อันตรายทุกสายพันธุ์! ปัตตานีพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโควิด เป็นสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 80% ทั้งกลุ่มสูงอายุ - 7 โรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นราธิวาสสุดอั้นเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8 ส่วนที่เบตงชาวบ้านโวยโรงพยาบาลเปิดวอล์คอินรับวัคซีน ทำคนแน่นคิวนานเสี่ยงคลัสเตอร์ใหม่ ขณะที่สงขลาติดเชื้อสะสมทะลุหมื่นราย
วันศุกร์ที่ 23 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังน่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมล่าสุดที่สูงถึง 85 ราย
ทันตแพทย์สมฤทธิ์ จิโรจน์วณิชชากร ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ในฐานะโฆษกศูนย์สื่อสารสถานการณ์โควิดจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องอัตราการตายจากโควิด ตอนนี้เราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเขตแล้ว ส่วนใหญ่เป็น "กลุ่มสูงอายุ" อายุเฉลี่ย 68 ปี ที่น่าสนใจคือ มีกลุ่ม 30, 40 ปี เสียชีวิตด้วย ก็ขอให้อย่าชะล่าใจว่า โควิดรุนแรงเฉพาะในกลุ่มอาวุโสสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวลด้วย และเกือบ 100% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อธิบายตามหลักสถิติได้ดังนี้ ใน 74 รายที่เสียชีวิต (ณ วันที่ 21 ก.ค.64) มีกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 48 ราย มีกลุ่มที่เป็นผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 45 ราย (บางรายสูงอายุด้วย และมีโรคเรื้อรังด้วย) ซึ่งทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 71 ราย ซึ่งการแจกแจงลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตของปัตตานี เกินร้อยละ 95 มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว 7 โรค รวมถึงการไม่ได้รับวัคซีน จึงเห็นควรให้กลุ่มดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน
ทันตแพทย์สมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสายพันธุ์ที่พบในผู้เสียชีวิตของปัตตานี เป็น อัลฟ่า 80% เบต้า 15% เดลต้า 5 % ดังนั้นทุกสายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่ยังคงเป็น อัลฟ่า 80-90% นั่นคือ ขอให้กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รีบเข้ามารับวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด วัคซีนชนิดใดก็ได้ ขอให้เข้ามาฉีดก่อน ถือว่าใส่เกราะกันไว้ก่อน
ด้าน นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เราต้องร่วมมือกันอยู่บ้าน ไม่กระจายเชื้อเพื่อชาติกันจริงๆ ให้ได้ เชื่อว่าหลังจากความร่วมมืออยู่บ้านตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. จะทำให้ตัวเลขหลังวันที่ 20 กค.ถึงปลายเดือนจะค่อยๆดีขึ้น อยากให้กำลังใจประชาชนที่ให้ความร่วมมือดีๆ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และให้กำลังใจผู้ป่วย รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงสูงด้วย ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในครั้งนี้ ไม่มีใครมีเจตนาจะรับเชื้อ และหลายคนไม่ได้ประมาท โปรดให้ความเห็นใจ เข้าใจสถานการณ์ที่ระบาดหนักมากๆ ในช่วงนี้
@@ นราธิวาสสุดอั้นเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8
ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยปลัดจังหวัด นายอำเภอระแงะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8 เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยโควิด - 19 ที่ไม่มีอาการ เป็นการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นในขณะนี้
นายเจษฎา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาลทุกแห่งและโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ทั้ง 5 แห่งที่คอยรองรับผู้ป่วยอาจไม่เพียงพอและมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการควบคุมป้องกันโรค และการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8 เพิ่มเติม
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8 อยู่ในพื้นที่ อ.ระแงะ รองรับผู้ป่วยกลุ่มติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการได้จำนวน 300 เตียง โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับโรงพยาบาลระแงะ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอระแงะ ได้จัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ไว้คอยดูแลผู้ป่วย ประกอบด้วย แพทย์ 2 คน พยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10 คน รวมทั้งพนักงานทำความสะอาด 2 คน
@@ ยะลาฉีดลุยเข็ม 3 บุคลากรด่านหน้า
ที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหน้าของจังหวัด แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข เข้ารับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิ ทั้งนี้เป็นไปตามแถลงของ ศบค.ส่วนกลาง ให้ฉีดบูสเตอร์โดส (เข็ม 3) ให้คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิ ครอบคลุมและการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยการบูสต์เข็ม 3 จะเป็นการฉีดแอสตร้าเซเนก้า
นางสาวนูรียันนะห์ หะยีวาเงาะ พยาบาล โรงพยาบาลยะลา กล่าวว่า เป็นบุคลากรด่านหน้า ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลยะลา ดูแลคนไข้โควิด-19 การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในวันนี้เพื่อกระตุ้นภูมิ สร้างความเชื่อมั่นในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยส่วนตัวมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะสามารถช่วยกระตุ้นให้การทำงานของวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิป้องกันให้กับตนเอง ในการทำงานดูแลคนไข้
@@ ชาวบ้านเบตงโวยเปิดวอล์คอินวัคซีนหวั่นคลัสเตอร์ใหม่
ส่วนที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปเข้าคิวรอฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการต่อแถวยาวตลอดทางเข้าโรงพยาบาล จนถึงหน้าสหกรณ์ของโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นวันแรกที่เปิดให้ประชาชนสามารถวอล์คอินเข้ามาฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลเบตงโดยไม่ต้องลงทะเบียนจองมาก่อน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาตามนัดไม่พอใจ เพราะต้องต่อคิวรอนาน
