พ่อเมืองยะลาสั่งตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนทุกอำเภอ รวม 23 แห่ง รับมือโควิดระบาดหนักระลอกใหม่ ด้าน ศบค.สุไหงโก-ลก เปิดศูนย์พักคอยชุมชน รอรับผู้ตรวจ ATK เป็นบวก ขณะที่นราธิวาสจัดวันสารทเดือนสิบแบบ New Normal ผู้ป่วยใหม่ชายแดนใต้ยังพุ่ง ติดชาร์ตประเทศ 3 จังหวัด
วันพุธที่ 22 ก.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดยะลา ทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่
ล่าสุดทางนายชัยสิทธิ์ พาณิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ออกคำสั่ง ลงวันที่ 21 ก.ย.64 ประกาศให้สถานที่ดังต่อไปนี้ เป็นศูนย์แยกกักในชุมชนCommunity Isolation (CI) ของจังหวัดยะลา เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง โดยสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (CI) ในจังหวัดยะลา ประกอบด้วย
1.อ.เมืองยะลา จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 5 ต.สะเตง , โรงเรียนเทศบาล 1 ต.สะเตง, โรงเรียนกีฬา ต.ท่าสาป, โรงเรียนคุรุชนพัฒนา ต.เปาะเส้ง และ สนามกีฬากลางจังหวัดยะลา ต.สะเตงนอก อาคาร 8 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ต.บุดี
2. อ.เบตง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านยะรม ต.ยะรม, อาคารเรียนนานาชาติ ต.เบตง , โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ ต.ตาเนาะแมเราะ, โรงเรียนบ้านธารน้ำทิพย์ ต.ธารน้ำทิพย์ และโรงเรียนบ้านใหม่วันครู
3.อ.ยะหา จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนยะหาศิรยานุกล ต.ยะหา ,โรงเรียนบ้านบาโงยซีแน ต.บาโงยซีแน ,โรงเรียนราษฎร์อุทิศ (ปูแหล) ต.บาโระ และ โรงเรียนสามัคคี ต.ปะแต
4.อ.รามัน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านรามัน ต.กายูบอเกาะ , ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเมืองรามันห์
5.อ.ธารโต จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.ธารโต , ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.บ้านแหร
6.อ.บันนังสตา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบันนังสตาวิทยา ต.บันนังสตา , กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 152 ต.ถ้ำทะลุ
7.อ.กาบัง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกาบังพิทยาคม ต.กาบัง
8.อ.กรงปินัง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ต.ปุโรง
@@ศบค.สุไหงโก-ลก เปิดศูนย์พักคอยชุมชน รอรับผู้ตรวจ ATK เป็นบวก
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก ประชุมด่วนคณะทำงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อ.สุไหงโก-ลก (ศบค.อ.สุไหงโก-ลก) เพื่อหารือแนวทางการเปิดศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation:CI) เพื่อจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก หลังจากมีการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองในรูปแบบ Antigent Test Kit หรือ ATK ซึ่งมีผลความแม่นยำถึง 97 เปอร์เซ็นต์ แล้วพบอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีพื้นที่ควบคุมเฉพาะรองรับบุคคลกลุ่มนี้
ล่าสุดมติ ศบค.อ.สุไหงโก-ลก มีข้อสรุปว่า เมื่อประชาชนที่มีชื่อในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ตรวจหาเชื้อด้วยตนเองแบบ ATK แล้วมีผลเป็นบวก จะต้องไปตรวจแบบ Real-time Polymerase chain reaction:RT-PCR ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ต้องเตรียมเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นไปด้วย กรณีมีผลตรวจ ATK เป็นบวกแบบไม่มีอาการจะนำส่ง CI ศูนย์โอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แต่หากเริ่มมีอาการจะนำเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลกทันที
หลังจากนั้นรายชื่อผู้พบเชื้อATKเป็นบวก โรงพยาบาลจะส่งต่อรายชื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อเข้าสอบสวนโรคในครอบครัว และจะนำบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ากักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ที่สถานกักกันโรงแรมแกรนด์การ์เด้นท์ โดยจะพร้อมดำเนินในวันที่ 25 ก.ย.64 ส่วนในพื้นที่ ต.ปาเสมัส , ต.มูโนะ และ ต.ปูโยะ จะมีการสำรวจความพร้อมของสถานที่และจะใช้แนวทางเดียวกันในกรณีพบผู้มีผลตรวจ ATKเป็นบวกในทุกตำบลของ อ.สุไหงโก-ลก
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่พบมายังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกยังกักตัวอยู่ที่บ้าน และไม่ได้มีการแยกตัวจากบุคคลในครอบครัว ดังนั้นต้องแยกบุคคลเหล่านี้ รวมทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกจากชุมชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างโดยเฉพาะการติดเชื้อภายในครอบครัว
นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวว่า เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก พร้อมสนับสนุนสถานที่สำหรับการเปิด CI ที่อาคารโอทอปเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยจะขอเวลาในการเข้าไปสำรวจและปรับปรุงสถานที่ 2 วัน ก่อนที่จะเปิดให้ใช้รองรับผู้ที่มีผลตรวจATK เป็นบวก พร้อมทั้งจัดอาหารให้บริการวันละ 3 มื้อ
นายแพทย์บรรยง เหล่าเจริญสุข อำนวยการโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แม้โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จะสามารถตรวจRT-PCR ได้เอง แต่ก็มีจำนวนเคสที่ต้องตรวจทั้งจากในอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอข้างเคียงเป็นจำนวนมาก ขณะที่สามารถตรวจRT-PCR ได้วันละ 90 ราย ดังนั้นจึงอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตามได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจกลุ่มATK เป็นบวก เพื่อนำเข้ากระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด
@@นราธิวาส จัดวันสารทเดือนสิบ แบบ New Normal
ขณะที่บรรยากาศประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือประเพณีรับตายาย ที่ จ.นราธิวาส โดยที่วัดประชาภิรมย์ ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส มีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ต่างพาครอบครัว ญาติพี่น้อง ลูกหลาน พร้อมด้วยข้าวปลาอาหาร ผลไม้ และขนมเดือนสิบ เช่น ข้าวพอง ขนมลา ขนมเจาะหู ข้าวต้ม เข้าวัดทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย ที่ล่วงลับไป
