“เบตง” เป็นเมืองชายแดน และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ยะลา
หลายคนคงเคยได้ยิน “ผักน้ำ” กับ “ไก่เบตง” อาหารยอดฮิต เลิศรส ติดปากติดใจทุกคนที่ได้ไปเยี่ยมเยือน
นอกจากนั้นยังมีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และป้ายทะเบียนรถ “เบตง” เพราะสมัยก่อนเดินทางลำบากมาก เส้นทางทั้งไกลและคดเคี้ยว จึงต้องมีป้ายทะเบียนของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่งทางบกที่ตัวจังหวัดยะลา
แต่ใครจะเชื่อว่า กลางเมืองสวยงามอย่างเบตง กลับมี “ศูนย์นวดร้าง” ตั้งตระหง่านเป็นอนุสาวรีย์ฉาวมานานเกือบ 10 ปีเต็มแล้ว
“ศูนย์นวดร้าง” มีชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า "ศูนย์ส่งเสริมอาชีพการนวดเพื่อสุขภาพ" ถูกทิ้งร้าง ตั้งประจานอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง ติดกับสวนสาธารณะ และอยู่ด้านหลังโรงแรมชื่อดังระดับ 5 ดาว
ภายใน “ศูนย์นวดร้าง” ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง ปลูกสร้างแบบทรงไทย แต่สภาพถูกทิ้งร้างมานาน มีต้นไม้ ต้นหญ้าขึ้นปกคลุมหนาแน่น จนมองแทบไม่เห็นตัวอาคาร
พื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ฯ แบ่งเป็นโซนๆ มากถึง 9 โซน มีทั้งอาคารสำนักงาน, สระน้ำ, ห้องนวดตัว, ห้องนวดฝ่าเท้า, ห้องอบสมุนไพร, ห้องอบซาวน่า, ห้องอ่างจากุซซี่ และสระวารีบำบัด
แต่จากการเข้าไปสังเกตการณ์ภายในห้องต่างๆ ปรากฏว่าข้าวของเครื่องใช้แตกหักเสียหาย บ้างก็พัง ถูกทิ้งกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน ประตู ก๊อกน้ำ อ่างล้างหน้า และเครื่องปรับอากาศ
“ศูนย์เบตงต้านโกง” ได้ไลฟ์สดสภาพภายใน “ศูนย์นวดร้าง” ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2555 นับถึงวันนี้ก็เกือบ 10 ปีแล้ว และเคยมีข่าวครึกโครมทางสื่อมวลชนเมื่อปี 2561 ถึงขั้นสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา ลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่ผ่านมาอีก 3 ปี ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม
โดยทางทีมงานของ “ศูนย์เบตงต้านโกง” บอกระหว่างไลฟ์สดว่า ทุกคนสามารถเข้าไปด้านในได้ง่ายๆ เพราะไม่มีการปิดล็อก และไม่มีผู้ดูแลแม้แต่คนเดียว ทำให้ของมีค่าสูญหายไปหมด ทั้งๆ ที่เป็นงบประมาณจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา” พบว่า โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา โดยขอใช้พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง ก่อสร้าง "ศูนย์ส่งเสริมอาชีพการนวดเพื่อสุขภาพ" ซึ่งพื้นที่นี้ เดิมเป็น "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ" ของเทศบาลเมืองเบตง
วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง "ศูนย์ส่งเสริมอาชีพการนวดเพื่อสุขภาพ" เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกผู้ประกอบอาชีพนวดเพื่อสุขภาพซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และจัดอบรมมัคคุเทศก์ ในโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ใช้งบประมาณ 16 ล้านบาท ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2555 สร้างเสร็จและส่งมอบอาคารสถานที่ให้กับเทศบาลเมืองเบตงในปี 2558 แต่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบและ ตรวจรับ ทำให้ถูกทิ้งร้าง ไม่มีใครดูแล สภาพไม่ต่างจากป่าช้า
ที่ผ่านมา "ศูนย์เบตงต้านโกง" ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ทำงานด้านตรวจสอบทุจริตและความไม่โปร่งใสต่างๆ ในพื้นที่ ได้เคยมีหนังสือสอบถามไปยังเทศบาลเมืองเบตง ได้รับคำตอบว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของเทศบาล และยังไม่ได้ส่งมอบอาคารสถานที่ให้เทศบาลรับผิดชอบ
งบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ 16 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ งบประมาณด้านการดำเนินโครงการ จำนวน 8,400,000 บาท ส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าก่อสร้าง
ส่วนที่สอง คือ งบลงทุน จำนวน 7 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 6 ล้านบาท และ "ค่าครุภัณฑ์" ที่ใช้ในการตกแต่งศูนย์ฯ เช่น เตียงนวด, อ่างน้ำ, อ่างจากุซซี่, อ่างสระวารีบำบัด, โน้ตบุ๊คประมวลผล, จอโปรเจคเตอร์ และคอมพิวเตอร์สำนักงาน แต่ปัจจุบันครุภัณฑ์เหล่านี้สูญหายไปหมด เหลือแต่ครุภัณฑ์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ หรือเป็นของที่ไม่มีค่า ที่ยังหลงเหลืออยู่
@@ ป.ป.ช.ยะลาไต่สวนแล้ว ชง ป.ป.ช.กลางฟัน “ศูนย์นวดร้าง”
ดังที่เกริ่นในตอนต้นว่า สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา เคยลงพื้นที่ตรวจสอบ “ศูนย์นวดร้าง” เมื่อปี 2561 ขณะนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ยะลา ทราบว่าขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว หลังจากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าโครงการมีปัญหาจริง
นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา กล่าวว่า กรณีนี้ไต่สวนเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการสรุปเรื่องเพื่อที่จะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา ในส่วนของการชี้มูลความผิด จะมีการชี้มูลหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถพูดก่อนได้ แต่อีกไม่นานนี้จะมีความชัดเจน