ฉก.นราธิวาส จัดรถครัวสนามทำอาหารกล่องแจกจ่ายถึงมือประชาชน 5 ชุมชนในเขตเทศบาลสุไหงโก-ลก บรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด ขณะที่เบตงสั่งปิดเพิ่มอีก 2 ชุมชนเสี่ยงแพร่ระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อยะลาพุ่ง 402 ราย ส่วนสงขลาไล่หลังมาติดๆ
วันอาทิตย์ที่ 12 ก.ย.64 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.พล.ร.15 / ผบ.ฉก.นราธิวาส พร้อมด้วย พ.ท.กฤตณ์พัทธ์ กรกัน ผบ.ร.151 พัน 2 / ผบ.ฉก.นราธิวาส เดินทางลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จำนวน 5 ชุมชนได้แก่ 1. ชุมชนดงงูเห่า , 2. ชุมชนหัวกุญแจ ,3. ชุมชนเสาสัญญาณ ,4. ชุมชนทรายทอง และ 5. ชุมชนหลังด่าน พร้อมจัดรถครัวสนามให้บริการอาหารและน้ำดื่มช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 5 ชุมชนดังกล่าว โดยได้จัดทำเป็นอาหารปรุงสุก ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว จำนวน 540 กล่อง พร้อมเครื่องดื่มและส่งมอบอาหารกล่องถึงบ้านประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้
พล.ต.ไพศาล กล่าวว่า ทางหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้ดำเนินการตามโครงการกองทัพบกช่วยเหลือประชาชน “Army Delivery” ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามนโยบายข้อสั่งการของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 ที่ให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกดำเนินการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตามศักยภาพของหน่วย
“ทางหน่วยจึงได้ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ ทำอาหารปรุงสุกพร้อมน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้ถึงมือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาหารที่ปรุงจากรถครัวสนามนั้น ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนจิตอาสาที่เป็นมุสลิมมาปรุงอาหารให้ จึงมั่นใจได้ว่าพี่น้องมุสลิมสามารถจะรับประทานอาหารที่เป็นฮาลาลได้อย่างสบายใจ”
@@เบตงสั่งปิดเพิ่มอีก 2 ชุมชนเสี่ยงแพร่ระบาดโควิด
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 จ.ยะลา ได้มีหนังสื่อคำสั่งที่ 252/2564 เรื่อง การกำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดยะลา (ฉบับที่ 42) ซึ่งทาฃคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง เพื่อควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 2 ชุมชนในพื้นที่ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ประกอบด้วย ชุมชนการแป๊ะฮูลู และ ชุมชนกูนุงจนอง
โดยมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้า –ออกพื้นที่ดังกล่าว หากผู้ใดมีความจำเป็นจะต้องเดินทางเข้า – ออกพื้นที่ดังกล่าวต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.64 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา
@@ยะลาติดเชื้อใหม่ 402 ราย – สงขลา 396 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 125 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 17,719 ราย รักษาหายแล้ว 12,820 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 268 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 128 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 100 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 2 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 711 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 482 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 1 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 47 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 190 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 118 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 2 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 75 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 187 ราย และ Home Isolation จำนวน 28 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,590 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 707 ราย, อ.หนองจิก 250 ราย, อ.โคกโพธิ์ 69 ราย, อ.ยะหริ่ง 265 ราย, อ.สายบุรี 302 ราย, อ.ไม้แก่น 37 ราย, อ.แม่ลาน 40 ราย, อ.ยะรัง 198 ราย, อ.ปะนาเระ 105 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 164 ราย, อ.มายอ 272 ราย และ อ.กะพ้อ 90 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 402 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 14,969 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,331 ราย รักษาหายแล้ว 11,496 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 142 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 539 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 5,541 ราย, อ.กรงปินัง 1,210 ราย, อ.เบตง 833 ราย, อ.รามัน 1,553 ราย, อ.บันนังสตา 2,831 ราย, อ.กาบัง 447 ราย, อ.ธารโต 1,106 ราย และ อ.ยะหา 1,448 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,331 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 193 ราย, โรงพยาบาลเบตง 101 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 488 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 113 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 773 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 106 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 321 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 223 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 84 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 29 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 201 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 19 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 43 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 6 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 631 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 269 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 49 ราย, อ.ตากใบ 12 ราย, อ.ยี่งอ 27 ราย, จะแนะ 1 ราย, อ.แว้ง 13 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.บาเจาะ 35 ราย, อ.ระแงะ 57 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.เจาะไอร้อง 23 ราย, อ.สุไหงปาดี 49 ราย และ สุไหงโก-ลก 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 17,385 ราย รักษาหายสะสม 14,022 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 197 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 3,597 ราย, อ.ระแงะ 1,943 ราย, อ.รือเสาะ 858 ราย, อ.บาเจาะ 1,276 ราย, อ.จะแนะ 817 ราย, อ.ยี่งอ 1,170 ราย, อ.ตากใบ 1,769 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,253 ราย, อ.สุไหงปาดี 1,332 ราย, อ.ศรีสาคร 765 ราย, อ.แว้ง 1,247 ราย, อ.สุคิริน 480 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 878 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 396 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 352 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 44 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 23,892 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 23,869 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,787 ราย รักษาหายแล้ว 19,970 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 135 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 651 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 6,300 ราย, อ.เมืองสงขลา 3,505 ราย, อ.สิงหนคร 2,969 ราย, อ.จะนะ 2,378 ราย, อ.สะเดา 1,967 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1,304 ราย, อ.เทพา 1,237 ราย, อ.รัตภูมิ 654 ราย, สทิงพระ 508 ราย, อ.บางกล่ำ 413 ราย, อ.นาทวี 354 ราย, อ.นาหม่อม 338 ราย, อ.ระโนด 317 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 156 ราย, ควนเนียง 155 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 21 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 190 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ โรงพยาบาลหลักนราฯ ติดลบ 74 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.00 น. ของวันที่ 12 ก.ย.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,079 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 999 เตียง คงเหลือ 80 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,887 เตียง ใช้ไป 3,077 เตียง คงเหลือ 810 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:219
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,569 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 1,149 เตียง คงเหลือ 420 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,702 เตียง ใช้ไป 784 เตียง คงเหลือ 1,918 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 782 เตียง คงเหลือ 9 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 879 เตียง คงเหลือ 209 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:110
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 918 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 992 เตียง ติดลบ 74 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,950 เตียง ใช้ไป 1,782 เตียง คงเหลือ 1,168 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:306