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จ.นราธิวาส เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคฯ ทำให้เทศกาลประเพณีรับ-ส่งตายาย ทำบุญวันสารทเดือนสิบ มีการจัดพิธีกรรมทางศาสนา แต่งดกิจกรรม “ชิงเปรต” ให้ตั้งร้านเปรตได้ แต่ไม่ให้มีกิจกรรมชิงเปรต เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติศาสนกิจให้งดการนั่งรับประทานอาหารร่วมกันและเดินทางกลับบ้านทันที โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลีกเสี่ยงการใช้มือสัมผัสร่วมกับผู้อื่น ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของจังหวัดนราธิวาส และมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
@@ป่วยโควิดชายแดนใต้ยังพุ่ง ติดชาร์ตประเทศ 3 จังหวัด
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพุธที่ 22 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 453 ราย ( ติดอันดับ 5 ของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 10 อันดับแรก ) แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 429 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 24 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 27,443 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 27,420 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 4,978 ราย รักษาหายแล้ว 22,323 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 142 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,152 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 7,170 ราย, อ.เมืองสงขลา 4,072 ราย, อ.สิงหนคร 3,212 ราย, อ.จะนะ 2,730 ราย, อ.สะเดา 2,352 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1,569 ราย, อ.เทพา 1,403 ราย, อ.รัตภูมิ 905 ราย, สทิงพระ 539 ราย, อ.นาทวี 462 ราย, อ.ระโนด 460 ราย, อ.บางกล่ำ 454 ราย, อ.นาหม่อม 358 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 181 ราย, ควนเนียง 171 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 26 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,104 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 252 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 375 ราย ( ติดอันดับ 7 ของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 10 อันดับแรก ) แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 69 ราย, อ.ตากใบ 22 ราย, อ.ยี่งอ 82 ราย, อ.จะแนะ 11 ราย, อ.แว้ง 12 ราย, อ.สุคิริน 1 ราย , อ.รือเสาะ 2 ราย , อ.บาเจาะ 54 ราย, อ.ระแงะ 3 ราย, อ.ศรีสาคร 53 ราย, อ.เจาะไอร้อง 10 ราย อ.สุไหงปาดี 9 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 47 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 20,857 ราย รักษาหายสะสม 17,278 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 241 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 4,200 ราย, อ.ระแงะ 2,216 ราย, อ.รือเสาะ 1,170 ราย, อ.บาเจาะ 1,525 ราย, อ.จะแนะ 970 ราย, อ.ยี่งอ 1,438 ราย, อ.ตากใบ 1,921 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,550 ราย, อ.สุไหงปาดี 1,732 ราย, อ.ศรีสาคร 1,060 ราย, อ.แว้ง 1,446 ราย, อ.สุคิริน 595 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1,052 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 250 ราย ( ติดอันดับ 10 ของจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 10 อันดับแรก ) ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 19,902 ราย รักษาหายแล้ว 13,890 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 284 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 156 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 167 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 837 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 483 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 56 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 184 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 124 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 24 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 39 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 206 ราย และ Home Isolation จำนวน 20 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,879 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 667 ราย, อ.หนองจิก 218 ราย, อ.โคกโพธิ์ 76 ราย, อ.ยะหริ่ง 288 ราย, อ.สายบุรี 399 ราย, อ.ไม้แก่น 73 ราย, อ.แม่ลาน 28 ราย, อ.ยะรัง 233 ราย, อ.ปะนาเระ 128 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 216 ราย, อ.มายอ 286 ราย และ อ.กะพ้อ 128 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 242 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 18,503 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4,054 ราย รักษาหายแล้ว 14,286 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 163 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 520 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 6,668 ราย, อ.กรงปินัง 1,391 ราย, อ.เบตง 1,259 ราย, อ.รามัน 2,148 ราย, อ.บันนังสตา 3,359 ราย, อ.กาบัง 510 ราย, อ.ธารโต 1,319 ราย และ อ.ยะหา 1,849 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 4,054 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 214 ราย, โรงพยาบาลเบตง 169 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 469 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 109 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 688 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 202 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 370 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 224 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 74 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 51 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 163 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 27 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 361 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 176 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 757 ราย