กรงปินังตั้งรางวัลปันสุขแจกข้าวสาร ปลากระป๋อง จูงใจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดซีนเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่ปัตตานีเร่งเครื่องกลุ่ม 607 หลังพบเข็มปักแขนเพียงแค่ 17% ด้านเบตงเฮยอดทะลุ 2 หมื่นราย คาดสิ้นเดือนฉีดครบตามเป้า 70%
วันอังคารที่ 10 ส.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และในหลายพื้นที่ได้มีความพยายามเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในครอบคลุม 70 % ของประชาชนในพื้นที่
โดยที่หอประชุม ที่ว่าการอำเภอกรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา นายวิมุตติ อำนักมณี นายอำเภอกรงปินัง ได้ให้มีการรณรงค์ประชาชนในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ครอบคลุม 70 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยมีโปรโมชั่นนำเสนอ กระตุ้นเตือนให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนได้แล้วรับรางวัลปันสุข 1 ชิ้น
นายวิมุตติ อำนักมณี นายอำเภอกรงปินัง กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการรับวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ อ.กรงปินัง ณ วันที่ 8 ส.ค.64 มีเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งหมด 17,790 คน ฉีดแล้ว 2,892 คน คิดเป็น 16.26 เปอร์เซ็นต์ ถือว่า สัดส่วนการเข้ารับการฉีดวัคซีนยังน้อยอยู่ จึงได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในมาตรการเชิงรุก โดยแจกข้าวสาร มาม่าและปลากระป๋อง ทั้งนี้ให้ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ที่เข้าฉีดวัคซีนรับข้าวสาร 1 ถุง ส่วนประชาชนอายุ 18-59 ปี รับมาม่าและปลากระป๋อง จากแนวคิดดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจ ตื่นตัว แห่เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก วันละ 500 คนต่อวัน
นอกจากนี้ผลการดำเนินการ “หมู่บ้านต้นแบบ” ฉีดวัคซีนครองคลุม 70 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ อ.กรงปินัง นำร่องไปแล้ว 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 4 บ้านกีเยาะ ต.กรงปินัง หมู่ 6 บ้านตะโล๊ะสะโตร์ ต.สะเอะ หมู่ 1 บ้านโฉลง ต.ปุโรง และหมู่ 1บ้านกูวา ต.ห้วยกระทิง จำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,715 คน ฉีดแล้ว 667 คน คิดเป็น 27.21 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้วประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายอำเภอกรงปินัง กล่าว
@@ปัตตานี-เร่งฉีดผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรค หลังพบได้รับวัคซีนเพียง 17 %
ที่โรงเรียนเทศบาล 5 อ.เมือง จ.ปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และนายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ได้เดินทางมาให้กำลังใจแก่ประชาชนผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังและผู้พิการ ที่เดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าซิเนก้า จำนวน 154 ราย ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ครั้งแรกของทางเทศบาลเมืองปัตตานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด หลังจากที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่ม 607 นั้น ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงแค่ 17เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีการบริการฉีดวัคซีนแบบเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาจำนวนของผู้ที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่ม 607 มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานีในขณะนี้ได้วางเป้าหมายโดยเน้นไปยังกลุ่ม 607 และผู้ที่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการฉีดให้กับกลุ่มเหล่านี้จำนวนมากแล้ว แต่ก็ทราบในข้อจำกัดว่า คนเหล่านี้เดินทางไม่สะดวก เพราะฉะนั้นจึงได้มอบหมายให้ทุกอำเภอ ลงไปฉีดในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน เพื่อเร่งฉีดให้กับบุคคลเหล่านี้ ให้มากที่สุด และการที่เราจะฉีดให้ได้มาก ก็ต้องลงไปหาประชาชนและในภายภาคหน้า หากมีวัคซีนเพียงพอ ก็จะฉีดให้กับผู้มีอายุ 49 ปีลงมา ก็จะมีการฉีดควบคู่กันไป ซึ่งจะสามารถป้องกันประชาชนในการติดเชื้อและเสียชีวิตได้
โดยขณะนี้จังหวัดปัตตานีฉีดได้จำนวน 27 เปอร์เซ็นต์ จากประชาชนเป้าหมายกว่า 7 แสนคนและจะพยายามฉีดให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ 5 แสนคน แต่เป้าหมายที่ยังต่ำอยู่ก็คือ กลุ่ม 607 ซึ่งขณะนี้ฉีดได้เพียงแค่ 17 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นต้องเร่งฉีดอย่างต่อเนื่องและทำความเข้าใจแก่ประชาชน
นายราชิต ยังกล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ที่จะเข้ามา ทางจังหวัดปัตตานี จะนำไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียว ถ้าไม่ใช่เป้าหมายก็จะไม่ฉีดให้ โดยวัคซีนไฟเซอร์จะมา 2 รอบ และรอบที่ 2 ก็จะมาตามจำนวนที่ขอไว้ ซึ่งเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดปัตตานี
@@ชาวเบตงรับวัคซีนแล้วกว่า 2 หมื่นราย คาดสิ้นเดือนฉีดครบตามเป้า 70 %
ที่ห้องประชุมภู่พัฒน์ โรงพยาบาลเบตง ได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 เป็นวันแรกให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า จำนวน 319 คน ที่ปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทางโรงพยาบาลเบตง ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 354 โดส จาก จ.ยะลา ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 2,880 โดส แบ่งเป็น 2,640 โดส สำหรับกระตุ้นเข็ม 3 และอีก 240 โดส สำหรับบุคลากรด่านหน้าที่ไม่เคยได้รับวัคซีน
นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า การบริการฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ตามเป้าหมาย ขณะนี้ อ.เบตง มีการฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 1 ของ จ.ยะลา มีผู้รับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 2 หมื่นราย คิดเป็น 64 % โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดวัคซีนแล้ว 92 % กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 96 % กลุ่ม อสม. 75 % และกลุ่มอายุ 18-59 ฉีดแล้วเกือบ 60 %
ทางโรงพยาบาลเบตงและสาธารณสุขอำเภอเบตง ยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยการลงพื้นที่เชิงรุก ในพื้นที่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนน้อย ก็จะจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปบริการฉีดวัคซีน อย่างเช่น ต.อัยเยอร์เวง ต.ธารน้ำทิพย์ ต.ยะรม พร้อมเชิญผู้นำชุมชนผู้นำศาสนาฉีดวัคซีนเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่ ซึ่งตามแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีน คาดว่า ปลายเดือน ส.ค.นี้ จะมีการฉีดวัคซีนตามเป้าตาม 70% และจะครอบคลุมครบ 100% ในช่วงปลายปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องชาวเบตง จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในแบบ New Normal
@@โรงพยาบาลสนาม 4 จังหวัดชายแดนใต้เตียงยังว่างเพียบ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 16.00 น. ของวันที่ 10 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,028 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 779 เตียง คงเหลือ 249 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,734 เตียง ใช้ไป 2,796 เตียง คงเหลือ 938 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:199
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 703 เตียง คงเหลือ 230 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,280 เตียง ใช้ไป 1,614 เตียง คงเหลือ 666 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:16
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 612 เตียง คงเหลือ 179 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 718 เตียง คงเหลือ 370 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:102
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 697 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 668 เตียง คงเหลือ 29 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,730 เตียง ใช้ไป 923 เตียง คงเหลือ 807 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:185
@@ ปัตตานีติดเชื้อใหม่ 216 ราย ส่วนยะลา-นราฯ เสียชีวิตจังหวัดละ 3 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอังคารที่ 10 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 216 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 12,024 ราย รักษาหายแล้ว 8,008 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 164 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 172 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 605 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 128 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 997 ราย โรงพยาบาลชุมชน 488 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 168 ราย Home Isolation 176 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลอื่น 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 4,612 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 2,060 ราย, อ.หนองจิก 428 ราย, อ.โคกโพธิ์ 178 ราย, อ.ยะหริ่ง 426 ราย, อ.สายบุรี 197 ราย, อ.ไม้แก่น 17 ราย, อ.แม่ลาน 33 ราย, อ.ยะรัง 573 ราย, อ.ปะนาเระ 232 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 63 ราย, อ.มายอ 308 ราย และ อ.กะพ้อ 40 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 65 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 8,710 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,051 ราย รักษาหายแล้ว 6,583 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 76 ราย อยู่ระหว่างรอผล 820 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 3,292 ราย, อ.กรงปินัง 671 ราย, อ.เบตง 470 ราย, อ.รามัน 816 ราย, อ.บันนังสตา 1,601 ราย, อ.กาบัง 282 ราย อ.ธารโต 744 ราย และ อ.ยะหา 834 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,051 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 204 ราย โรงพยาบาลเบตง 77 ราย รพช.6 แห่ง 331 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 88 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 690 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 28 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 219 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 86 ราย โรงพยาบาลสนามยะหา 87 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 6 ราย โรพยาบาลสนามกรงปินัง 103 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 15 ราย รักษาตัวที่บ้าน 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 109 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 176 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 24 ราย, อ.ตากใบ 18 ราย, อ.ยี่งอ 1 ราย, อ.จะแนะ 11 ราย, อ.แว้ง 52 ราย, อ.สุคิริน 6 ราย, อ.บาเจาะ 15 ราย, อ.ระแงะ 1 ราย, อ.ศรีสาคร 10 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 34 ราย และ อ.สุไหงปาดี 4 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 8,335 ราย รักษาหายสะสม 6,479 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 92 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,847 ราย, อ.ระแงะ 920 ราย, อ.รือเสาะ 434 ราย, อ.บาเจาะ 534 ราย, อ.จะแนะ 484 ราย, อ.ยี่งอ 509 ราย, อ.ตากใบ 1,078 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 537 ราย, อ.สุไหงปาดี 478 ราย, อ.ศรีสาคร 341 ราย, อ.แว้ง 520 ราย, อ.สุคิริน 251 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 402 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 174 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 160 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 14,589 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 14,566 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,096 ราย รักษาหายแล้ว 11,413 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 80 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 636 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 4,024 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,282 ราย, อ.จะนะ 1,566 ราย, อ.สิงหนคร 1,317 ราย, อ.สะเดา 953 ราย, อ.เทพา 849 ราย, อ.สะบ้าย้อย 615 ราย, อ.รัตภูมิ 370 ราย, สทิงพระ 332 ราย, อ.บางกล่ำ 287 ราย, อ.นาหม่อม 259 ราย, อ.นาทวี 229 ราย, อ.ระโนด 100 ราย, ควนเนียง 85 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 71 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 112 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย