เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้มีแค่ม็อบกับฝ่ายค้าน รวมทั้งประชาชนที่ทนไม่ไหวกับการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลเท่านั้น
แต่ยังมีขบวนการ “บีอาร์เอ็น” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นขบวนการหลักที่มีนักรบติดอาวุธมากที่สุดในปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงเพื่อต่อสู้กับรัฐไทยตลอดกว่า 17 ปีที่ผ่านมาด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ บีอาร์เอ็น ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอแถลงการณ์ พูดถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโควิดของรัฐบาล และมีการแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าคำที่ใช้เรียกขานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บางช่วงบางคนใช้คำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” ทั้งที่แต่เดิมใช้คำว่า “รัฐบาลของนักล่าอาณานิคมสยาม” เท่านั้น
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น อ้างว่า มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ทำให้ชาวปาตานีเดือดร้อน และรัฐบาลยังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปโจมตีกองทัพของนักต่อสู้ปาตานีที่กำลังเก็บตัวเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ป่วยโควิดอีกด้วย ถือเป็นปฏิบัติการที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน
สาเหตุของการออกแถลงการณ์นี้ ฝ่ายความมั่นคงมองว่า เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา บรรดากลุ่มติดอาวุธถูกพิสูจน์ทราบถิ่นที่อยู่ และถูกปิดล้อมยิงปะทะ จนถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตไปหลายศพ โดยข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า บรรดากลุ่มติดอาวุธไม่ได้เก็บตัวเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานตามที่อ้าง แต่เป็นการซ่องสุมกำลังเพื่อเตรียมการก่อเหตุใหญ่ โดยจับจังหวะวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ และคาดว่าจะโหมหนักในช่วงเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องเดือนกันยายน ซึ่งสถานการณ์การเมืองในส่วนกลางน่าจะกำลังร้อนแรงถึงขีดสุดพอดี
@@ กลุ่มติดอาวุธยอมตาย เข้าข่ายพลีชีพ?
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ สถานการณ์ไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 17 ปี แม้จะมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงตามลำดับ แต่ความเข้มข้นของการสืบทอดอุดมการณ์การต่อสู้...กลับไม่ลดลง
ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้น และยิงปะทะกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.64 ทำให้ นายรอซาลี หลำโสะ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 9 หมายจับเสียชีวิต ปรากฏว่าแม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเจรจาเป็นเวลาหลายชั่วโมงให้ยอมมอบตัว ทั้งยังให้โต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นพ่อตา และกำนันในพื้นที่มาช่วยกันเกลี้ยกล่อมด้วย แต่เจ้าตัวกลับไม่ยอม และสุดท้ายก็ “สู้ตาย”
ที่น่าตกใจก็คือ เจ้าหน้าที่ไปตามพ่อกับแม่ของนายรอซาลี ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อให้มาช่วยเกลี้ยกล่อม แต่ปรากฏว่าพ่อกับแม่ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “พูดอย่างไรเขาก็ไม่ยอมมอบตัว”
พฤติการณ์ของนายรอซาลี ไม่ต่างจากกลุ่มติดอาวุธที่ฝ่ายบีอาร์เอ้นเรียกว่า “นักรบ” อีกหลายๆ คนที่โดนปิดล้อมและยิงปะทะในห้วงหลายปีหลัง เพราะแทบไม่เคยมีใครยอมมอบตัวเลย โดยทั้งหมดยอมสู้ตาย ซึ่งชาวบ้านที่ทราบเหตุการณ์พากันนับถือน้ำใจ ขณะที่บางส่วนเริ่มรู้สึกว่า การตัดสินใจของบรรดา “นักรบ” เหล่านั้น น่าจะเข้าข่าย ”พลีชีพ” เหมือนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน แม้จะยังไม่ถึงขั้น “ระเบิดพลีชีพ” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากบรรดาสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกก็ตาม
ไม่ใช่แค่ชาวบ้านในพื้นที่ที่นับถือน้ำใจ แต่เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังยอมรับในฐานะนักรบด้วยกัน
“ในฐานะนักรบคนหนึ่ง ก็ยอมรับในอุดมการณ์ของคนกลุ่มนี้ที่ยอมตายมากกว่าจะมอบตัว”
@@ “วันทหาร บีอาร์เอ็น” เคยประเดิมบึ้มกรุง - หน้า สตช.
ขณะที่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุวิสามัญฯ รอซาลี หลำโสะ ใกล้เคียงกับวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ คือ “วันทหาร” หรือวันสถาปนากองกำลังของบีอาร์เอ็น ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม
ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 31 ก.ค. มีความพยายามก่อเหตุระเบิดถังแก๊ส น้ำหนักกว่า 25 กิโลกรัม โจมตีรถยนต์ของนายอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ขณะเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจ เหตุเกิดในพื้นที่ อ.ยี่งอ โชคดีที่ระเบิดไม่ตรงเป้า 100% และรถที่นายอำเภอใช้เป็นรถหุ้มเกราะ ทำให้รอดตายมาได้หวุดหวิด มีเพียง อส.ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย
ขณะที่วันนี้ 2 ส.ค. บรรดาแนวร่วมและสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบได้พร้อมใจกัน “ถือศีลอด” หรือ “ปอซอ” เพื่อรวมใจกันเป็นหนึ่ง เนื่องในโอกาส “วันทหาร” ของบีอาร์เอ็นด้วย
ความสำคัญของ “วันทหาร” ของบีอาร์เอ็น เคยเป็นวันดีเดย์ก่อเหตุระเบิดหน้าหน่วยงานความมั่นคงและย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมากกว่า 20 จุด ระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.62 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ช่วงเดียวกับที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน
โดยจุดแรกที่พบระเบิด คือ ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นโรงแรมที่จัดประชุมอาเซียน
จากนั้นก็มีระเบิดถูกตั้งเวลาให้ทำงานต่อเนื่องกันอีกราวๆ 20 ลูก ทั้งหน้าศูนย์ราชการ อาคารบี, กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ, หน่วยทหารย่านศรีสมาน, สถานีรถไฟฟ้า, ย่านการค้าบริเวณสยามและประตูน้ำ โดยส่วนหนึ่งเป็นระเบิดเพลิง
@@ สุมไฟผสมโรงไล่รัฐบาล
เมื่อประมวลภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการโจมตีชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ของทหารพรานริมแม่น้ำโก-ลก ชายแดนไทย-มาเลเซีย ฝั่ง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยใช้ไปป์บอมบ์ถึง 19 ลูก ไม่นับอาวุธสงครามที่ระดมยิงใส่ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่พลีชีพ 1 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย
คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มความรุนแรงจะไม่หยุดลงแค่นี้ เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังดำรงความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติการต่อไป โดยเฉพาะเมื่อ “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม”
ยิ่งสถานการณ์ของรัฐบาลซวนเซอย่างยิ่งจากปัญหาโควิด-19 ยิ่งเป็นโอกาสทองของกลุ่มก่อความไม่สงบที่จะช่วยโหมกระพือความล้มเหลวมากขึ้นจากปัญหาไฟใต้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาของ “รัฐบาลทหาร” ไม่ยืดหยุ่นอ่อนตัวเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
บทสรุปส่งท้ายจึงหนีไม่พ้นการโหมกระหน่ำไฟใต้ เพื่อซ้ำเติมสถานการณ์การเมือง โดยมี “วันทหาร” 1 สิงหาคม เป็นหมุดหมายสำคัญ!