โดยประชาชนรายหนึ่งที่มารอฉีดวัคซีน กล่าวว่า ทำไมโรงพยาบาลไม่แบ่งเป็นวัน คนลงทะเบียนยังฉีดไม่ครบเลย เปิดวอล์คอินแล้วแบบนี้ จะลงทะเบียนเพื่ออะไร ทางโรงพยาบาลต้องจัดแบ่งวันเวลาใหม่แล้ว ไม่ใช่เรียกมาพร้อมกันหมด ถ้าในนั้นมีคนติดโควิดสักคนจะเป็นอย่างไร คนเยอะขนาดนี้ จะมาบอกให้เว้นระยะ ก็คงทำยาก
@@ ยะลาวิกฤติเตียงโรงพยาบาลเหลือแค่ 26
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 23 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 947 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 809 เตียง คงเหลือ 138 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,186 เตียง ใช้ไป 2,021 เตียง คงเหลือ 1,165 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:144
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 601 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 557 เตียง คงเหลือ 44 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,440 เตียง คงเหลือ 395 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:14
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 569 เตียง คงเหลือ 22 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 1,084 เตียง คงเหลือ 4 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:158
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 581 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 601 เตียง คงเหลือ -20 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,450 เตียง ใช้ไป 578 เตียง คงเหลือ 872 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม อยู่ที่ 1:115
@@ สงขลายอดติดเชื้อสะสมทะลุหมื่นราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 149 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 7,216 ราย รักษาหายแล้ว 4,211 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 85 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 164 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 757 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 683 ราย โรงพยาบาลชุมชน 472 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 39 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 172 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 627 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 6 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 2,317 ราย, อ.หนองจิก 1,092 ราย, อ.โคกโพธิ์ 449 ราย, อ.ยะหริ่ง 842 ราย, อ.สายบุรี 336 ราย, อ.ไม้แก่น 108 ราย, อ.แม่ลาน 165 ราย, อ.ยะรัง 592 ราย, อ.ปะนาเระ 320 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 168 ราย, อ.มายอ 643 ราย และ อ.กะพ้อ 109 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 101 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 5,667 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,398 ราย รักษาหายแล้ว 3,222 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย อยู่ระหว่างรอผล 3,254 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,303 ราย, อ.กรงปินัง 577 ราย, อ.เบตง 327 ราย, อ.รามัน 455 ราย, อ.บันนังสตา 930 ราย, อ.กาบัง 210 ราย อ.ธารโต 405 ราย และ อ.ยะหา 460 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,398 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 157 ราย โรงพยาบาลเบตง 52 ราย รพช.6 แห่ง 360 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 57 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 698 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 11 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 233 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 124 ราย Bubble & Seal (3 แห่ง) 240 ราย รักษาตัวที่บ้าน/ปฏิเสธการรักษา 68 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 380 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 146 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 1 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2 ราย, อ.เจาะไอร้อง 3 ราย, อ.เมือง 44 ราย, อ.สุไหงปาดี 1 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.ตากใบ 84 ราย, อ.ยี่งอ 7 ราย, อ.แว้ง 1 ราย และ อ.รือเสาะ 2 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 4,735 ราย รักษาหายสะสม 3,368 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 43 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,098 ราย, อ.ระแงะ 519 ราย, อ.รือเสาะ 236 ราย, อ.บาเจาะ 370 ราย, อ.จะแนะ 298 ราย, อ.ยี่งอ 220 ราย, อ.ตากใบ 757 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 216 ราย, อ.สุไหงปาดี 227 ราย, อ.ศรีสาคร 235 ราย, อ.แว้ง 202 ราย, อ.สุคิริน 123 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 234 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 234 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 154 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 48 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 10 ราย และกลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 22 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 10,113 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 10,090 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,794 ราย รักษาหายแล้ว 7,264 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 55 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 662 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 2,516 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,697 ราย, อ.จะนะ 1,225 ราย, อ.สิงหนคร 726 ราย, อ.เทพา 677 ราย, อ.สะเดา 516 ราย, อ.สะบ้าย้อย 414 ราย, สทิงพระ 297 ราย, อ.บางกล่ำ 231 ราย, อ.นาทวี 172 ราย, อ.นาหม่อม 151 ราย, อ.รัตภูมิ 106 ราย, อ.ระโนด 84 ราย, ควนเนียง 61 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 39 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 65 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย