ปัตตานีเปิดโรงพยาบาลสนาม 12 อำเภอรวมกว่า 1,000 เตียง สสจ.หวั่นสายพันธุ์อินเดียเข้าพื้นที่ ส่วนยะลาสั่งงดละหมาดรายอฮัจย์-กุรบาน เฉพาะพื้นที่เสี่ยง ขณะที่เตียง รพ.สนามยะลา - สงขลา เหลือไม่ถึงร้อย พบเสียชีวิตทั้ง 4 จังหวัด ปัตตานีมากสุด 5 ราย
วันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยทุกวัน ทำให้ทางจังหวัดปัตตานีได้มีการขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มและกระจายไปในทุกอำเภอของจังหวัดปัตตานี
นายแพทย์รุซตา สาและ ผอ.รพ.สนามจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้เร่งทำโรงพยาบาลสนามในแต่ละอำเภอให้ได้ตามเป้าหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับผู้ป่วยรายใหม่ที่มีจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยล่าสุดโรงพยาบาลสนามในแต่ละอำเภอได้เสร็จแล้ว ซึ่งจะใช้รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดประเภท สีเขียว คือ ผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ถ้าหากว่า ยังพบมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นและทางจังหวัดไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย ทางจังหวัดก็จะมีวิธีการ ให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้านแทน home isolation โดยเฉพาะผู้ป่วย 2 ประเภท คือ ผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาอาการดีขึ้นแล้ว แต่ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อน
สำหรับโรงพยาบาลสนามในแต่ละอำเภอของจังหวัดปัตตานี รวมทั้งหมด 1,007 เตียง ประกอบด้วย
1. อ.เมือง อยู่ที่สนามกีฬา อบจ.ปัตตานี 250 เตียง
2.อ.โคกโพธิ์ ที่โรงเรียนคีรีราชศึกษา จำนวน 120 เตียง
3.อ.สายบุรี อยู่ภายตึกของโรงพยาบาลพระยุพราชสายบุรี จำนวน 100 เตียง
4. อ.ยะหริ่ง ที่โรงเรียนสุวรรณไพบูล จำนวน 100 เตียง
5 .อ.ยะรัง ที่โรงเรียนประตูโพธิ์ วิทยา จำนวน 100 เตียง
6.อ.หนองจิก ที่อาคารอุ่นไอรัก จำนวน 107 เตียง
7.อ.มายอ ที่โรงเรียนคีรีราชสามัคคี จำนวน 100
8.อ.ปะนาเระ ที่โรงเรียนวุฒิชัยวิทยา จำนวน 100 เตียง
9.อ.ทุ่งยางแดง ที่สนามกีฬา อบต.ตะลุแมะนา จำนวน 100 เตียง
10 อ.ไม้แก่น ที่โรงเรียนไม้แก่นกิติวิทย์ จำนวน 70 เตียง
11 อ. แม่ลาน ที่ศูนย์การกเรียนรู้ อ.แม่ลาน ม.ราชภัฎยะลา จำนวน 60 เตียง
12 อ.กะพ้อ โรงเรียนวังกะพ้อวิทยาคม จำนวน 50 เตียง
ขณะที่นายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในพื้นที่ จ.ปัตตานี ว่า จากนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ คาดการณ์ว่า เชื้อสายพันธุ์อินเดีย จะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อถึงเวลานั้น มาตรการที่เรามีอยู่จะไม่พอในการรับมือและจะจัดการกับเชื้อสายพันธุ์อินเดียได้ ความรุนแรงจะทวีเพิ่มมากขึ้น อาจจะเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากการรับเชื้อและขณะนี้เองก็มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตติดต่อกันทุกวัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดีย
@@เทศบาลเมืองปัตตานี ปิดบ้านผู้ติดเชื้อ 27 หลัง หวั่นแพร่ระบาด
ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เจ้าหน้าที่เทศกิจ อสม.และเจ้าหน้าที่ป้องกันของเทศบาลเมืองปัตตานี ได้นำรั้วแผงกั้นและธงสีแดง นำไปวางไว้บริเวณหน้าบ้านของผู้ติดเชื้อในพื้นที่ชุมชนจือแรนิบง ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อทำการปิดบ้านเรือนประชาชนที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังได้มีคำสั่งจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อให้มีการปิดบ้านเรือน จำนวน 27 หลังคาเรือน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
สำหรับพื้นที่มีการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดความกังวลกับหลายฝ่าย เนื่องจากว่า เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองปัตตานี และเป็นย่านที่มีประชากรจำนวนมาก โดยหากว่า มีการปิดทั้งหมู่บ้าน จะทำให้ประชาชนกว่า 6 พันคนได้รับผลกระทบและยังส่งผลให้ถนนในหลายสายต้องปิดลง ก็จะยิ่งทำให้เกิดความลำบากต่อการเดินทางของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทางเทศบาลเมืองปัตตานีจึงได้ตัดสินใจที่จะเลือกปิดเฉพาะบ้านเรือนที่มีผู้ติดเชื้อเท่านั้น
@@รพ.สต.บ้านลากอ เร่งตรวจกลุ่มเสี่ยง 100 กว่าคน หลังพบป่วยโควิด
ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ทางนายสุริยา สรรพสิน ผอ.รพ.สต.บ้านลากอ อ.ยะหา จ.ยะลา นำกำลังเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ลากอ ร่วมกับผู้นำ ม.8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ได้มาทำการ swop ชาวบ้านกลุ่มสัมผัสเสี่ยงในพื้นที่ ม.5 , ม.8 ต.ยะหา จ.ยะลา กว่า 100 คน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังจากในพื้นที่ ม.8 มีติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 3 ราย ทั้งเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา มีการพบแรงงานจากประเทศมาเลเซีย ที่ลักลอบเดินทางกลับเข้ามาจากช่องทางธรรมชาติ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและใช้มาตราการเด็ดขาด นำเข้ากักตัวจำนวน 2 ราย ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวตกเป็นพื้นที่เสี่ยง
ส่วนบรรยากาศที่บ้านเจาะกลาดี อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นไปอย่างเงียบเหงา ชาวบ้านต่างปิดบ้าน ใส่หน้ากากมากกว่าปกติ แต่ก็ยังมีกลุ่มดะวะห์ ที่ยังไม่มีการตระหนัก และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านต่างเรียกร้องเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัดกับกลุ่มคนที่ยังไม่ใส่หน้ากาก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบให้กับชาวบ้านอีกที่อยู่ในหมู่บ้าน
@@งดละหมาดรายอฮัจย์และกรุบานในพื้นที่เสี่ยงแพร่ระบาด
ส่วนที่ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดยะลา ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา นายก้องสกุล จันทราช ปลัดจังหวัดยะลาประธานประชุมร่วมกับนายหะยีอิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่สาธารสุขจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ระดับอำเภอ ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการปฏิบัติศาสนกิจการละหมาดรายออิฎิลอัฎฮา ประจำฮิจเราะฮ์ 1442 ที่มัสยิดหรือในสนาม และการกรุบานหรือการเชือดวัว
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการละหมาดรายอฮัจย์พร้อมทำการกรุบานเนื้อวัวได้โดยต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดและจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่ทางราชการกำหนด
นายหะยีอิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า การปฏิบัติละหมาดยากนิดหนึ่งที่จะควบคุม เพราะมีจำนวนคนมาก ถ้าทุกคนร่วมมือป้องกันตามมาตรการสาธารณสุข เชื่อว่าเราทุกคนจะปลอดภัยและได้ร่วมกิจกรรมศาสนกิจอื่นๆตามมา ละหมาดรายอฮัจย์มีปีละครั้ง เช่นกัน การกรุบานก็มีครั้งเดียวใน 1 ปี ถึงจะเป็นศาสนกิจที่ไม่ใช่เรื่องวายิบ(จำเป็น) แต่เป็นแนวทางของท่านศาสดาที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนวาระสุดท้ายของท่าน แต่เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์เกิดภัยพิบัติโรคติดเชื้อ ศาสนาก็อนุญาตให้ผ่อนปรนได้ ซึ่งเราก็ทำตามได้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเราเอง
@@รพ.สนามยะลา - สงขลา เหลือเตียงไม่ถึงร้อย
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของที่ 8 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 738 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 738 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,302 เตียง ใช้ไป 2,210 เตียง คงเหลือ 92 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:157
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 426 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 400 เตียง คงเหลือ 26 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,091 เตียง ใช้ไป 1,117 เตียง คงเหลือ 974 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:10
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 432 เตียง คงเหลือ 159 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 860 เตียง ใช้ไป 799 เตียง คงเหลือ 61 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:114
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 410 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 378 เตียง คงเหลือ 32 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,030 เตียง ใช้ไป 368 เตียง คงเหลือ 662 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วย 1:146
@@ป่วยโควิดเสียชีวิตทั้ง 4 จังหวัด ปัตตานีมากสุด 5 รายรวด
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 146 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 3,084 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,623 ราย รักษาหายแล้ว 1,436 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย มำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 25 ราย อยู่ระหว่างรอผล 1,616 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,623 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 121 ราย โรงพยาบาลเบตง 46 ราย รพช. 6 แห่ง 265 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 49 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 799 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 10 ราย โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ 333 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,379 ราย, อ.กรงปินัง 379 ราย, อ.เบตง 248 ราย, อ.รามัน 169 ราย, อ.บันนังสตา 399 ราย, อ.กาบัง 112 ราย อ.ธารโต 210 ราย และ อ.ยะหา 188 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 53 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก 2 ราย, อ.เจาะไอร้อง 16 ราย, อ.เมือง 3 ราย, อ.ระแงะ 10 ราย, อ.ศรีสาคร 4 ราย, อ.จะแนะ 4 ราย, อ.สุไหงปาดี 1 ราย อ.ตากใบ 4 ราย อ.ยี่งอ 1 ราย อ.แว้ง 2 ราย และ อ.รือเสาะ 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,723 ราย รักษาหายสะสม 1,910 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 18 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 801 ราย, อ.ระแงะ 210 ราย, อ.รือเสาะ 127 ราย, อ.บาเจาะ 245 ราย, อ.จะแนะ 184 ราย, อ.ยี่งอ 107 ราย, อ.ตากใบ 500 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 65 ราย, อ.สุไหงปาดี 105 ราย, อ.ศรีสาคร 144 ราย, อ.แว้ง 66 ราย, อ.สุคิริน 74 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 95 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 215 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,896 ราย รักษาหายแล้ว 1,912 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 33 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 195 ราย โรงพยาบาลสนาม 1,152 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 364 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 45 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 149 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 38 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 8 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,282 ราย, อ.หนองจิก 511 ราย, อ.โคกโพธิ์ 226 ราย, อ.ยะหริ่ง 484 ราย, อ.สายบุรี 159 ราย, อ.ไม้แก่น 92 ราย, อ.แม่ลาน 80 ราย, อ.ยะรัง 283 ราย, อ.ปะนาเระ 144 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 119 ราย, อ.มายอ 391 ราย และ อ.กะพ้อ 86 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 226 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 152 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 34 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 9 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 18 ราย และกลุ่มในเรือนจำ 13 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 7,223 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 7,200 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,903 ราย รักษาหายแล้ว 4,292 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 28 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 932 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,757 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,168 ราย, อ.จะนะ 801 ราย, อ.เทพา 524 ราย, อ.สิงหนคร 463 ราย, อ.สะเดา 372 ราย, สทิงพระ 250 ราย, อ.บางกล่ำ 170 ราย, อ.สะบ้าย้อย 164 ราย, อ.นาทวี 108 ราย, อ.รัตภูมิ 79 ราย, อ.นาหม่อม 74 ราย, อ.ระโนด 69 ราย, ควนเนียง 32 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 29 ราย, อ. อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,089 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 40 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย