ปัตตานี สั่งปิดสถานที่เสี่ยงพร้อมล็อคดาวน์บางพื้นที่ตามมติ ศบค. ด้าน ฉก.นราธิวาส ลาดตระเวนเข้มแนวชายแดนทางน้ำ ทั้งควบคุมเข้า-ออก จุดตรวจด่านรอยต่อจังหวัด ขณะที่สถานการณ์เตียงโรงพยาบาลหลักในแต่ละจังหวัดเหลือไม่ถึง 100 เตียง นราธิวาสหนักสุด ติดลบ 17 เตียง
วันอาทิตย์ที่ 11 ก.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนมากและมีผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ซึ่งมีการห้ามออกจากเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยจะเริ่มในวันพรุ่งนี้ ( 12 ก.ค.64)
ที่ จ.ปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดปัตตานี ได้ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 17/2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักร้อยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นพื้นที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นมา เกิดจากหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มัรกัสยะลา ปอเนาะ และศาสนสถาน ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดปัตตานี รวมถึงสถานศึกษาและหมู่บ้าน ชุมชนของแต่ละอำเภอ ซึ่งได้ทำการปิดไปแล้วกว่า 20 หมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาตามที่ ศบค. มีมติมาตรการคุมเข้มปิดสถานที่เสี่ยงโควิด-19 และการประกาศล็อกดาวน์ตามความจำเป็นบางพื้นที่ไม่ใช่ทั่วประเทศ เพื่อออกคำสั่งจังหวัดที่เริ่มมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 12 ก.ค.64 และเตรียมออกประกาศจังหวัดปัตตานี เกี่ยวกับแนวทางและวิธีการปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ปัจจุบัน ตามประกาศของจุฬาราชมนตรีด้วย
@@ฉก.นราธิวาส ลาดตระเวนเข้มแนวชายแดนทางน้ำ
ด้านพล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ลงพื้นที่ร่วมลาดตระเวนทางน้ำ พร้อมกำชับเพิ่มมาตรการ เข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย ตามลำน้ำตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรวจสอบช่องทางข้ามธรรมชาติของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย ด้านจังหวัดนราธิวาส กับรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นจุดสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีผู้ลักลอบเข้าประเทศ
ทั้งสั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ เพิ่มมาตรการคุมเข้มตลอดแนวชายแดน สกัดกั้นพื้นที่รับผิดชอบ อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพิ่มมาตรการในการลาดตระเวน โดยให้หน่วยได้บูรณาการ การปฏิบัติงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด การเสริมกำลังตามแนวชายแดน โดยเฉพาะช่องทางที่มีชุมชนหรือหมู่บ้านอาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดน การจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และการจัดตั้งแหล่งข่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลักลอบการหลบหนีเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย
@@นราธิวาส เข้มควบคุมเข้า-ออก จังหวัด
ที่บริเวณด้านตรวจร่วมบาตู ฝั่งขาออก ต.บาลูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นด่านรอยต่อระหว่าง อ.สายบุรีและ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี โดยมีการตั้งด่านตรวจฯ 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย อาทิ ตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน จ.นราธิวาส ตั้งด่านตรวจเข้มควบคุมการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างจังหวัด ซึ่งมีการตรวจเอกสารรับรองความจำเป็นการขออนุญาตเข้า-ออกเดินทางไปนอกพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นไปตามคำสั่งจังหวัดนราธิวาส เรื่องการจัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัดเข้มข้นในพื้นที่ เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ส่วนทางด้านฝั่งขาเข้าที่ด่านตรวจร่วมบาตู ต.บาลูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฯ และอสม ก็ได้ตรวจคัดกรองเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้า-ออก จ.นราธิวาส โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยในภาพรวมประชาชนที่เข้า-ออกในพื้นที่ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
@@มอบของสถานที่กักตัว 3 อำเภอยะลา
ที่ จ.ยะลา จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สถานที่กักตัวดูอาการไม่เพียงพอ ทำให้หลายๆพื้นที่ ใน จ.ยะลา ได้ร่วมกับภาครัฐ สร้างศูนย์สังเกตเริ่มป่วย (LQ) ในหมู่บ้าน บางพื้นที่ใช้โรงเรียนรัฐ เป็นที่สังเกตอาการ เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมอาการของผู้กักตัว อยู่ครบ 10 วัน ไม่มีอาการติดเชื้อใดๆ ก็กลับบ้านใช้ชีวิตปกติ หากมีการติดเชื้อโควิด-19 ก็นำไปยังโรงพยาบาลสนาม เพื่อการรักษาต่อไป
ทางหน่วยเฉพาะกิจยะลา โดย พ.อ.อัฑฒเศรษฐ์ เต็มมีศรี รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ร่วมกับชมรมเพื่อนบัณฑิตจิตอาสา 3 จชต. ซึ่งนำโดยนายซืนลัน ตายาลอ ประธานชมรมเพื่อนบัณฑิต 3 จชต. พร้อมภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตอาสา ได้นำน้ำดื่ม 200 แพค กาแฟสำเร็จทูอินวัน 20 แพค ขนมเค้ก 20 แพค นมกล่อง 5 แพค และขนมปังปี๊บ 5 ปี๊บ ไปมอบให้สถานที่กักตัวสังเกตุอาการในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา อ.กาบัง และ อ.ยะหา
@@เบตงปิดชุมชนบ้านกาแป๊ะฮูลู เป็นพื้นที่เสี่ยง
ที่ อ.เบตง นายสาธิต ดาเด๊ะ ประธานชุมชนบ้านกาแป๊ะฮูลู นำคณะกรรมการชุมชนมอบถุงยังชีพที่ได้รับจากผู้บริจาคในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด- 19) ในชุมชนบ้านกาแป๊ะฮูลู หลังพบผู้ติดเชื้อในชุมชนก่อนหน้านี้ และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเบตง ซึ่งทาง ศบค.ยะลา ประกาศเป็นที่พื้นที่ควบคุมพื้นที่เสี่ยง โดยมีการตั้งด่านคัดกรองทางเข้า-ออก ชุมชน ตลอด 24 ชม จากชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A. อย่างเคร่งครัด เราจะผ่านวิกฤต โควิด-19 ไปด้วยกัน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของ อ.เบตง วันนี้( 11 ก.ค.64 ) พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 7 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 266 ราย แยกเป็นผู้ป่วยใน อ.เบตง 263 ราย พบใน state Quarantine 3 ราย กำลังรักษา 49 ราย รักษาหายแล้ว 212 ราย ส่งต่อ 1 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย
@@อบต.คลองมานิง ขอบคุณน้ำใจบริจาคช่วยเหลือ
ส่วนที่บ้านสระมาลา ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งต้องปิดหมู่บ้านจากสถานการณ์การแพร่ะระบาดของโควิด-19 ในปัตตานี มาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ย.64 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา คลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม และคลัสเตอร์ย่อยกว่า 100 คน หลังจากทำการปิดหมู่บ้านมีการกักตัวตามมาตรการ ส่งรักษาตามกระบวนการทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเหลือประมาณ 60-70 คน พร้อมได้รับน้ำใจช่วยเหลืออาหารจากพี่น้องจากหลายพื้นที่
นายซักรี เจะเตะ นายก อบต.คลองมานิง กล่าวว่า เมื่อข่าวคราวของการปิดหมู่บ้านใน ต.คลองมานิง แพร่ไปให้สังคมได้รับรู้ ต้องขอบคุณทุกความช่วยเหลือและน้ำใจที่ต่างส่งเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาว ต.คลองมานิง มีคนมาบริจาคของ อาหารสดและอาหารแห้ง ขอขอบคุณทุกน้ำใจที่ไม่ทิ้งกัน ชาวบ้านต้องกินทุกวัน ของบริจาคเราจัดให้บ้านและคนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบก่อน เพราะต้องดูแลใกล้ชิด ชาวบ้านอื่นก็ไม่ว่าและเข้าใจ ชุมชนเข้าใจกัน
@@ รพ.หลัก เตียงเหลือไม่ถึง 100 นราฯ ติดลบ 17 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของที่ 11 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 776 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 776 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,112 เตียง ใช้ไป 2,039 เตียง คงเหลือ 73 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:145
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 426 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 407 เตียง คงเหลือ 19 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,003 เตียง ใช้ไป 1,283 เตียง คงเหลือ 720 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:12
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 537 เตียง คงเหลือ 54 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 860 เตียง ใช้ไป 813 เตียง คงเหลือ 47 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:116
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 410 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 427 เตียง คงเหลือ -17 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 336 เตียง คงเหลือ 564 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:67
@@ติดเชื้อโควิดรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 157 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 3,554 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,809 ราย รักษาหายแล้ว 1,717 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย มำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 28 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,010 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,809 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 138 ราย โรงพยาบาลเบตง 51 ราย รพช. 6 แห่ง 348 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 50 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 807 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 6 ราย โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ 389 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 20 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,545 ราย, อ.กรงปินัง 403 ราย, อ.เบตง 266 ราย, อ.รามัน 203 ราย, อ.บันนังสตา 517 ราย, อ.กาบัง 143 ราย อ.ธารโต 256 ราย และ อ.ยะหา 221 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 91 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 8 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 9 ราย,อ.เจาะไอร้อง 7 ราย, อ.เมือง 8 ราย, อ.สุไหงปาดี 1 ราย, อ.ศรีสาคร 16 ราย, อ.ตากใบ 12 ราย, อ.ยี่งอ 12 ราย, อ.จะแนะ 10 ราย, อ.แว้ง 1 ราย และ อ.บาเจาะ 7 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,983 ราย รักษาหายสะสม 2,154 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 20 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 849 ราย, อ.ระแงะ 252 ราย, อ.รือเสาะ 137 ราย, อ.บาเจาะ 265 ราย, อ.จะแนะ 205 ราย, อ.ยี่งอ 129 ราย, อ.ตากใบ 519 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 85 ราย, อ.สุไหงปาดี 108 ราย, อ.ศรีสาคร 169 ราย, อ.แว้ง 77 ราย, อ.สุคิริน 80 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 109 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 215 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 4,494 ราย รักษาหายแล้ว 2,319 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 41 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 211 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 819 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 500 ราย โรงพยาบาลชุมชน 352 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 42 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 151 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 51 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 8 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,443 ราย, อ.หนองจิก 594 ราย, อ.โคกโพธิ์ 294 ราย, อ.ยะหริ่ง 546 ราย, อ.สายบุรี 203 ราย, อ.ไม้แก่น 92 ราย, อ.แม่ลาน 104 ราย, อ.ยะรัง 325 ราย, อ.ปะนาเระ 168 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 131 ราย, อ.มายอ 457 ราย และ อ.กะพ้อ 95 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 252 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 183 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 37 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 14 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 18 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 7,870 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 7,847 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,838 ราย รักษาหายแล้ว 5,000 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 32 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 146 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,886 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,325 ราย, อ.จะนะ 921 ราย, อ.เทพา 574 ราย, อ.สิงหนคร 505 ราย, อ.สะเดา 399 ราย, สทิงพระ 268 ราย, อ.บางกล่ำ 188 ราย, อ.สะบ้าย้อย 210 ราย, อ.นาทวี 113 ราย, อ.รัตภูมิ 83 ราย, อ.นาหม่อม 74 ราย, อ.ระโนด 78 ราย, ควนเนียง 46 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 35 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,089 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 42 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย