ฝนถล่มปัตตานี “เตียงกระดาษ รพ.สนาม” เสียหายยับ ผู้ประกอบการร้านอาหารยะลาลงชื่อขอผ่อนปรนนั่งกินที่ร้าน ขณะที่ ศบค.จังหวัดสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงอีก 7 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ ส่วนนราธิวาส เตรียมเปิด รพ.สนามที่ 6 เพิ่มเตียงรับผู้ป่วย ยะลาผู้ป่วยรอเตียงเข้า รพ.พุ่ง 244 ราย
วันที่อังคารที่ 29 มิ.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา ซึ่งในแต่ละจังหวัดยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหลักร้อยเป็นวันที่ 8 ติดต่อกันแล้ว โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เกินหลักร้อยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 2,103 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 7 ราย
ในขณะที่ยอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทุกวัน ทำให้โรงพยาบาลสนามที่มีอยู่แทบจะไม่พอกับจำนวนผู้ป่วยใหม่ ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน
สำหรับการขยายโรงพยาบาลสนาม มีการนำ “เตียงกระดาษ” มาเสริม แต่เกิดเคราะห์ซ้ำขึ้นมาอีก เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.ปัตตานี เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เต็นท์โดมขนาดใหญ่จำนวน 10 เต็นท์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามตั้งอยู่ในสนามกีฬา อบจ.ปัตตานี ที่ใช้เตียงกระดาษจำนวน 400 เตียง ได้รับความเสียหายบางส่วน เนื่องจากเตียงระดาษถูกน้ำฝนสาดเข้าไปภายในเต็นท์ จนไม่สามารถนำไปใช้งานได้ และไม่สามารถรองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25 พร้อมด้วยจิตอาสา ได้นำทรายมาบรรจุในกระสอบทราย เพื่อทำเป็นแบริเออร์กั้นน้ำฝนรอบๆ เต็นท์ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าภายในเต็นท์โดม เนื่องจากเตียงที่อยู่ภายในเป็นเตียงกระดาษทั้งหมด
@@ยะลาสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม 7 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ
ส่วนที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้กำกับการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ห้องประชุมศรียะลา อาคาร 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.ยะลา ยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงที่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับมัรกัสยะลา ได้แก่ ที่บ้านเปาะยานิ ม.3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา , โรงเรียนฮาฟีเซาะห์มัรกัสยะลา (โรงเรียนผู้หญิง), ที่บ้านตาเซะ มัรกัสตาเซะ , ปอเนาะบ้านแบหอ อ.กรงปินัง , โรงเรียนปอเนาะตะฟิสดารุล ฟุรกอน ม.3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา และปอเนาะลำใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการซีลพื้นที่ โดยคลัสเตอร์เปาะยานิ มัรกัสยะลา จากข้อมูลของ สคร.เขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย.64 ผู้ติดเชื้อสะสม 710 กระจายในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้
ในที่ประชุม ศบค.ยะลา ยังได้พิจารณาอนุมัติปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการควบคุมโรคที่เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ห้ามเข้า-ออก ในพื้นที่ ประกอบด้วย ได้แก่ ม.1 บ้านยุโป และ ม.2 บ้านทุ่งเหรียง ต.ยุโป อ.เมืองยะลา , ม.3 บ้านเงาะกาโปร์ ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา และ ชุมชนกาแป๊ะ กม.3 , ชุมชนกาแป๊ะ กม.5 ,ชุมชนคงคาสามัคคี ชุมชนจาเราะกางา ต.เบตง อ.เบตง ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งศูนย์ฯเปลี่ยนแปลงพร้อมพร้อมกำชับงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ จ.ยะลา
@@ผู้ประกอบร้านอาหารยะลา ขอผ่อนปรนนั่งกินที่ร้าน
หลังจาก ศบค.ยะลา ได้ออกประกาศคำสั่งในเรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าด้วยมาตรการเกี่ยวกับสถานที่หรือดำเนินกิจกรรม กิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยร้านจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้านน้ำชา กาแฟ เปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 22.00 น.และห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และให้เจ้าของร้านที่ จะขอผ่อนคลายการใช้สถานที่หรือดำเนินกิจกรรม ให้ยื่นคำร้องต่อศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ(ศปก.อ.)ในพื้นที่ เพื่อให้ ศปก.อ.ตรวจประเมินความพร้อมก่อนพิจารณาอนุญาต
วันนี้( 29 มิ.ย.)บรรยากาศบริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ได้มีบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ ต่างเดินทางนำเอกสารมาเพื่อยื่นขอนุญาตเปิดร้านและให้ลูกค้าได้นั่งทานภายในร้านได้ ตามคำสั่งของ ศบค.จังหวัดยะลา
น.ส.ปัญญภัสส์ จงกลพืช ผู้ประกอบการร้านอาหารประเทืองยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่จะได้เปิดร้านอีกครั้ง หลังจากที่ได้ปิดร้านไป ยอดขายที่ลูกค้ามาซื้อกลับบ้านน้อยมาก แต่ถ้าเปิดให้ลูกค้าได้นั่งทานอาจจะ 30% ก็สามารถช่วยคนทำงานและผู้ประกอบการได้ ส่วนทางด้านมาตรการทางร้านที่จะเพิ่มคือให้ลูกค้าให้ได้รับประทานอาหารในบริเวณด้านนอกอย่างเดียว จะปิดบริการบริเวณที่เป็นห้องปรับอากาศและที่สำคัญคือ ทางร้านจะมีการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ตามตัวลูกค้าหรือเสื้อผ้าที่ลูกค้าใส่ก่อนที่จะเดินเข้าภายในร้าน รวมถึงปฏิบัติตามาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
@@นราธิวาส เตรียมเปิด รพ.สนามที่ 6 เพิ่มเตียงรับผู้ป่วย
ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) จ.นราธิวาสและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 31 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 1,179 เตียง ใช้ไป 732 เตียง คงเหลือ 447 เตียง ซึ่งคาดการณ์ว่า จะต้องมีเตียงรองรับผู้ป่วย จำนวน 1,400 เตียง จึงต้องหาเพิ่มอีก 221 เตียง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการใช้สถานที่หอประชุม 100 ปี ค่าย อส.อ.เมือง เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 เพื่อรองรับผู้ป่วยอีก 150 เตียง
ส่วนในเรื่องการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง และกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงาน ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจโรงงานและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อในโรงงานหรือสถานประกอบการจำนวนมากจะต้องใช้มาตรการ Bubble and Seal และไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเดินทางออกนอกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
โดยในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีผู้ประกอบการโรงงานที่ประเมินตนเองตาม Thai Stop COVID ทั้งหมด 50 แห่ง แยกเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีคนงาน 200 คนขึ้นไป จำนวน 3 แห่ง , โรงงานขนาดกลาง 18 แห่ง , โรงงานขนาดเล็ก คนงานไม่เกิน 50 คน จำนวน 34 แห่ง รวม 55 โรงงาน ซึ่งทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาสได้วางแผนตรวจประเมินโรงงานที่มีคนงานเกิน 200 คน ในวันที่ 6 - 8 ก.ค.นี้ เพื่อให้คำแนะนำในจุดที่ต้องมีการปรับปรุงและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
@@ยะลาผู้ป่วยรอเตียง - รพ.อีก 244 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอังคารที่ 29 มิ.ย.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 93 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 1,747 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,108 ราย รักษาหายแล้ว 626 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย รายแรกเป็นชายอายุ 90 ปี ชาว อ.เบตง รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 68 ปี ชาว อ.ธารโต ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 13 ราย อยู่ระหว่างรอผล 3,700 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,108 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 159 ราย โรงพยาบาลเบตง 113 ราย โรงพยาบาลรามัน 28 ราย โรงพยาบาลยะหา 77 ราย โรงพยาบาลธารโต 6 ราย โรงพยาบาลบันนังสตา 78 ราย โรงพยาบาลกาบัง 3 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 12 ราย โรงพยาบาลสนามยะลา 328 ราย และโรงพยาบาลสนามเบตง 60 ราย ผู้ป่วยรอเตียงและรายใหม่รอเข้าโรงพยาบาล 244 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 681 ราย, อ.กรงปินัง 158 ราย, อ.เบตง 221 ราย, อ.รามัน 88 ราย, อ.บันนังสตา 253 ราย, อ.กาบัง 78 ราย อ.ธารโต 137 ราย และ อ.ยะหา 131 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 83 ราย ในพื้นที่ อ.บาเจาะ 2 ราย อ.สุไหงปาดี 6 ราย อ.เมือง 1 ราย อ.ตากใบ 20 ราย อ.ยี่งอ 2 ราย อ.ระแงะ 19 ราย อ.ศรีสาคร 4 ราย อ.รือเสาะ 1 ราย อ.จะแนะ 11 ราย และ อ.แว้ง 1 ราย อ.สุไหงโก-ลก 3 ราย และ องเจาะไอร้อง 13 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,089 ราย รักษาหายสะสม 1,370 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 5 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 644 ราย, อ.ระแงะ 134 ราย, อ.รือเสาะ 100 ราย, อ.บาเจาะ 210 ราย, อ.จะแนะ 143 ราย, อ.ยี่งอ 68 ราย, อ.ตากใบ 440 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 36 ราย, อ.สุไหงปาดี 78 ราย, อ.ศรีสาคร 87 ราย, อ.แว้ง 55 ราย, อ.สุคิริน 37 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 56 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 83 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,180ราย รักษาหายแล้ว 982 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 7 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 93 ราย โรงพยาบาลสนาม 726 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 284 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 24 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 50 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 5 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 9 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 755 ราย, อ.หนองจิก 352 ราย, อ.โคกโพธิ์ 83 ราย, อ.ยะหริ่ง 294 ราย, อ.สายบุรี 112 ราย, อ.ไม้แก่น 85 ราย, อ.แม่ลาน 41 ราย, อ.ยะรัง 153 ราย, อ.ปะนาเระ 77 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 46 ราย, อ.มายอ 111 ราย และอ.กะพ้อ 51 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 182 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 104ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 58 ราย กลุ่มรอบสอบสวนโรค 13 ราย กลุ่มผู้ให้บริการส่งสินค้าตามบ้าน 4 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในบริษัท 2 ราย และกลุ่มผู้คุมเรือนจำ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 5,306 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 5,283 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,257 ราย รักษาหายแล้ว 3,031 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงวัย 67 ปี ชาว อ.เมืองสงขลา เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 18 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 1,234 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,443 ราย, อ.เมืองสงขลา 895 ราย, อ.จะนะ 465 ราย, อ.สะเดา 301 ราย, อ.เทพา 324 ราย, สทิงพระ 196 ราย, อ.บางกล่ำ 147 ราย, อ.สิงหนคร 151 ราย, อ.รัตภูมิ 52 ราย, อ.สะบ้าย้อย 81 ราย, อ.ระโนด 48 ราย, อ.นาทวี 52 ราย, อ.นาหม่อม 48 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 22 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, อ.ควนเนียง 16 ราย เป็นกรณีเรือนจำ รวม 998 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 33 รายและจากต่างประเทศ 23 ราย