คดี “โจ้คลุมถุง” กลายเป็นแรงผลักดันทุกฝ่ายหันมาเร่งรัดเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และผลักดันกฎหมายป้องกันการกระทำทารุณกรรม และการสอบสวนโดยวิธีนอกกฎหมาย
เรื่องปฏิรูปตำรวจ ผ่านมากว่า 7 ปีของรัฐบาล 2 ชุดที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม หรือเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ขึ้นมาดำเนินการก็ตาม (แถมยังโดนวิจารณ์ว่าใช้ทหารไปปฏิรูปตำรวจเสียอีก)
ถ้าย้อนดูไทม์ไลน์จะพบว่า...
22 พ.ค.57
- คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง มีนโยบายชัดเจนว่าจะ “ปฏิรูปตำรวจ”
ปี 57-60
- ออกประกาศ คสช. 3 ฉบับ ปรับองค์ประกอบกรรมการ ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ)
- ปรับแก้วิธีการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ (ถูกวิจารณ์ว่าเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองมากกว่า)
- ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางปฏิรูปตำรวจผ่านกลไก สปช.-สปท. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุค คสช.)
5 ก.ค.60
- ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน
28 มี.ค.61
- สรุปข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ พร้อมแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แต่ข้อเสนอไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 258 ง. เขียนกรอบเวลาในการปฏิรูปตำรวจเอาไว้ ให้ดำเนินการภายใน 1 ปี แต่นับถึงปัจจุบัน ผ่านมา 4 ปีแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความคืบหน้า ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีการแก้ไขกฎหมายตำรวจใหม่ เรียกว่ารื้อทั้งฉบับ แต่มีการ “แปลงสาร” โดยตำรวจ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง แต่เป็นแค่การวางแนวทางการแต่งตั้งโยกย้าย และปรับปรุงงานธุรการต่างๆ ใหม่เท่านั้น
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อยู่ในชั้นการพิจารณาของ “รัฐสภา” วาระ 2 (เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป) เข้าวาระ 2 ไปหลายเดือนแล้ว เพิ่งพิจาณาไป 14 มาตรา จาก 172 มาตรา
2.ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ฉบับนี้เนื้อหาดี เปิดช่องให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวนกับตำรวจตั้งแต่ต้น ในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมไปถึงคดีค้ามนุษย์ และคดีฟอกเงิน ทั้งยังให้การสอบสวนคดีอาญาในทุกขั้นตอนมีการบันทึกวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ยังไม่คืบหน้าไปไหน รอเข้าคณะรัฐมนตรี และส่งบรรจุเข้าวาระการประชุมรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป ออกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. เช่นกัน (รัฐธรรมนูญให้ทำเสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่เลยเวลามา 3 ปีแล้ว)
3.ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับนี้เป็นกฎหมายข้ามทศวรรษ เพราะผลักดันกันมานาน ตั้งแต่ไทยเข้าเป็นอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เมื่อปี 50 (ชื่อเต็มๆ คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี)
ความล่าช้าของกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่าทรมานนี้ ไม่ได้เพิ่งช้าในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่รัฐบาลเลือกตั้งอีกหลายๆ ชุด รวมทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้เร่งรัดผลักดัน กฎหมายมาเป็นรูปเป็นร่างในยุค คสช. และส่งเข้าบรรจุวาระของสภาแล้วด้วย แต่เกิดอุบัติเหตุ ถูกดีดออก เพราะอ้างว่าไม่ได้รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านตามรัฐธรรมนูญใหม่
กระทั่งปัจจุบันร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีกรอบ คาดว่าจะพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้า
4.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานคดีอาญา ฉบับนี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ออกเมื่อปี 46 ของกระทรวงยุติธรรม โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง อาศัยจังหวะ “ตีเหล็กตอนกำลังร้อน” พ่วงผลักดันเรื่องนี้เข้าไปด้วยเลย โดยขยายนิยามของคำว่า “พยาน” ให้ครอบคลุมถึง “ผู้แจ้งเบาะแส” ด้วย พร้อมแก้ไขประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานคดีอาญา ผ่านการพิจารณาของสภาวาระแรกแล้ว อยู่ในชั้นพิจารณาของกรรมาธิการ วาระ 2