ปัญหาการเรียนออนไลน์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นระบบการเรียนการสอนหลักของประเทศไปแล้วนั้น ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครอง
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่หมู่บ้านและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับ “ไกลปืนเที่ยง” เพียงแต่เป็นโรงเรียนบนภูเขา ท้องที่บ้านหาดทราย ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 150 กิโลเมตร
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หมู่บ้านนี้ถูกสั่งปิด ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่เด็กๆ นักเรียนกลับลำบากยิ่งกว่า เพราะต้องเรียนหนังสือแบบ “เรียนออนไลน์” ในขณะที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตหายากเหลือเกิน
นายมะสาและ ยูโซะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านหาดทราย เล่าว่า หมู่บ้านที่ถูกปิด คือส่วนของบ้านหาดทรายบน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์อยู่แล้ว เด็กๆ ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์หาสัญญาณอินเทอร์เน็ต เมื่อเจอก็ต้องนั่งเรียนกันตรงนั้นเลย บางทีก็เป็นริมถนน หรือว่าใต้ต้นไม้ ใกล้ๆ ด่านตรวจโควิด
เมื่อทีมข่าวลงพื้นที่ไปตามดูการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ ก็เห็นจริงตามที่ผู้ใหญ่บ้านเล่า คือเด็กๆ ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์หาสัญญาณ พอเจอสัญญาณก็ต้องนั่งเรียนกันตรงนั้น ใต้ต้นไม้บ้าง ริมน้ำตกบ้าง ในศาลาบ้าง แล้วก็นั่งรวมตัวกันเรียน เพราะจุดท่ีมีสัญญาณโทรศัพท์มีอยู่แค่นั้น
ถ้าเป็นเวลาปกติ ในโรงเรียนและหมู่บ้านใหญ่ที่อยู่ถัดไป จะมีสัญญาณโทรศัพท์ทุกจุด แต่ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ถูกปิด จึงต้องใช้ชีวิตเฉพาะในหมู่บ้าน ต้องเรียนออนไลน์ตามภาพที่เห็น
นักเรียนจากบ้านบน บอกกับทีมข่าวว่า อาศัยอยู่บ้านหาดทรายบน ตอนนี้ถูกปิดหมู่บ้าน ไม่ให้ไปไหน ตนและเพื่อนๆ กำลังเรียนอยู่ ม.3 โรงเรียนก็ปิด ไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจะให้ทำใบงาน กับเรียนออนไลน์ ปกติจะไปเรียนในหมู่บ้านใหญ่ เพราะตรงนั้นมีสัญญาน ส่วนบ้านหาดทรายบนไม่มีสัญญาน แต่ตอนนี้มาเรียนที่น้ำตก จุดนี้พอมีสัญญาณบ้าง ทุกๆวันจะมานั่งเรียนที่นี่ เรียนเสร็จก็จะกลับไปที่บ้าน
@@ ร่วมด้วยช่วยกันฯ รุดเยี่ยม-แจกถุงยังชีพ
สำหรับโรงเรียนของนักเรียนที่นี่ คือ โรงเรียนธารคีรี ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ นอกจากจะปิดการเรียนการสอนแล้ว ยังเปิดเป็นสถานที่กักกัน Local Quarantine ด้วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงกักตัวอยู่ประมาณ 16-20 คน และมีพี่น้องในกลุ่มบ้านหาดทรายบน 60 ครัวเรือนกักตัวที่บ้าน
เมื่อทั้งโรงเรียนและหมู่บ้านถูกปิด ปัญหาความเดือดร้อนจึงเกิดตามมา ทำให้ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” นำทีมโดย น.ส.รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพฯ นำสมาชิกลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพ และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ โดยถุงยังชีพได้รับการสนับสนุนจาก นพ.ชัยวัฒน์ และ พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้ใหญ่ใจดีจากกรุงเทพฯ รวมทั้งสื่อมวลชนบางแขนงในส่วนกลาง
ผู้ใหญ่บ้านฯ มะสาและ เล่าให้ฟังถึงสภาพในหมู่บ้านว่า สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าไม่ปกติ เรื่องอาหารการกินต้องนัดฝากซื้อกันที่ด่านตรวจ เพราะรถขายปลา ขายอาหารสด เวลามาก็จะ มาแค่ด่านตรวจที่ตั้งปิดหมู่บ้าน
ผลกระทบยังเกิดกับชาวบ้านที่ต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรไปขาย ต้องมีการตรวจเข้มทุกครั้ง หากเจ้าหน้าที่ประจำด่านไม่มั่นใจ ก็จะไม่ให้เข้า-ออกอย่างเด็ดขาด
นายมะลูดิง ปะเต๊ะเล๊าะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ธารคีรี กล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งที่มีน้องๆ มาเยี่ยมให้กำลังใจ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีในกรุงเทพฯ เพราะพื้นที่นี้เป็นถิ่นทุรกันดาร ห่างจากตัวจังหวัด 150 กิโลเมตร และห่างจาก จ.ยะลา 60 กิโลเมตร ถมแยังอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ก็ขอขอบคุณที่ไม่ทิ้งกัน และนำสิ่งของมาช่วยชาวบ้านในยามทุกข์ยากลำบาก