สาธารณสุขปูพรมตรวจเชิงรุกแรงงานท่าเทียบเรือปัตตานี พร้อมสั่งปิดหมู่บ้านดือราแฮ ต.ตะลุโบะ ต่อไป หลังตรวจพบติดเชื้ออีก 26 ราย ขณะที่เบตงเข้มรถบรรทุกสินค้ามาเลย์ผ่านด่าน เหตุมีคนขับติดโควิด ทำ จนท.-แรงงานไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ 28 คน ด้านหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 45 ผุดไอเดียผลิตเตียงไม้ไผ่หนุนโรงพยาบาลสนามนราธิวาส
วันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่มีผู้ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เร่งเข้าทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ ที่พบว่า มีผู้เสี่ยงติดเชื้อ เพื่อควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองปัตตานี ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะลุโบะ ,กองทุนหลักประกันสุขภาพ , อบต.ตะลุโบะ ,กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ม.8 บ้านดือราแฮ ได้ร่วมมือคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมภายในบ้านดือราแฮ ม.8 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ณ สนามกีฬาภายในหมู่บ้าน โดยผลปรากฎว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 26 ราย ทำให้มีการปิดหมู่บ้านต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้หมู่บ้านดือราแฮ ได้พบผู้ป่วยโควิด-19 จนต้องปิดหมู่บ้านมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.
ด้านนักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.ตะลุโบะ รายหนึ่งที่ร่วมตรวจคัดกรอง กล่าวว่า เมหากจะเปิดหมู่บ้านได้ จะต้องตรวจเชิงรุกให้มั่นใจก่อนว่า จะไม่มีผู้ตกค้างที่ติดเชื้ออยู่ จากกลุ่มเป้าหมายในการตรวจคัดกรองเชิงรุกในวันนี้ ทั้งหมด 442 ราย ตรวจมาแล้ว 350 ราย พบติดเชื้อ 26 ราย และจะมีการตรวจคัดกรองครั้งที่ 2 อีกในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ทำให้ต้องปิดหมู่บ้านต่อไปจนกว่าจะตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
@@สาธารณสุขปูพรมตรวจเชิงรุกแรงงานที่ท่าเทียบเรือปัตตานี
ที่ท่าเทียบเรือปัตตานี ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้แก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือปัตตานี ทั้งกลุ่มผู้ค้า กลุ่มแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากท่าเทียบเรือปัตตานี ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดจากการเป็นแหล่งซื้อขายอาหารทะเลและมีผู้เกี่ยวข้องกับสถานที่นี้จำนวนมากจากหลายกลุ่ม
นายกฤษณ์พสุ เจริญ ผู้จัดการสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในท่าเรือสะพานปลาปัตตานี ทางสมาคมการประมง ท่าเทียบเรือ องค์การสะพานปลา ได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนร่างมาตรการในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยการเฝ้าระวัง คัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัส เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาและกักกันโรค มีการดำเนินการ เพื่อปรับระบบในสะพานปลาในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่(New Nomal) การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การออกมาตรการร่วมกันของชุมชนและภาครัฐภายใต้ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกๆหน่วยงานเป็นอย่างดี
@@คนขับรถบรรทุกมาเลย์ติดโควิดผ่านด่านเบตง ทำ จนท.-แรงงานเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ 28 ราย
จากกรณีที่มีพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าจากประเทศมาเลเซียที่ได้ขับรถเข้ามารับสินค้า ณ ลานขนถ่ายสินค้าด่านศุลกากรเบตง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.64 ที่ผ่านมา เดินทางกลับไปยังประเทศมาเลเซียแล้วไปตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นเจ้าหน้าที่ด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ให้ทราบผลการตรวจ พร้อมแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่และแรงงานไทยที่ปฏิบัติงานในวันดังกล่าวทราบ เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ จำนวน 28 ราย
วันนี้ (29 ก.ค.64) ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเบตง เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง เจ้าหน้าที่ศุลกากรเบตง ได้เพิ่มความเข้มในการคัดกรองพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าจากประเทศมาเลเซีย โดยผ่านการตรวจสแกนอย่างละเอียดทุกขั้นตอน รวมถึงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฉีดพ่นรถบรรทุกพ่วง รถบรรทุกสินค้า จากประเทศมาเลเซียทุกคัน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้มีการจำกัดพื้นที่ในการเข้ามารับสินค้า และต้องเดินทางกลับก่อนเวลา 16.00 น. ทุกวัน
นางสาวธัญณภัส ชาระ หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง กล่าวว่า จากการติดเชื้อของพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าจากประเทศมาเลเซียรายดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่และแรงงานไทยที่ทำงานในวันนั้น ถือว่าเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อจากผู้ป่วย สามารถทำงานได้ตามปกติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
ล่าสุดแรงงานไทยที่ขนถ่ายสินค้าในวันดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านชุมชนบ้านกาแป๊ะฮูลู ซึ่งเป็นชุมชนที่ติดชายแดนไทยมาเลเซีย ได้เข้ารับการสวอปจากทางโรงพยาบาลเบตงแล้ว ทางแพทย์ได้พิจารณาแล้วควรหยุดทำงาน 1 วัน จากนั้นสามารถทำงานได้ตามปกติ พร้อมให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัด
@@ฉก.ทพ.45 ผุดไอเดียผลิตเตียงไม้ไผ่ให้โรงพยาบาลสนามนราธิวาส
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จ.นราธิวาส มีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักร้อยมาหลายวันติด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม จนทางสาธารณสุขจังหวัดต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
ล่าสุดทางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ทั้ง 16 กองร้อย ได้ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจทำเตียงไม้ไผ่ เพื่อทำเป็นเตียงสนามใช้รองรับผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ตอนนี้ทำได้ประมาณ 60-70 เตียงแล้ว จากเป้าที่ตั้งไว้ 300 เตียง โดยได้รับการสนับสนุนไม้ไผ่จากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเตียงที่ผลิตให้โรงพยาบาล เป็นเตียงขนาดยาว 2 เมตร กว้าง 90 ซ.ม.
