ศอ.บต. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. บูรณาการระดมทุนทุกภาคส่วน ลุยซื้อวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอหน์สัน ปูพรมฉีดเข็มเดียวชาวบ้านชายแดนใต้ 70% หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด่วนที่สุด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา ที่ร้ายแรงไม่แพ้กรุงเทพฯและปริมณฑล กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศมาตรการพิเศษเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้หน่วยงานทีรับผิดชอบพื้นที่เริ่มขยับทำโครงการจัดหาวัคซีนเอง เพื่อนำมาฉีดคนในพื้นที่ โดยไม่ต้องรอการจัดสรรจากรัฐบาลเพียงด้านเดียว
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เผยว่า ศอ.บต.มีแนวคิดแก้ปัญหาการแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงและมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้
โดยแนวคิดหลักในการบริหารจัดการ ประกอบด้วย
1. การระดมทุกภาคส่วนเพื่อสบทบทุนในการจัดหาวัคซีน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และผู้มีจิตศรัทธาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. มหาลัยทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จะเป็นหน่วยงานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงาน การวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีน ฯลฯ
3. หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จะเป็นสถานที่บริหารวัคซีน จัดเก็บ ฉีด และติดตามเฝ้าระวัง
4. ศอ.บต.เป็นหน่วยประสานหลัก โดยมีความร่วมมือจากท้องถิ่น ท้องที่ และทุกภาคส่วน ตลอดจนประชาชนทุกคนเป็นหน่วยดำเนินการที่สำคัญที่สุด
5. ถ้าได้ข้อสรุปร่วมกัน ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันแถลงข่าวภายในพุธ 7 ก.ค.64
"สาเหตุที่ต้องเร่งรัด เพราะข้อมูลขณะนี้ จังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา มีอัตราการป่วยต่อประชากรสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ถึงกว่าร้อยเท่า" นายชนธัญ หรือ "ดร.เจ๋ง" กล่าว
และว่า "ทุกหน่วยต้องร่วมมือกันดำเนินการดูแลพื้นที่ ดูแลประชาชนของตัวเองให้ได้มากที่สุด ผมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ในส่วนที่หน่วยงานในพื้นที่หน่วยงานหนึ่งสามารถทำได้ งดการเมืองใดๆ ขอทำเพื่อประชาชน"
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า เป้าหมายคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุดอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร จึงเป็นที่มาของแนวคิดรวมกองทุนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดซื้อวัคซีนผ่านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในวันอังคารที่ 6 ก.ค.64 จะมีการนำเข้าบอร์ดบริหารของคณะแพทยศาสตร์ และคาดว่าในวันพุธที่ 7 ก.ค.จะมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะใช้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ฉีดแบบปูพรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
"เนื่องจากอัตราตัวเลขติดเชื้อดีดตัวสูงมากเกิน 100% จึงต้องการฉีดครั้งเดียวให้เห็นผล พิจารณาแล้วเห็นว่า จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตอบโจทย์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70" ดร.เจ๋ง ย้ำ
นายชนธัญ บอกอีกว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดหาเตียง และโรงพยาบาลสนามที่มีไม่พอ หมอและพยาบาลมีจำกัด ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ป่วยเปราะบาง คนชราจะป่วยน้อยลง จะเพิ่มจำนวนเตียงได้ เพราะไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากมีภูมิคุ้มกัน เตียงก็จะว่างโดยปริยาย
"สปสช. (สถาบันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) อนุมัติให้ใช้เงินจัดซื้อวัคซีนได้ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล แต่เงินจาก สปสช.อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีการระดมทุนจากท้องถิ่น ตอนนี้ภาคเอกชนก็ตื่นตัวมาก หอการค้า ภาคอุตสาหกรรม ชมรมธนาคารไทยจะระดมทุนจัดหาเงินเพื่อซื้อวัคซีนกันเอง เราต้องเร่งปิดเกม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นพื้นที่แพร่ระบาดทั่วไปหมด" ดร.เจ๋ง กล่าว
@@ วัคซีน J&J ขึ้นทะเบียนลำดับ 3 แต่เจรจานำเข้าไม่คืบ
อนึ่ง วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์สัน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.64 โดยนับเป็นวัคซีนรายที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ต่อจากแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค โดยสามารถใช้ในประเทศไทย แต่ยังต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี การเจรจาจัดซื้อวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในระดับรัฐบาลกลับไม่มีความคืบหน้า โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.64 ว่า ไม่สามารถติดต่อบริษัทตัวแทนในประเทศไทยได้ เพราะบริษัทผู้ผลิตอาจมีปัญหา
"ตอนนี้ก็อยากประกาศคนหาย วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่เราก็เตรียมลงนามสัญญาเทอมชีท (Term sheet) แต่ก็ไม่สามารถติดต่อกับ บริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด ได้ อันนี้เป็นความผิดเราหรือไม่ เพราะเราเร่งแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหา ซึ่งเราก็มีข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องนี้เช่นกัน มีคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์เตือนมา เราก็ต้องฟัง เพราะ เราจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง" นายอนุทิน กล่าว
------------------------
ภาพประกอบ วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากเว็บไซต์ https://www.openaccessgovernment.org/johnson-johnson-covid-vaccine-2/111680/