ยะลา ปัตตานี สงขลา ท็อปเท็นยอดติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดของประเทศ ขณะที่คลัสเตอร์สำคัญในพื้นที่อย่างโรงงานปลากระป๋อง - มัรกัส ดะวะห์ จำนวนผู้ป่วยยังพุ่งไม่หยุด ด้านรถตู้นราฯ เจอพิษคุมเข้มข้ามจังหวัด ต้องลดเที่ยวเดินรถ เหตุผู้โดยสารน้อย
จากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ค.64 ปรากฎว่า มี 3 จังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ อันดับที่ 7 จ.สงขลา อันดับที่ 9 จ.ปัตตานี และ อันดับที่ 10 จ.ยะลา
ทั้ง จ.สงขลา ยังติดอยู่ในอันดับที่ 8 ของจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศสะสมมาก 10 อันดับแรก ซึ่งมีผู้ป่วยสะสมแต่วันที่ 1 เม.ย.64 - 4 ก.ค.64
ส่วนสถานการณ์การระบาดของคลัสเตอร์สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าง คลัสเตอร์โรงงานปลากระป๋องในพื้นที่ จ.สงขลา มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ 7 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.64 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 รายและมีผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์อยู่ที่ 955 ราย
ส่วนอีกคลัสเตอร์ใหญ่ คือ คลัสเตอร์มัรกัส ดะวะห์ โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมีการระบาดไปในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี ภูเก็จ นราธิวาส สงขลา สตูล กระบี่ พัทลุง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ ตรัง ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 40 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์ 835 ราย
ขณะที่ จ.นราธิวาส แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรากฎในทุกวัน แต่ในวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.นราธิวาส จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 33 จังหวัด ส่วน จ.สงขลา จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย ซึ่งมีทั้งหมด 11 จังหวัด
@@คุมเข้มข้ามจังหวัดทำรถตู้นราฯ ลดเที่ยว เหตุผู้โดยสารน้อย
ด้านบรรยากาศที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.นราธิวาส มีประชาชนเดินทางบางตา เป็นผลกระทบที่เกิดจาก การประกาศให้ จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีการใช้มาตรการคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด ที่กำหนดให้ประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ ต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นและขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานีขนส่งจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 28 มิ.ย.เป็นต้นมา มีประชาชนเดินทางน้อยมาก ขณะนี้การให้บริการรถตู้โดยสารจากนราธิวาส – อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหลือเพียงวันละ 2 - 3 เที่ยว จากปกติประมาณ 15 เที่ยวต่อวัน , รถตู้โดยสารจากนราธิวาส – ปัตตานี จาก 6 เที่ยวต่อวัน เหลือเพียง 1 เที่ยวต่อวัน และรถตู้นราธิวาส - ยะลา ได้หยุดให้บริการชั่วคราว
ด้านผู้ประกอบการรถร่วมรายหนึ่ง กล่าวว่า ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากผู้โดยสารน้อยมาก จึงต้องลดจำนวนเที่ยวลง ทำให้รายได้ลดลงไปด้วย บางคนต้องหาอาชีพเสริมหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น แต่ตนเองประกอบอาชีพนี้มานานและอายุมากแล้ว จึงต้องทำต่อไป แม้แต่กลัวการติดเชื้อแต่ก็พยายามป้องกันเป็นอย่างดี
ขณะที่ผู้โดยสารรายหนึ่งที่กำลังจะเดินทางไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า หลังจากรอรถมานานประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้ตัดสินใจเหมารถเที่ยวดังกล่าว เนื่องจากไม่แน่ใจว่า จะมีผู้โดยสารครบจำนวนหรือไม่ เพราะมีความจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ โดยต้องเดินทางทุกสัปดาห์และจะต้องเดินทางกลับนราธิวาสได้วันที่ 6 ก.ค.
