ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด กรณี “โจ้คลุมถุงฆ่า” กลายเป็นตัวเร่งอันสำคัญที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เมื่อวันที่ 16 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ก่อนปิดสมัยประชุมเพียงไม่กี่วัน
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเสนอเข้าสภาถึง 4 ร่าง และสภารับหลักการวาระแรกทุกร่าง ประกอบด้วย ร่างของกระทรวงยุติธรรม, ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน, ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก
และจุดนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายยังกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.จะถูก “แปลงสาร” ในวาระ 2 ชั้นกรรมาธิการฯหรือไม่ เพราะกฎหมายดีๆ หลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายปฏิรูปตำรวจ
@@ ห่วงนิยามไม่ชัด - จำกัดวงเหยื่อ - ป้อง”นาย”
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้สูญเสีย” จากเหตุการณ์อุ้มหายสามีเมื่อปี 47 มองว่า ร่างของรัฐบาลที่ถูกใช้เป็นร่างหลัก เนื้อหายังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
“มีหลายประเด็นที่ยังน่ากังวล เช่น เรื่องของนิยามที่ไม่ครบถ้วน ทั้งนิยามการซ้อมทรมาน ทั้งการจำกัดคำว่าเหยื่อ ไม่ครอบคลุมกรณีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องแทนสามีที่ถูกอุ้มหายหรือถูกทรมาน”
“ มีเรื่องของอายุความ ซึ่งตามหลักการแล้วอนุสัญญาระหว่างประเทศต้องไม่มีอายุความ แต่ร่างของรัฐบาลก็เขียนมีกำหนดอายุความเอาไว้ รวมถึงการรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่ต้องร่วมรับผิดด้วย แต่ร่างของรัฐบาลก็ยังเขียนมาในลักษณะให้กังวลได้ว่าผู้บังคับบัญชาไม่ต้องมารับผิดด้วย กังวลเรื่องโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการติดตามหาตัวผู้สูญหาย ร่างของรัฐบาลส่วนมากจะเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ ซึ่งอนุสัญญาของสหประชาชาติ ในเรื่องขององค์ประกอบจะให้มีผู้แทนของญาติผู้สูญหายเข้าไปด้วย”
อังคณา บอกว่า ในความเห็นส่วนตัว ร่างที่สมบูรณ์มากที่สุดเป็นร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ แต่กลับไม่ได้ถูกใช้เป็นร่างหลัก
“บอกตรงๆ ว่ากฎหมายที่จะออกมา ถ้าไม่สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ มันก็จะไม่มีประสิทธิผลในการที่จะคุ้มครองบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ว่ากฎหมายออกไปแล้วมีข้อจำกัด มีข้อยกเว้น แบบนั้นก็จะไม่มีประโยชน์ เช่น ยกเว้นในสถานการณ์ที่ใช้กฎหมายพิเศษ หรือยกเว้นโดยอ้างเรื่องความมั่นคง ถ้ามีแบบนี้มันจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญา กฎหมายที่ออกมาไม่ศักดิ์สิทธิ์ ได้ชื่อแค่ว่าออก มันจะไม่ได้มีผลในการคุ้มครองสิทธิ์ อย่างที่เน้นย้ำมาตลอด กฎหมายที่ออกมาจะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน”
@@ “ดร.น้ำแท้” ย้ำต้องไม่แพ้ทาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มครอง จนท.
เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีวงเสวนาหัวข้อ “ชำแหละร่างกฎหมายป้องกันอุ้มฆ่า ทำทารุณ ฉบับรัฐ คุ้มครองประชาชนไม่ได้” จัดโดย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
ตอนหนึ่งของเวที ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอกลางวงเสวนาว่า ขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องในระหว่างการจับกุม และให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์ จะต้องแจ้งเรื่องการจับให้อัยการทราบทันที และอัยการก็ต้องไปปฏิบัติตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) มาตรา 90 ไปตรวจสอบการจับ ว่ามีการบังคับ มีการซ้อมทรมานและมีการจับกุมโดยไม่ชอบหรือไม่ และผู้ที่สอบสวนต้องเป็นไปตามอนุสัญญาฯ และคดีลักษณะนี้ต้องไม่มีการขาดอายุความ
“ที่สำคัญบรรดาข้อยกเว้นความรับผิดชอบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องไม่ให้ใช้บังคับในกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าอุ้มหาย เพื่อไม่ให้กฎหมายใหม่ไปแพ้ทาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าไม่มีการเขียนล็อกประเด็นนี้ไว้ ขอให้คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเลยดีกว่า” ดร.น้ำแท้ กล่าว
@@ “วิรุตม์” ชี้ อุ้มหายคือ “ฆาตกรรมอำพราง” ต้องมีอำนาจรัฐถึงทำได้
อีกตอนหนึ่งของวงเสวนา พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) กล่าวว่า น่าเสียใจที่ร่างหลักเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหายได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่มีอายุความ, การให้อัยการเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดี, องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.ตร. ร่วมอยู่, รวมทั้งคำนิยามเรื่องการทรมานที่รวมถึงการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะมีโทษทางอาญาด้วย
“เรื่องสำคัญเหล่านี้ ไม่ได้ถูกเขียนเข้าไป หรือไม่ก็ก็ถูกตัดออกหมด หากร่างรัฐบาลผ่านไปตามนั้นจริง คิดว่าไม่มีเสียยังจะดีกว่า”
“ต้องเข้าใจว่าเรื่องของการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย แท้จริงก็คือ ‘การฆาตกรรมอำพราง’ ประชาชนทั่วไปทำไม่ได้แน่นอน ต้องมีอำนาจรัฐและกระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐผ่านระดับนโยบาย แม้กระทั่งด้วยการสั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจของผู้นำรัฐบาล การให้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน จึงไม่มีทางนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้“ พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ
@@ สิ้นหวังตั้งหัวหน้าหน่วยผู้ต้องสงสัยเป็นกรรมการ
เลขาธิการ สปยธ. ย้ำถึงโครงสร้างคณะกรรมการติดตามหาตัวผู้สูญหาย ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง หนำซ้ำกลับไปตั้งบุคคลที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่อยู่ในฐานะต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นร่วมเป็นกรรมการ
“แบบนี้คดีที่เกิดขึ้นก็คงดำเนินไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงไม่ได้ ส่วนนิยามเกี่ยวกับการทรมานก็ไม่ปรากฏชัด รวมทั้งการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องถือว่าเป็นการทรมานที่มีโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง ก็ไม่ถูกบรรจุเอาไว้ เช่น การจับตัวผู้ต้องหาแล้วเอาถุงดำมาคลุมหัว, การพูดจาเหยียดหยาม, การขนย้ายผู้ถูกจับที่กระทำอย่างแออัดเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง และอีกมากมาย” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
เขาบอกด้วยว่า โอกาสที่สภารับหลักการร่างกฎหมายในวาระแรก ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้มีอำนาจทางกฎหมายขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นวาทกรรมสวยหรูอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ แต่น่าเสียดายที่ร่างของรัฐบาลตัดออกไปหมด