โครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เป็น “วัคซีนทางเลือก” ให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม่งานของเรื่องนี้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มีรายละเอียดมาเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ
เป้าหมายการจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนชายแดนใต้ให้ได้ 70% เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิดที่กำลังหนักหน่วงนั้น ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
@@ โครงการจัดหาวัคซีนทางเลือก ทำไปถึงไหนแล้ว?
ตอนนี้กำลัง รอความชัดเจน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่ก็จะพยายามเร่งให้อยู่ในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน
เราจำเป็นจะต้องประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการไปร่วมกัน และต้องดูระบบระเบียบของกระทรวงที่มีอยู่ด้วย
@@ ทราบว่ามีการมอบหมายให้คนที่มีคอนเนคชั่น ช่วยดำเนินการติดต่อตรงไปยังเจ้าของวัคซีนด้วย?
ใช่ครับ นอกจาก ผศ.ดร.รักไทย บูรพ์ภาค อนุกรรมการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา และเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ ที่เป็นข่าวไปแล้ว ก็ยังมีตัวแทนอีกหลายส่วนที่ประสานเข้ามา ได้คุยหมดแล้ว ก็ได้รับการตอบรับดี แต่ก็ต้องรอสรุปภาพรวมสุดท้ายในวันที่ 26 ก.ค.นี้
ในส่วนขององค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชนก็เช่นกัน ทุกฝ่ยร่วมมือดี เพราะทุกคนอยากดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตัวเอง
@@ แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนเชิงรุก จะทำอย่างไรบ้าง?
ในพื้นที่ชายแดนใต้มีการขยายตัวของผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีการติดเชื้อในครอบครัว ยังมีการเดินทางข้ามช่องทางธรรมชาติไทย-มาเลเซียของคนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย และ กิจกรรม วิถีชีวิตของประชาชนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รวมถึงทัศนคติความเชื่อของประชาชน
ขณะที่ความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็น “ด่านหน้า” หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะมีปัญหาได้
ฉะนั้นการเพิ่มอัตราการรับวัคซีนของประชาชนในพื้นที่ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในทุกระดับของพื้นที่จะเป็นคำตอบ และจะเอื้อให้ระบบบริการสุขภาพของรัฐบาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่ผ่านมามีช่องทางการสนับสนุนวัคซีนให้กับประชาชนหลายช่องทาง ช่องทางที่ 1 รัฐบาลสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศโดยตรง บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการเป็นหลัก ส่วนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ก็สามารถทำได้
อย่าง ศอ.บต.ที่พบปัญหาความเสี่ยงของพื้นที่ชายแดนใต้ จึงเห็นควรสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล โดยหาช่องทางเพิ่มเติมเพื่อจัดหาวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ช่องทางที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ จัดซื้อวัคซีนเอง โดยใช้เงินสะสมขององค์กร
ช่องทางที่ 3 ร่วมสมทบทุนระดมเงินเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นในการจัดซื้อวัคซีน โดยประชาชนมีส่วนร่วม เช่น กรณีของเทศบาลนครยะลา ภาคอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ หอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาช่วยสมทบ
สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครนิทร์ (ม.อ.) ได้มีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน และจะเป็นหน่วยงานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงานการวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีน, รวบรวมจำนวนความต้องการวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประสานการสั่งซื้อต่อไป อาจจะผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ยังต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ในกระบวนการปลายทางของการบริหารจัดการวัคซีนทางเลือกที่ได้มา โดยส่งต่อให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปบริหารจัดการทั้งเก็บรักษาและกระจายวัคซีนตามแผนที่ได้วางไว้ในพื้นที่เป้าหมายการระบาดต่อไป