ข่าวดี! เจ้าหน้าที่พร้อมผู้ต้องขังเรือนจำยะลา วัคซีนปักแขนครบ 100 % ยังไม่พบการระบาดของโควิด-19 ด้านเทศบาลนครยะลาดึงนักศึกษาลงพื้นที่เคาะประตูบ้านสำรวจข้อมูลการฉีดในชุมชน ขณะที่ล้งทุเรียนเบตงเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน หลังมีข่าวจีนพบโควิดปนเปื้อนทุเรียนไทย
วันพฤหัสบดีที่ 19 ส.ค.64 นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา ได้ส่งเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขโรงพยาบาลยะลา ทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ซิโนแวค ให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 2,391 คน โดยดำเนินการฉีดต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั้งหมด สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ต้องขังเรือนจำกลางยะลา โดยมีนายรื่นเริง นุ่นสง ผบ.เรือนจำกลางยะลา เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์และผู้ต้องขัง เข้ารับการฉีดวัคซีน
นายรื่นเริง นุ่นสง ผบ.เรือนจำกลางยะลา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง เรือนจำกลางยะลา ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่ง หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 จะมีผลกระทบในด้านการบริหารงานและสร้างความเหน็ดเหนื่อยในการทำงานเป็น 10 เท่าในการเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ในปัจจุบันเรือนจำกลางยะลา มีผู้ต้องขัง จำนวน 2,391 คน ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา เรือนจำกลางยะลายังคงรักษาพื้นที่เรือนจำสีขาวอยู่ และยังไม่พบการติดเชื้อภายในเรือนจำ ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่บุคคลเข้า-ออก โดยให้เจ้าหน้าที่ทำงาน 7 วัน และ_พัก 7 วัน สลับหมุนเวียน เพื่อการป้องกันโควิด-19
"ขณะที่การฉีดวัคซีนภายในเรือนจำกลางยะลา ได้ดำเนินการฉีดไปแล้ว รอบที่ 1 ให้กับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โดยได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมราชฑัณฑ์ 300 โดส นอกจากนี้ยังได้รับวัคซีน ภายใต้การสนับสนุนจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดยะลา มอบหมายให้โรงพยาบาลยะลา ส่งเจ้าหน้าที่ทำการฉีดวัคซีนผู้ต้องขัง ซึ่งมีทั้งหมด 2,391 คน ทำให้ได้รับวัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นแบบเรือนจำสีขาว ที่ยังไม่พบการติดเชื้อโควิด-19" ผบ.เรือนจำยะลา กล่าว
@@เทศบาลนครยะลานำนักศึกษาเคาะประตูบ้านสำรวจข้อมูลฉีดวัคซีนในชุมชน
นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลนครยะลา นำนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนงานช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 30 คน ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด และโรงเรียน สถานศึกษา ยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ลงพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนตัวเลขยังสูงอยู่ เดินเคาะประตูบ้าน ตามมาตกรการเชิงรุก สำรวจข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชนทุกครัวเรือน พร้อมทั้งแนะนำให้ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน และทำการจองผ่านระบบเทศบาลนครยะลา
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า ทางคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดยะลา ได้แต่งตั้งให้เทศบาลนครยะลา เป็นคณะกรรมการจุดลงทะเบียนฉีดวัคซีน ดังนั้นการเปิดจุดคัดกรองตรวจเชื้อ ด้วยชุดตรวจเชื้อแอนติเจน หรือ ATK (Antigen Test Kit) เพียงจุดเดียว คงไม่ทันในมาตรการเชิงรุก เพราะประชาชนมาใช้บริการตรวจเชื้อจำนวนน้อย ดังนั้นทางเทศบาลนครยะลา ได้ผุดโครงการดึงนักศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 สมัครเข้าร่วมเป็นผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนงานช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
โดยนักศึกษาผู้ปฏิบัติงาน จะมาทำหน้าที่ปูพรมเคาะประตูตามบ้านเรือนต่างๆ ในชุมชนเขตเทศบาลนครยะลา สำรวจสอบถามข้อมูลการฉีดวัคซีนภายในครัวเรือน พร้อมทั้งแนะนำการจองวัคซีน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จะได้รับทราบข้อมูลเชิงในลึกว่า เพราะอะไรประชาชนถึงยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งทางเทศบาลนครยะลา จะได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุม ร้อยละ 70สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สิ่งสำคัญ คือการเปิดเมืองให้เร็วขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่
นางสาวนริสา โดยสมาน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนตลาดเก่าในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ยังพบการติดเชื้ออยู่ ประชาชนบางครัวเรือนยังไม่รู้ว่า จองวัคซีนยังไงและฉีดทำไม การตอบรับที่นี่มีบ้างบางส่วนที่ยังไม่อยากฉีด ก็ได้แนะนำถึงข้อดีของวัคซีน ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และคนรอบข้าง รวมถึงครอบครัว
@@เร่งฉีดวัคซีนแรงงานล้งทุเรียนเบตง หลังจีนพบโควิดบนเปื้อนทุเรียนไทย
ที่ล้งรับซื้อทุเรียน บริษัท สกาย ออน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด หมู่ที่ 4 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตงพร้อมด้วยนายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง, นายแพทย์จิตติ จันทรมงคล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเบตง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) โดยมีคนงานเข้ารับการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 75 คน และพร้อมกันนี้ได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด ให้แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างจำนวน 56 คน พร้อมทั้งเน้นย้ำ กำชับในเรื่องมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ถือปฏิบัติตามมารตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและต้องยึดหลัก D-M-H-T-Tอย่างเข้มงวด จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า จากกรณีที่ทางการจีนได้ทำการสุ่มตรวจการนำเข้าทุเรียนและได้พบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนมากับกล่องบรรจุทุเรียน ที่นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยได้ ซึ่งในการตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศ ต่างประเทศและตลาดปลายทางต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดรับซื้อทุเรียนใน จ.ยะลา ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 รองจาก จ.ชุมพร โดยมี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และ พ่อค้ารายย่อยใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำผลผลิตมาจำหน่ายที่ จ.ยะลา เป็นจำนวนมากในช่วงออกผลผลิต
