ที่ จ.ปัตตานี มีการขึ้นป้ายไวนิลคัดค้าน "ผู้ว่าฯรอเกษียณ" หรือที่เรียกกันว่า "ผู้ว่าฯปีเดียว" ติดตั้งหลายจุดทั่วเมือง กลายเป็นกระแสวิจารณ์อย่างมาก
เป้าหลักจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่กำลังจะย้ายมาเป็นผู้ว่าฯปัตตานี โดยมีอายุราชการเหลือเพียง 1 ปี ซึ่งหมายถึงการทำหน้าที่ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
กระแสวิจารณ์เรื่องนี้มีมาตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 3 ส.ค.64 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 28 ราย โดยสังคมพุ่งความสนใจไปที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เจ้าของบัญชีทรัพย์สินหมื่นล้าน ที่ได้ผงาดขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่
แต่ในบรรดารายชื่อที่แนบไปด้วยตามบัญชีผู้บริหารระดับสูงอีก 27 คน ยังมีผู้ว่าฯของจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย คือ นายนิพันธ์ บุญหลวง พ้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายภิรมย์ นิลทยา พ้นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ นายเจษฎา จิตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
แต่ที่เป็นประเด็นวิจารณ์ของคนปลายด้ามขวาน โดยเฉพาะที่ปัตตานี ก็คือ ผู้ว่าฯปัตตานีคนใหม่ นายนิพันธ์ บุญหลวง เหลืออายุราชการอีกเพียง 1 ปี
สำหรับประวัติของนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าฯปัตตานีคนใหม่ เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาระดบปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับสอง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จบหลักสูตรปลัดอำเภอ รุ่นที่ 109 และหลักสูตรนักเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 48 เส้นทางชีวิตราชการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น ปี 2550 เป็นนายอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ปี 2554 เป็นนายอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา ปี 2556 เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ปี 2557 เป็นปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2558 เป็นรองผู้ว่าฯพิษณุโลก และปี 2559 เป็นรองผู้ว่าฯแพร่ ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เมื่อปี 2563
พูดถึงการเป็นผู้ว่าฯที่เหลืออายุราชการเพียง 1 ปี ในความรู้สึกและความเชื่อของคนทั่วๆ ไป ก็คือการเป็นผู้ว่าฯรอเกษียณ น่าจะไม่ค่อยมีไฟในการพัฒนามากนัก ประกอบกับระยะเวลาเพียงปีเดียวและเป็นปีสุดท้ายของอายุราชการ ทำให้การริเริ่มโครงการใหม่ๆ ไม่ค่อยเกิดขึ้น เนื่องจากขาดความต่อเนื่อง และไม่กล้าทำอะไรเสี่ยงๆ เพราะเกรงจะต้องเดือดร้อนหลังพ้นจากหน้าที่ กลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้ว (ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ว่าฯปีสุดท้ายต้องเป็นแบบนี้ทุกคน)
เหตุนี้เอง จู่ๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ส.ค.64 ก็มีมือมืดปฏิบัติการติดป้ายไวนิลหลายป้าย ในย่านศูนย์ราชการของเมืองปัตตานี แต่ละป้ายเขียนข้อความต่างๆ กันไป แต่สาระสำคัญใกล้เคียงกันว่า "ปัตตานีไม่ใช่ที่ให้คนมาเกษียณ", "เห็นจังหวัดเราเป็นอะไร", "ปัตตานีไม่เอาผู้ว่าฯปีเดียว", "ส่งผู้ว่าให้มาเกษียณที่ตานี อย่าดูถูกคนปัตตานี", "คนปัตตานีก็เสียภาษี แต่ส่งของใกล้หมดอายุมาเป็นผู้ว่าฯ"
เมื่อทีมข่าวสำรวจดู ก็พบว่ามีการติดตั้งป้ายไวนิลในย่านเศรษฐกิจและศูนย์ราชการใจกลางเทศบาลเมืองปัตตานี ประกอบด้วย หน้าศาลากลางจังหวัด, บนสะพานศักดิ์เสนีย์, หน้าศาลหลักเมือง, หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งบนถนนสามัคคีสาย ก. และวงเวียนหอนาฬิกา ม.อ.ปัตตานี ถนนเจริญประดิษฐ์ ปรากฏว่าป้ายดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชน พากันถ่ายภาพและโพสต์ลงโซเซียลมีเดียกันอย่างคึกคัก และมีการวิพากษ์วิจารณ์ คอมเมนท์แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ทีมข่าวลงพื้นที่สอบถามความเห็นของประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา และพบเห็นป้ายไวนิลไม่ต้อนรับผู้ว่าฯรอเกษียณ ปรากฏว่าทุกคนมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน คือ น้อยเนื้อต่ำใจ
นาซือม๊ะ มูหะมัด สาวเจ้าของร้านขายโรตี ซึ่งตั้งร้านอยู่ห่างไม่ห่างจากป้ายไวนิล กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบข่าวที่จะมีผู้ว่าฯคนใหม่ลงมา เพราะผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ตนเองก็แทบจะจำไม่ได้
"ปัตตานีบ้านเราเขาอาจจะมองว่าไม่มีอะไร ส่งผู้ว่าฯมาแค่รอเกษียณอายุราชการ ทั้งที่ปัตตานีต้องมีเรื่องที่ปรับปรุงอีกตั้งเยอะ อยากเห็นผู้ว่าฯลงมาสัมผัสพื้นที่บ้างว่าแม่ค้าแต่ละคนต้องลำบากขนาดไหน และควรให้อยู่ 2 ปีขึ้นไป เพราะจะได้สัมผัสใกล้ชิดชาวบ้านได้มากยิ่งขึ้น ถ้ามาอยู่แค่ปีเดียวก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย เพราะบ้านเรามีวัฒนธรรมหลากหลาย อยากให้คนที่มาเป็นผู้ว่าฯ ได้ศึกษามาก่อนและรู้จริง ไม่ใช่ใครก็ได้"
คอลีเยาะ หะหลี แกนนำสตรีบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ในฐานะคนปัตตานี ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งผู้ว่าฯ มารอเกษียณ 1 ปี ที่ปัตตานี เนื่องจากเวลาปีเดียวไม่เพียงพอที่จะจัดการหรือบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัตตานีมีปัญหามากมายสะสมอยู่ อยากได้ผู้ว่าฯที่มีความสามารถ และต้องเป็นผู้ว่าฯที่รู้จักบริบทในพื้นที่ รู้วิถีชีวิตของคนปัตตานี ถึงจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้
"ทุกคนก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อยากให้ภาครัฐคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ และทบทวนใหม่ เอาคนที่เข้าใจพื้นที่จริงๆ มาทำงาน" คอลีเยาะ กล่าว และว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่นี้ไม่ใช่ว่าประชาชนเกลียดหรือว่าไม่ชอบ เพียงแต่ต้องการคนที่รู้จริง รู้พื้นที่ รู้ชาวบ้าน ถึงจะแก้ปัญหาได้"
ด้านเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ปัตตานี กล่าวว่า ผู้ว่าฯ 1 ปี เหมือนมาพักผ่อนก่อนเกษียณ ชาวบ้านรู้ดี จึงไม่อยากได้ ข้าราชการเองยิ่งรู้ชัด เพราะผู้ว่าฯรอเกษียณมักเกียร์ว่าง ไม่มีผลงาน สุดท้ายก็ทิ้งปัญหาใหัคนปัตตานี
จากการสอบถามความรู้สึกของชาวบ้านอีกหลายคน มีอารมณ์รุนแรงถึงขนาดตั้งคำถามว่า "ปัตตานีเป็นจังหวัดโดนสาปหรืออย่างไร"
ทีมข่าวได้ย้อนตรวจสอบรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2564 รวม 17 ปี มีผู้ว่าฯที่ดำรงตำแหน่งปีเดียวถึง 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณ ได้แก่
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 39 นายเสนอ จันทรา (1 ต.ค.46 - 30 ก.ย.47)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 40 นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา (1 ต.ค.47 - 30 ก.ย.48)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 43 นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล (4 ต.ค. 53 - 30 ก.ย.54)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 44 นายธีระ มินทราศักดิ์ (28 พ.ย.54 - 30 ก.ย. 55)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 45 นายประมุข ลมุล (1 ต.ค.55 - 30 ก.ย.56)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 46 นายวิทยา พานิชพงศ์ (1 ต.ค.56 - 30 ก.ย.57)
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 48 นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ (29 มี.ค.59 - 30 ก.ย.59) เท่ากับอยู่ไม่ถึง 1 ปี
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่ 51 นายราชิต สุดพุ่ม (1 ต.ค.63 ถึงปัจจุบัน)
ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา คือ 10 ปีหลังมานี้ มีผู้ว่าฯปัตตานีเพียง 3 คนที่ดำรงตำแหน่งเกิน 1 ปี คือ นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ (3 พ.ย. 57 - 28 มี.ค. 59) นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ (1 ต.ค. 59 - 30 ก.ย. 61) และ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ (1 ต.ค.61 - 30 ก.ย.63)