พ.อ.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.ทพ.45 กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วหาเตียงยากมาก เพราะโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวคิดว่า ถ้าเรามีเตียงให้ รพ.แต่ละแห่ง จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น จึงได้ให้ทางกำลังพลของหน่วยร่วมกันทำเตียงไม้ไผ่ขึ้น เพื่อเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือให้โรงพยาบาลสนามใช้รองรับผู้ป่วยได้ทันสถานการณ์
ตอนนี้ทางหน่วยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัดนราธิวาส เพื่อสนับสนุนภารกิจประกอบเตียงช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังขาดแคลนเตียงอีกจำนวนมาก ขณะนี้กำลังพลเร่งผลิตเตียง เพื่อรวบรวมเตียงทั้งหมดมอบให้แก่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส
@@ชายแดนใต้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ยังว่างเพียบ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 29 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 941 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 862 เตียง คงเหลือ 79 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,201 เตียง ใช้ไป 1,808 เตียง คงเหลือ 1,393 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:129
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 753 เตียง คงเหลือ 180 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,406 เตียง คงเหลือ 429 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:13
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 597 เตียง คงเหลือ 194 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 901 เตียง คงเหลือ 187 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:128
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 593 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 536 เตียง คงเหลือ 57 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,680 เตียง ใช้ไป 759 เตียง คงเหลือ 921 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:152
@@4 จังหวัดชายแดนใต้ติดเชื้อใหม่รวม 933 ราย เสียชีวิตรวม 9 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 241 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 8,650 ราย รักษาหายแล้ว 5,428 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 115 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 176 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 729 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 99 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 805 ราย โรงพยาบาลชุมชน 475 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 40 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 182 ราย Home Isolation 124 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 460 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 7 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 2,792 ราย, อ.หนองจิก 1,167 ราย, อ.โคกโพธิ์ 481 ราย, อ.ยะหริ่ง 837 ราย, อ.สายบุรี 447 ราย, อ.ไม้แก่น 119 ราย, อ.แม่ลาน 191 ราย, อ.ยะรัง 999 ราย, อ.ปะนาเระ 412 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 203 ราย, อ.มายอ 798 ราย และ อ.กะพ้อ 115 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 220 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 6,716 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,348 ราย รักษาหายแล้ว 4,316 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 52 ราย อยู่ระหว่างรอผล 1,449 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,644 ราย, อ.กรงปินัง 623 ราย, อ.เบตง 357 ราย, อ.รามัน 568 ราย, อ.บันนังสตา 1,208 ราย, อ.กาบัง 224 ราย อ.ธารโต 535 ราย และ อ.ยะหา 557 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,348 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 179 ราย โรงพยาบาลเบตง 63 ราย รพช.6 แห่ง 355 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 57 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 761 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 6 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 245 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 126 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 8 ราย Bubble & Seal (3 แห่ง) 127 ราย รักษาตัวที่บ้าน 13 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 408 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 257 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 100 ราย, อ.ตากใบ 2 ราย, อ.ยี่งอ 6 ราย, อ.จะแนะ 8 ราย, อ.แว้ง 8 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.รือเสาะ 2 ราย, อ.บาเจาะ 12 ราย , อ.ระแงะ 26 ราย, อ.ศรีสาคร 7 ราย, อ.เจาะไอร้อง 1 ราย, อ.สุไหงปาดี 24 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 59 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 5,835 ราย รักษาหายสะสม 4,229 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,310 ราย, อ.ระแงะ 681 ราย, อ.รือเสาะ 312 ราย, อ.บาเจาะ 427 ราย, อ.จะแนะ 346 ราย, อ.ยี่งอ 286 ราย, อ.ตากใบ 850 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 301 ราย, อ.สุไหงปาดี 298 ราย, อ.ศรีสาคร 268 ราย, อ.แว้ง 279 ราย, อ.สุคิริน 188 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 290 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 215 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 194 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 20 รายและผู้ติดเชื้อจากโคงการคนสงขลาไม่ทิ้งกัน 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 11,378 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 11,355 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,680 ราย รักษาหายแล้ว 8,636 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 62 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 997 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 2,859 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,888 ราย, อ.จะนะ 1,380 ราย, อ.สิงหนคร 884 ราย, อ.เทพา 735 ราย, อ.สะเดา 614 ราย, อ.สะบ้าย้อย 502 ราย, สทิงพระ 302 ราย, อ.บางกล่ำ 256 ราย, อ.นาทวี 197 ราย, อ.นาหม่อม 173 ราย, อ.รัตภูมิ 165 ราย, อ.ระโนด 89 ราย, ควนเนียง 61 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 60 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 77 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย