คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ จากวิกฤติโควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ก็คือ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องไปเดินทางไปร่ำเรียนวิชาในต่างแดน
เพราะเมื่อโลกต้องเผชิญกับไวรัสร้าย มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องปิดตัว การเดินทางเชื่อมถึงกันถูกตัดขาด เด็กๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษาอื่นย่อมไม่มีทางเลือกใดนอกจากเรียนออนไลน์
หากเป็นการศึกษาภายในประเทศ หรือภายในภูมิลำเนา ยังเลือกเรียนออนไซต์ หรือ ออนแฮนด์ ได้บ้างในบางโอกาส แต่สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ลงเรียนในต่างประเทศ โอกาสเหล่านั้นย่อมถูกปิดตาย
การกลับไปเรียนที่สถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนโหยหา
น้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน พื้นที่นี้มีจำนวนไม่น้อยที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการนับถือศาสนา ซึ่งเป็นทั้งข้อจำกัดและโอกาสทางการศึกษา
โดยนักเรียน นักศึกษากลุ่มใหญ่จากชายแดนใต้ มีจุดหมายปลายทางที่ซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันประสานงานกระทั่งนักศึกษาไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ซาอุดิอาระเบีย สามารถเดินทางกลับไปเรียนต่อได้สำเร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายกษิดิศ อาชวคุณ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล ได้เดินทางลงพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อพบปะกับนักศึกษาไทยในซาอุดิอาระเบีย
บรรยากาศของการพูดคุยมีหลากหลายเรื่องราว ทั้งในมิติของครอบครัวและชุมชน เพื่อรับฟังความเห็นในการยกระดับการแก้ปัญหาเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้ศักยภาพของเยาวชนผ่านกระบวนการศึกษา ในการเป็น “ยุวทูต” สานสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ
โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบีย ที่ในอดีตเคยเป็นมหามิตรของไทย แต่เกิดกรณีโจรกรรมเครื่องเพชรมูลค่ามหาศาลของราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุฯ เมื่อปี พ.ศ.2532 กระทั่งกลายเป็นคดียืดเยื้อโด่งดังระดับโลก เปิดโปงให้เห็นปัญหาในกระบวนการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นของไทย จนทำให้ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อซาอุดิอาระเบียแปรเปลี่ยนไป กระทบต่อเศรษฐกิจและโอกาสในการสร้างงานของคนไทยที่ไม่เหมือนเดิม
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความหวังที่จะสานสัมพันธ์อันดีงานให้คืนกลับมาเช่นเดิม โดยแนวทางหนึ่งก็คือการใช้ เยาวชน ยุวชน และนักเรียนนักศึกษา เป็นสะพานเชื่อมไมตรีของทั้งสองประเทศ
“น้องๆ เหล่านี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับบ้านเรา ในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุฯให้กลับคืนมา” ส.ว.กษิดิศ กล่าว
และว่า “อยากให้น้องๆ ได้เป็นยุวทูต นำสิ่งดีๆในพื้นที่ของเราไปถ่ายทอดด้วยความเป็นมิตร และสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองประเทศ ซึ่งรัฐบาลทั้งในอดีตและรัฐบาลปัจจุบัน พยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีให้กลับมา ตอนนี้ก็มีท่าทีที่ดีขึ้น เป็นในเชิงบวก คิดว่าในอนาคตอันใกล้เป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ความสัมพันธ์กลับคืนมาเหมือนเดิม”
“สำหรับปัญหาในอดีต หลายคนคงทราบดีว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นระหว่างไทยกับซาอุฯ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นเรื่องของผลทางจิตใจ เราต้องเข้าใจประเทศเขาด้วย เราก็มีความหวัง ตามที่รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพยายามสานต่อความสัมพันธ์ให้ดีดังเดิม”
ส.ว.กษิดิษ บอกด้วยว่า ก่อนที่นักศึกษากลุ่มนี้จะเดินทาง จะมีโอกาสได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยก็จะได้มีโอกาสเจอท่านนายกฯ ได้พูดคุยกับท่านโดยตรงถึงความเป็นมาของปัญหาต่างๆ และท่านนายกฯคงมีสารบางอย่างที่อยากฝากไปกับน้องๆ นักศึกษา
ด้าน มูฮัมหมัดนญา บูงอตาหยง รองประธานชมรมศึกษามาดินะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เผยว่า สถานการณ์โควิด ฃ-19 ช่วงแรก ทำให้พวกตนต้องเดินทางกลับบ้าน ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมพอดี เมื่อกลับมาก็เรียนออนไลน์ได้ 2 เทอม ประมาณ 1 ปี เทอมนี้เป็นเทอมแรกที่มหาวิทยาลัยลัยเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ให้เรียนในห้องเรียน ทำให้พวกตนเจอปัญหา ไม่สามารถกลับไปได้ เพราะฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม
“นโยบายเขาบังคับว่าต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เราสามารถฉีดเข็มแรกได้ 90% ทีนี้พอจะมา ฉีดเข็ม 2 ต้องมีระยะห่างพอสมควร ซึ่งเรามีเวลาไม่พอ จึงประสานทุกหน่วยงานที่พอจะช่วยเราได้ ทุกคนก็ช่วยเราจนสามารถฉีดเข็ม 2 ได้ครบทุกคนแล้ว ตอนนี้รอวีซ่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะสามารถเดินทางไปเรียนเป็นปกติได้” มูฮัมหมัดนญา กล่าว
และว่า “อยากขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือพวกเรา ทั้ง สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ ส.ว.กษิดิศ ที่อำนวยความสะดวก ช่วยแก้ปัญหาให้ตลอดที่ผ่านมา ดูแลพวกเราเหมือนลูก ได้ติดต่อมาตลอดเป็นระยะ ขอบคุณจากใจจริงๆ ในฐานะตัวแทนนักศึกษา”
ส่วนเรื่องที่จะคุยกับนายกรัฐมนตรีก่อนเดินทางนั้น มูฮัมหมัดนญา บอกว่า ถ้าได้พบท่านนายกฯ ก็จะบอกกับท่านว่า พวกเรานักศึกษาไทย มีความยินดีที่จะเป็น “ยุวทูต” สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับซาอุฯ ที่มีปัญหาติดค้างกันอยู่ ตรงนี้มองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่ตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ซาอุฯ จีน อียิปต์ และอีกหลายประเทศ ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด เคยติดค้างอยู่นอกประเทศ และสุดท้ายกลับมาได้ประมาณหมื่นกว่าคน (เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้)
นักศึกษากลุ่มนี้ประสบปัญหาปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการเดินทางกลับภูมิลำเนา และการกักตัว จนล่าสุดนักศึกษาจำนวนหนึ่งสามารถเดินทางกลับไปเรียนต่อได้เป็นปกติแล้ว ภายใต้ความร่วมมือการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สมช. ศอ.บต. และ ส.ว.กษิดิศ รวมทั้งกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ กระทั่งสามารถส่งกลับไปเรียนได้ในที่สุด