@@ผบช.สตม.ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์โควิดด่านชายแดนสุไหงโก-ลก
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมคณะลงพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแนวชายแดนในพื้นที่ พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่และสนับสนุน อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ มาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานป้องกันชายแดนด่านหน้าในพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในการป้องกันบุคคลที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้ง ได้กำชับให้ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาสปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยกำลังในพื้นที่พร้อมดึงภาคประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายในการป้องกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสบุคคลที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากในประเทศมาเลเซียยังมีอัตราการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงมาก
สำหรับการปฏิบัติงานของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส ในห้วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ ต.ค.63 - ปัจจุบัน สามารถจับกุมบุคคลต่างด้าว สัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน เวียดนาม และอื่นๆรวม 264 คน โดย 3อันดับแรกที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้เมื่อถูกจับกุมจะส่งเข้าเรือนจำชั่วคราวโคกยามู และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน จากนั้นจะถูกส่งดำเนินคดีตามกฎหมายและผลักดันกลับประเทศภูมิลำเนา
@@สงขลา-ยะลา อ่วมติดเชื้อใหม่มากกว่า 200 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 2,551 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,565 ราย รักษาหายแล้ว 968 ราย มีผู้เสียใหม่ 2 ราย รายแรกเป็นหญิง อายุ 80 ปี ชาว อ.เมืองยะลา รายที่ 2 เป็นชาย อายุ 76 ปี เป็นชาว อ.เบตง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมขยับมาเป็น 17 ราย อยู่ระหว่างรอผล 3,150 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,565 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 114 ราย โรงพยาบาลเบตง 103 ราย โรงพยาบาลบันนังสตา 96 ราย โรงพยาบาลธารโต 11 ราย โรงพยาบาลรามัน 57 ราย โรงพยาบาลยะหา 68 ราย โรงพยาบาลกาบัง 2 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 34 ราย โรงพยาบาลสนามยะลา 518 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 40 ราย โรงพยาบาลสนามชั่วคราว 246 ราย และรอเข้าโรงพยาบาล 277 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,110 ราย, อ.กรงปินัง 323 ราย, อ.เบตง 244 ราย, อ.รามัน 143 ราย, อ.บันนังสตา 315 ราย, อ.กาบัง 84 ราย อ.ธารโต 172 ราย และ อ.ยะหา 160 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 49 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.จะแนะ 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 7 ราย, อ.เมือง 5 ราย, อ.ระแงะ 8 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย และ อ.สุคิริน 6 ราย อ.แว้ง 2 ราย, อ.ยี่งอ 1 ราย , อ.บาเจาะ 8 ราย และ อ.ตากใบ 8 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,450 ราย รักษาหายสะสม 1,631 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 10 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 734 ราย, อ.ระแงะ 175 ราย, อ.รือเสาะ 112 ราย, อ.บาเจาะ 244 ราย, อ.จะแนะ 167 ราย, อ.ยี่งอ 87 ราย, อ.ตากใบ 467 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 48 ราย, อ.สุไหงปาดี 96 ราย, อ.ศรีสาคร 106 ราย, อ.แว้ง 62 ราย, อ.สุคิริน 74 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 76 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,099 ราย รักษาหายแล้ว 1,425 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 152 ราย โรงพยาบาลสนาม 988 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 328 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 49 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 105 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 29 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 8 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,052 ราย, อ.หนองจิก 431 ราย, อ.โคกโพธิ์ 145 ราย, อ.ยะหริ่ง 389 ราย, อ.สายบุรี 136 ราย, อ.ไม้แก่น 87 ราย, อ.แม่ลาน 76 ราย, อ.ยะรัง 247 ราย, อ.ปะนาเระ 109 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 79 ราย, อ.มายอ 242 ราย และ อ.กะพ้อ 79 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 232 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 173 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 40 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงในชุมชน 3 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 12 รายและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 4 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 6,306 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 6,283 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,625 ราย รักษาหายแล้ว 3,659 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 22 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 586 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,594 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,058 ราย, อ.จะนะ 675 ราย, อ.เทพา 441 ราย, อ.สะเดา 345 ราย, อ.สิงหนคร 306 ราย, สทิงพระ 231 ราย, อ.บางกล่ำ 163 ราย, อ.สะบ้าย้อย 112 ราย, อ.นาทวี 75 ราย, อ.รัตภูมิ 68 ราย, อ.ระโนด 61 ราย, อ.นาหม่อม 60 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 26 ราย, อ.ควนเนียง 23 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 998 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 36 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย