพโหลดและส่งออกจากพื้นที่ได้ เพราะแทบไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ขนาดจะพิมพ์ไลน์ส่งหากันยังใช้เวลานานมาก จึงไม่น่าจะส่งคลิปความยาวหลายนาทีได้จริง
“จุดเกิดเหตุครั้งนี้ถือเป็นแหล่งพักพิงหลบซ่อนตัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จากการ ตรวจสอบจากมุมสูง พบการขุดหลุม มีที่พัก อาจมีเครื่องมือจับปลา อุปกรณ์ยังชีพ เป็นสถานที่วางแผนที่จะไปก่อเหตุ พวกเขาเข้ามาอยู่ตรงนี้น่าจะนานพอสมควร ซึ่งจากข้อมูลที่พบ ผู้ก่อเหตุรุนแรงมักใช้สถานที่อย่างนี้ อยู่ในจุดที่ค่อนข้างห่างไกลหมู่บ้าน ห่างจากบ้านชาวบ้าน เป็นสวนปาล์มร้าง เป็นป่าพรุ ป่าเสม็ด ปกติไม่มีใครเข้าไป อยู่ตรงนั้นจะเงียบสงบ และสัญญาณโทรศัพท์แทบไม่มีเลย เหมาะเป็นแหล่งหลบซ่อน พักพิง” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าว
@@ แห่ศพผู้สูญเสียจากยุทธการฮูแตยือลอ
“ยุทธการฮูแตยือลอ” ผ่านมาแล้วกว่า 6 วัน มีรายงานกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิตราวๆ 4-6 ราย เกือบทั้งหมดมีหมายจับในคดีความมั่นคง
ครอบครัวผู้เสียชีวิตบางรายรับศพไปประกอบพิธีฝังตามหลักศาสนาแล้ว และน่าจะทุกศพที่ได้รับการปฏิบัติในฐานะ “นักรบ” คือ ไม่อาบน้ำศพ ซึ่งเป็นความเชื่อของกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางต่อต้านรัฐ และผู้เสียชีวิตมักจะสั่งเสียครอบครัวเอาไว้
ครอบครัว ญาติมิตร และวัยรุ่นในพื้นที่ไปร่วมพิธีแห่ศพ พร้อมเสียงตะโกนเชิดชูพระเจ้าอย่างเข้มแข็งดุดัน สะท้อนว่ากระแสต่อต้านรัฐในกลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แม้ว่าสถานการณ์ไฟใต้จะยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 18 ปีเต็มแล้วก็ตาม และรัฐบาลทุกชุดทุ่มเทงบประมาณสำหรับการปัญหาไปแล้วมากกว่า 3 แสนล้านบาท
@@ เพื่อนร่วมรุ่น “มะรอโซ จันทรวดี”
4 ศพแรกที่ยืนยันตัวตนเรียบร้อย ทางครอบครัวได้นำไปประกอบพิธีฝั่งที่บ้านดูกู ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่ นายมะรอโซ จันทรวดี นำกลุ่มติดอาวุธเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ เมื่อเช้ามืดวันพุธที่ 13 ก.พ.2556 แต่เจ้าหน้าที่รู้ตัวก่อน จึงมีการยิงตอบโต้จนฝ่ายผู้บุกรุกเสียชีวิตถึง 16 ศพ รวมทั้งนายมะรอโซด้วย
มะรอโซ คือแกนนำผู้ก่อความไม่สงบเบอร์ 1 ของพื้นที่บาเจาะ ประวัติจากแฟ้มข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระบุว่าเคยร่วมก่อเหตุอุกฉกรรจ์มามากมาย ก่อนจะสิ้นชื่อในปฏิบัติการที่บ้านยือลอ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
พื้นที่เกิดเหตุปิดล้อมยิงปะทะล่าสุด บ้านฮูแตยือลอ อยู่ใน ต.บาเระใต้ เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับ “บ้านยือลอ” ต.บาเระเหนือ ใน อ.บาเจาะ เช่นเดียวกัน
พื้นที่บ้านยือลอ กับบ้านฮูแตยือลอ เชื่อมกันด้วยป่าเสม็ด เนื้อที่กว้างขวางถึง 90 ไร่ ภายในป่ามีฐานพักของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง จึงน่าเชื่อว่าเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวและวางแผนเพื่อก่อเหตุใหญ่ โดยแกนนำที่กบดานอยู่ในป่าเสม็ด และยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่มานานถึง 6 วันนี้ เป็นแกนนำรุ่นเดียวกับที่ก่อเหตุเมื่อปี 2556 โดยกลุ่มนี้คือกลุ่มที่รอดมาได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมาจบชีวิต
“สองหมู่บ้าน สองเหตุการณ์ ถือว่าอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จุดเกิดเหตุใกล้กัน ซึ่งถ้าเทียบอายุ ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชุดนี้ กับมะรอโซ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ ก็ถือว่ารุ่นเดียวกัน และคาดว่าชุดนี้น่าจะรอดชีวิตจากการปฏิบัติการกับมะรอโซในครั้งนั้น แต่ยังเคลื่อนไหวในพื้นที่จนถึงวันนี้” เป็นข้อมูลยืนยันจากโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
@@ ปล่อยข่าวลวง สร้างสถานการณ์ หวังช่วยคนในป่า
ตลอดระยะเวลาที่มีการปะทะใน “ยุทธการฮูแตยือลอ” มีการปล่อยข่าว และสร้างสถานการณ์ความรุนแรงอื่นๆ อีกมากมาย
เช่น มีการโพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย อ้างว่าทหารยื้อ ไม่ยอมให้นำศพออกจากจุดเกิดเหตุเพื่อให้ญาติทำพิธี
ประเด็นนี้ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ชี้แจงว่า จนถึงวันที่ 4 ต.ค.ยังมีการยิงออกมาจากกลุ่มติดอาวุธในป่า ทำให้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าเคลียร์พื้นที่ได้ เพราะจุดที่กลุ่มคนร้ายอยู่เป็นป่าทึบ พื้นที่กว้าง 90 ไร่ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย
“เราไม่ได้ยื้อ แต่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจริงๆ” พ.อ.เกียรติศักดิ์ ย้ำ
ตลอด 6-7 วันของการปิดล้อม มีการก่อเหตุในพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นนราธิวาส อีก 6-7 เหตุการณ์ มีกำลังพลเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 10 นาย ชาวบ้านบาดเจ็บอีก 3 คน ทั้งนี้ไม่รวมความสูญเสียจากเหตุปะทะ
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงแบนความสนใจของเจ้าหน้าที่
“เขาลอบวางระเบิดเพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะช่วยคนที่เหลือในป่า ในขณะเดียวกันทางโซเซียลฯก็ทำเป็นกรรมวิธีในการบิดเบียน โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดม ให้พี่น้องประชาชนเห็นว่ารัฐเป็นฝ่ายผิด เป็นผู้ที่ไปยิงเขา ในความเป็นจริงต้องมองมุมกลับ ในทางกลับกันในการปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตถึง 2 นาย ทำไมไม่เปิดบัญชีรับบริจาคมาช่วยเหลือฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง” พ.อ.เกียรติศักดิ์ ตั้งคำถาม
@@ ปิดล้อมปุ๊บ ป่วนปั๊บ - ชูนักรบรุ่น 3 บีอาร์เอ็น
แต่ข้อมูลอีกด้านจากกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นแนวร่วมในพื้นที่นราธิวาส ตรงกันข้ามกับข้อมูลฝั่งรัฐ เพราะเขาอ้างว่า หลายวันที่ผ่านมาสามารถติดต่อคนที่อยู่ในป่าได้ แต่เมื่อการปิดล้อมยืดเยื้อ แบตเตอรี่ก็หมด และวันหลังๆ น่าจะทยอยเสียชีวิต
“ตอนนี้เช็คคนข้างในไม่ได้เลย เพราะมีคนหนึ่งที่ติดต่ออยู่ก่อน ตอนนี้ติดต่อไม่ได้ ก่อนจะติดต่อไม่ได้เขาบอกว่าแบตฯจะหมด อาหารก็หมดแล้ว หลังจากนั้นติดต่อไม่ได้ น่าจะแบตฯหมด ถ้าทหารบอกว่าตาย ก็น่าจะตายจริง ถ้าตายหมดก็เอาศพให้ครอบครัว ทุกคนยอมรับได้ เพราะมันคือการตายชาฮีด (ตายอย่างนักรบ ยอมสละชีวิต) ที่พวกเขาไฝ่หามาตลอด ทุกคนก็ยอมรับ เพราะถ้ามีการปะทะต้องมีความสูญเสียแน่นอน ทหารกระสุนเยอะ กำลังเยอะกว่า”
เยาวชนรายนี้ ยังเล่าถึงนโยบายของกลุ่มขบวนการที่สั่งให้ก่อเหตุปั่นป่วนเพื่อเบี่ยงเบนเป้าหมายทันทีเมื่อมีการปิดล้อม เพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกปิดล้อม
“ถ้ามีการปิดล้อม ชุดกำลังเสริมต้องสร้างความปั่นป่วนเพื่อแบนเป้าหมายให้ได้ เพื่อช่วยคนข้างใน มันจะทำให้คนอื่นที่เหลืออาจจะรอด เพราะทุกคนรู้ว่าต้องปิดล้อมถี่แน่นอน จึงเตรียมแผนอยู่ตลอด แต่สุดท้ายคนข้างในก็หนีไม่พ้น เพราะถูกปิดล้อมทุกทาง พวกเขาส่งคลิปมาให้สมาชิกก่อนตายด้วย รู้สึกสงสาร บางคนดูแล้วร้องไห้ นับถือใจพวกเขา สู้จนถึงที่สุดจริงๆ ถือเป็นนักรบรุ่นที่ 3 ของบีอาร์เอ็นยุคนี้” เยาวชนแนวร่วมจาก จ.นราธิวาส กล่าว
@@ วอนรัฐดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย
นางแยนะ สาแลแม แกนนำผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 กล่าวว่า ในกลุ่มผู้เสียชีวิตจากยุทธการฮูแตยือลอ มี 1 คนที่ภาคประชาสังคมพยายามช่วยเหลือจนถอนหมายจับได้
“คนเหล่านี้อยู่บ้านไม่ได้ เพราะว่าทหารชอบไปที่บ้าน ไปกดดันจนเขาไม่กล้าอยู่บ้าน พอมีเหตุอะไรก็มาลงที่เขา ก็เลยทำให้เขาต้องหนี ชีวิตพวกเขาน่าสงสาร เพราะเจ้าหน้าที่มีความพยายามตลอดที่จะทำให้เขาเป็นคนผิด ตอนนี้เขาตายแล้ว ก็ควรให้ทุนการศึกษากับลูกเขา อย่างน้อยเป็นการดูแลคนข้างหลังให้มีชีวิตดีขึ้น” ก๊ะแยนะ กล่าว