@@ นราธิวาสมีแพทย์โรงพยาบาลสนาม 1 ต่อผู้ป่วย 210
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 16.00 น. ของวันที่ 19 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,043 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 777 เตียง คงเหลือ 266 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,758 เตียง ใช้ไป 2,325 เตียง คงเหลือ 1,433 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:166
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,166 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 832 เตียง คงเหลือ 334 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,777 เตียง ใช้ไป 1,417 เตียง คงเหลือ 1,360 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:13
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 567 เตียง คงเหลือ 224 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 540 เตียง คงเหลือ 548 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:77
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 803 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 769 เตียง คงเหลือ 34 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,140 เตียง ใช้ไป 1,048 เตียง คงเหลือ 1,092 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:210
@@นราธิวาส - สงขลา ยังอ่วมติดเชื้อเพิ่มกว่า 200 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 179 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 13,716 ราย รักษาหายแล้ว 9,932 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 188 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 155 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 367 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 109 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 739 ราย โรงพยาบาลชุมชน 480 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 37 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 174 ราย โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน 2 ราย โรงพยาบาลธัญรักษ์โรงยิมบานา 34 ราย โรงพยาบาลธัญรักษ์ Southern view 11 ราย และ Home Isolation 114 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 3,524 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,662 ราย, อ.หนองจิก 351 ราย, อ.โคกโพธิ์ 145 ราย, อ.ยะหริ่ง 225 ราย, อ.สายบุรี 154 ราย, อ.ไม้แก่น 15 ราย, อ.แม่ลาน 12 ราย, อ.ยะรัง 338 ราย, อ.ปะนาเระ 201 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 63 ราย, อ.มายอ 273 ราย และ อ.กะพ้อ 44 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 170 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 9,951 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,844 ราย รักษาหายแล้ว 8,014 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 93 ราย อยู่ระหว่างรอผล 239 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 3,846 ราย, อ.กรงปินัง 744 ราย, อ.เบตง 521 ราย, อ.รามัน 953 ราย, อ.บันนังสตา 1,794 ราย, อ.กาบัง 305 ราย ,อ.ธารโต 820 ราย และ อ.ยะหา 968 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,844 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 164 ราย โรงพยาบาลเบตง 63 ราย รพช.6 แห่ง 340 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 91 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 509 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 31 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 104 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 138 ราย โรงพยาบาลสนามยะหา 57 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 16 ราย โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 112 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 23 ราย ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน(HI) 17 ราย ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (CI) 44 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 135 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 227 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 54 ราย, อ.ตากใบ 19 ราย, อ.ยี่งอ 36 ราย, อ.จะแนะ 2 ราย, อ.แว้ง 2 ราย, อ.รือเสาะ 58 ราย, อ.บาเจาะ 8 ราย, อ.ระแงะ 5 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 5 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 9 ราย และ อ.สุไหงปาดี 26 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 10,359 ราย รักษาหายสะสม 8,197 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 119 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 2,165 ราย, อ.ระแงะ 1,206 ราย, อ.รือเสาะ 520 ราย, อ.บาเจาะ 716 ราย, อ.จะแนะ 579 ราย, อ.ยี่งอ 662 ราย, อ.ตากใบ 1,280 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 724 ราย, อ.สุไหงปาดี 622 ราย, อ.ศรีสาคร 386 ราย, อ.แว้ง 722 ราย, อ.สุคิริน 278 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 499 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 221 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 210 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 11 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 17,054 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 17,031 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,729 ราย รักษาหายแล้ว 14,232 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 93 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,383 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 4,652 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,589 ราย, อ.สิงหนคร 1,938 ราย, อ.จะนะ 1,731 ราย, อ.สะเดา 1,187 ราย, อ.เทพา 925 ราย, อ.สะบ้าย้อย 719 ราย, อ.รัตภูมิ 490 ราย, สทิงพระ 344 ราย, อ.บางกล่ำ 326 ราย, อ.นาหม่อม 296 ราย, อ.นาทวี 245 ราย, อ.ระโนด 142 ราย, ควนเนียง 100 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 97 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 135 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย