โรงพยาบาลปัตตานีเปิดหอผู้ป่วยวิกฤติ รองรับคนไข้โควิดอาการรุนแรงที่มีเข้ามาเฉลี่ย 16-20 รายต่อวัน ด้าน ศบค.ยะลา สั่งปิดสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลังพบบุคลากรติดเชื้อ ขณะที่นราธิวาสอ่วมผู้ป่วยใหม่พุ่ง 456 ราย
โรงพยาบาลปัตตานีเปิดหอผู้ป่วยวิกฤติ รองรับผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงที่มีเข้ามาเฉลี่ย 16-20 รายต่อวัน ด้าน ศบค.ยะลา สั่งปิดสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลังพบบุคลากรติดโควิด ขณะที่นราธิวาสอ่วมผู้ป่วยติดเชื้อใหม่โผล่ 456 ราย
วันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ย.64 ที่ ชั้น 1 อาคารอายุฉัฐ โรงพยาบาลปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเจ๊ะอิเร๊ะ ดือเร๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี พร้อมด้วยนายแพทย์รุสตา สาและ นายแพทย์เชี่ยวชาญ-หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม-หัวหน้าภารกิจ ด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลปัตตานี และหัวหน้าดูแลโรงพยาบาลสนามปัตตานี เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดพิธี เปิด หอผู้ป่วยวิกฤติ ระบบควบคุมแรงดันอากาศโรงพยาบาลปัตตานี เพื่อรักษาผู้ป่วยติดโควิดที่มีอาการหนัก
นายแพทย์รุสตา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและมีภาวะปอดอักเสบ หายใจล้มเหลวเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลปัตตานี รับผู้ป่วยที่อาการวิกฤต เฉลี่ยวันละ 16-20 ราย เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 6-7 รายต่อวัน จึงมีความตั้งใจที่จะเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ประกอบกับมูลนิธิปูชนียสถาน(เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ปัตตานี มีความประสงค์จะร่วมบริจาคเพื่อกุศลและเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนชาวปัตตานี จึงมีการดำเนินการปรับปรุงหอผู้ป่วยวิกฤต ระบบควบคุมแรงดันอากาศ ให้ชาวปัตตานีได้รับการดูแลรักษาที่ดียิ่งขึ้น
“โดยหอผู้ป่วยวิกฤต ระบบควบคุมแรงดันอากาศ ประกอบด้วย เตียงรับผู้ป่วยวิกฤต 16 เตียง พร้อมระบบการตรวจวัดสัญญาณชีพและส่งข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ได้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา ระบบกล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน พร้อมด้วยระบบการจัดการอากาศซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดูแลคนไข้โควิด ให้มีการไหลเวียนของอากาศ และการทำลายเชื้อก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เพิ่มความปลอดภัยต่อคนไข้ ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบข้าง และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในหอผู้ป่วย ขอให้มั่นใจในการดูแลรักษาว่า ทางโรงพยาบาลปัตตานี จะให้การรักษาอย่างเต็มกำลัง ได้มาตรฐานทางการแพทย์”
นายเจ๊ะอิเร๊ะ ดือเร๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า โรงพยาบาลปัตตานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเทพสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี) จำนวนเงิน 4 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงหอผู้ป่วยวิกฤติ ระบบควบคุมแรงดันอากาศโรงพยาบาลปัตตานี เพื่อรักษาผู้ป่วยติดโควิด ที่มีอาการหนัก ได้ดำเนินการจน ถึงวันนี้ พร้อมเปิดให้บริการพี่น้องประชาชนชาวปัตตานี
นางอาแอเสาะ มีซอ ชาวปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ที่ปัตตานี เปิดหอผู้ป่วย เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก แม้ทุกวันนี้สถานการณ์โควิดดีขึ้น แต่โรคระบาด แบบนี้ ไม่ควรประมาท การเตรียมความพร้อมของแพทย์ ที่ดี จะส่งผลให้ ชาวปัตตานีได้รับการรักษาได้รวดเร็วและดี ไม่ต่างจากที่อื่น ตลอดที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดการระบาดโควิด ขอชื่นชม ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ สาธารณะสุข มาก ที่ได้ทำเพื่อชาวบ้านอย่างเต็มที่ ขอให้ทุกคนสู้ๆเพื่อปัตตานีบ้านเรา
@@ สั่งปิดสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยะลา พบบุคลากรติดโควิด
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 จ.ยะลา ได้มีหนังสื่อคำสั่งที่ 248/2564 เรื่อง การปิดสถานที่ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สืบเนื่องจากทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา แจ้งว่า มีบุคลากรในสังกัดมีผลการตรวจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เพื่อความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่มารับบริการ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา จึงออกคำสั่งให้ปิดสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา เป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.- 14 ก.ย.64 ทั้งให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่สาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
@@นราธิวาสอ่วมผู้ป่วยติดเชื้อใหม่โผล่ 456 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ย.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 203 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 17,156 ราย รักษาหายแล้ว 12,475 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 268 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 119 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 90 ราย, โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 2 ราย, โรงพยาบาลประจำอำเภอ 626 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 527 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 192 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 116 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 2 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 59 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 174 ราย และ Home Isolation จำนวน 16 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 2,396 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 672 ราย, อ.หนองจิก 238 ราย, อ.โคกโพธิ์ 59 ราย, อ.ยะหริ่ง 255 ราย, อ.สายบุรี 269 ราย, อ.ไม้แก่น 32 ราย, อ.แม่ลาน 36 ราย, อ.ยะรัง 160 ราย, อ.ปะนาเระ 93 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 145 ราย, อ.มายอ 229 ราย และ อ.กะพ้อ 95 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 329 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 14,003 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,915 ราย รักษาหายแล้ว 10,955 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 133 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 208 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 5,177 ราย, อ.กรงปินัง 1,138 ราย, อ.เบตง 742 ราย, อ.รามัน 1,440 ราย, อ.บันนังสตา 2,669 ราย, อ.กาบัง 431 ราย, อ.ธารโต 1,040 ราย และ อ.ยะหา 1,366 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,915 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 154 ราย, โรงพยาบาลเบตง 120 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 465 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 105 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 737 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 35 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 291 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 217 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 90 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 25 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 198 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 23 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 22 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 425 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 456 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 80 ราย, อ.ยี่งอ 30 ราย, จะแนะ 3 ราย, อ.แว้ง 66 ราย, อ.สุคิริน 9 ราย, อ.รือเสาะ 2 ราย, อ.บาเจาะ 3 ราย, อ.ระแงะ 29 ราย, อ.ศรีสาคร 11 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 142 ราย และ สุไหงโก-ลก 79 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 16,321 ราย รักษาหายสะสม 13,278 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 190 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 3,402 ราย, อ.ระแงะ 1,850 ราย, อ.รือเสาะ 786 ราย, อ.บาเจาะ 1,123 ราย, อ.จะแนะ 804 ราย, อ.ยี่งอ 1,092 ราย, อ.ตากใบ 1,680 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 1,187 ราย, อ.สุไหงปาดี 1,199 ราย, อ.ศรีสาคร 731 ราย, อ.แว้ง 1,189 ราย, อ.สุคิริน 445 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 833 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 374 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 312 ราย, กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 62 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 22,738 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 22,715 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,493 ราย รักษาหายแล้ว 19,113 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 132 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,820 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 6,024 ราย, อ.เมืองสงขลา 3,330 ราย, อ.สิงหนคร 2,840 ราย, อ.จะนะ 2,291 ราย, อ.สะเดา 1,875 ราย, อ.เทพา 1,195 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1,120 ราย, อ.รัตภูมิ 616 ราย, สทิงพระ 483 ราย, อ.บางกล่ำ 400 ราย, อ.นาทวี 348 ราย, อ.นาหม่อม 330 ราย, อ.ระโนด 271 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 142 ราย, ควนเนียง 142 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 20 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 185 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
@@ โรงพยาบาลหลักนราฯ เตียงติดลบ 26 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 9 ก.ย.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,055 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 945 เตียง คงเหลือ 110 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,812 เตียง ใช้ไป 3,074 เตียง คงเหลือ 738 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:219
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,558 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 1,142 เตียง คงเหลือ 416 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,982 เตียง ใช้ไป 792 เตียง คงเหลือ 2,190 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:7
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 739 เตียง คงเหลือ 52 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 772 เตียง คงเหลือ 316 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:110
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 918 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 944 เตียง ติดลบ 26 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,100 เตียง ใช้ไป 1,532 เตียง คงเหลือ 1,568 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:306