มีความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์เซลล์” ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท ติดตั้งไปกว่า 14,000 จุด แต่ใช้งานได้จริงเพียงไม่ถึง 30% นั้น
คดีนี้ต้องบอกว่า “ทีมข่าวอิศรา” เปิดประเด็นตรวจสอบมาตั้งแต่แรก กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง 4 ราย ในความผิดฐาน “เรียกรับสินบน” และ “สนับสนุนให้มีการเรียกรับสินบน และประพฤติมิชอบ” ประกอบด้วย
-นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.
-นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา
-บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด
-และ นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตรฯ
แต่ปัญหายังไม่จบแค่นั้น เพราะผู้ที่ร้องเรียนเรื่องนี้ รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นเครือข่าย “ต้านโกง” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดจนองค์กรตรวจสอบในระดับพื้นที่ มองว่า เป็นการตัดตอน ดำเนินคดีเฉพาะ “ปลาซิว” ซึ่งหมายถึงข้าราชการตัวเล็ก ระดับซี 7 กับบริษัทเอกชนหรือไม่ เนื่องจากมีหลักฐานอีกมากมายที่ชี้ชัดว่า โครงการนี้มีปัญหา
ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลักษณะฮั้วราคา, บริษัทคู่เทียบที่ร่วมเสนอราคา เป็นเอกชนที่ไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานเสาไฟโซลาร์เซลล์, บริษัทคู่เทียบบางแห่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง บางแห่งแจ้งประกอบธุรกิจนำเที่ยวก็ยังมี
ขณะที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ในโครงการเป็น “เสาเปลือย” ไม่ได้มีประติมากรรมตกต่างใดๆ แต่กลับมีราคาสูงถึงต้นละ 63,000 บาท ซึ่งพฤติการณ์แบบนี้ส่อฮั้วประมูล และน่าจะเอาผิดผู้บริหาร ศอ.บต. ระดับสูงในอดีตได้
ล่าสุด วันพุธที่ 15 ก.ย.64 “ทีมเจาะข่าว เนชั่นทีวี” ได้ขอสัมภาษณ์ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ปรากฏว่าทาง ป.ป.ช.เองก็สงสัยถึงความไม่โปร่งใสของโครงการ แต่ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องได้
นายนิวัติไชย บอกว่า โครงการนี้เป็นการขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ (กรมบัญชีกลางอนุมัติ เพราะเป็นพื้นที่มีปัญหาด้านความมั่นคง) แต่ปรากฏว่า จากการตรวจสอบราคาเสาไฟโซลาร์เซลล์ มีข้อสงสัยว่ามีมูลค่าสูงเกินไปหรือไม่ ทว่าเอกสารหลักฐานยังไม่ชี้ชัดว่าสูงหรือไม่ แต่กลับมีหลักฐานปรากฏว่า มีเรื่องการสั่งจ่ายเงินไปเข้าบัญชีคนสนิทของ นายพิทยา รัตนพันธ์ ซึ่งก็คือภรรยาของนายพิทยา โดยเป็นเงินจากบริษัทที่มีการขายเสาไฟโซลาร์เซลล์ให้กับ ศอ.บต.
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นว่าเรื่องนี้มีมูลการเรียกรับผลประโยชน์ มีการจ่ายเงินให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายพิทยา จึงมีมติชี้มูลความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 (เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน) สำหรับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็ชี้มูลความผิดในฐานความผิด “ให้การสนับสนุน” แล้วก็ชี้มูลเรื่องการ “ติดสินบนเจ้าพนักงาน” กับบริษัทที่มีการรับจ้างติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ด้วย
ส่วนการสอบเรื่องฮั้วราคาหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย บอกว่า เบื้องต้นยังไม่พบข้อเท็จจริง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ไม่น่าจะพบผู้กระทำมีความผิดแค่นี้ เพียงแต่ยังกล่าวหาไม่ได้ เพราะพยานหลักฐานยังไม่ปรากฎชัดในสำนวน