23 ก.ค.63 เป็นวันแรกของการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการทั่วประเทศ หรือที่รู้จักกันดีว่า "กิจกรรมการเกณฑ์ทหาร" ซึ่งปีนี้แตกต่างจากทุกปี เนื่องจากเลื่อนมาจากเดือน เม.ย.เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
แม้จะเลื่อนเวลา แต่บรรยากาศและสีสันการเกณฑ์ทหารก็ไม่ได้ต่างจากทุกๆ ปีที่ผ่านมา และที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานทองของไทย ก็คึกคักไม่แพ้พื้นที่อื่นๆ
ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดสุคิรินประชาราม อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นอำเภอเแรกของ จ.นราธิวาส ที่มีการตรวจเลือกทหาร โดย พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะประธานคณะสังเกตการณ์การตรวจเลือกทหารกองประจำการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการตรวจเลือกทหาร ซึ่งเป็นของหน่วยตรวจเลือกกองพันทหารพราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 (ร.151 พัน 2)
การตรวจเลือกของหน่วยนี้มีชายไทยที่ได้รับหมายเรียกตามเกณฑ์เข้ารับการตรวจเลือกจำนวน 273 คน ต้องการทหารกองประจำการ 32 คน แต่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอสมัครเข้าเป็นทหารแล้ว 38 คน จึงถือว่าเกณฑ์จำนวน ทำให้ไม่มีการจับสลากใบดำใบแดง ส่วนที่ จ.ปัตตานี และยะลา ก็มีการตรวจเลือกทหารเช่นกัน
พล.ต.เกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากระยะเวลาการตรวจเลือกที่เปลี่ยนแปลงเพราะสถานการณ์โควิดแล้ว กองทัพยังได้ปรับกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดด้วย ทั้งการปฏิบัติวิถีใหม่ การเว้นระยะห่างทางสังคม โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประชุมสั่งการให้แต่ละหน่วยคำนึงถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด มีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน และให้คณะกรรมการการตรวจเลือกทุกหน่วย ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการทุจริต และจะต้องไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้นโดยอันขาด
สำหรับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการในปีนี้ สามารถดำเนินการได้ 3 ทางเลือก คือ สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการด้วยความสมัครใจ โดยเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. - 22 ก.ค.63 และสามารถสมัครได้ในวันที่เข้ารับการตรวจเลือก และการตรวจเลือกด้วยการจับใบดำ-ใบแดง ดำเนินการตั้งแต่วันนี้ 23 ก.ค.จนถึง 31 ส.ค.63 สำหรับการขอผ่อนผัน ต้องแจ้งความประสงค์ภายในวันที่มาแก้ไขหมายเรียกเท่านั้น
ความแปลกใหม่ของการตรวจเลือกทหารในปีนี้ โดยเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การงดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคน โดยให้เก็บเฉพาะผู้ที่จับได้ใบแดง หรือสมัครเข้าเป็นทหารเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากการผลักดันของหลายฝ่าย รวมทั้ง ส.ส.ในสภา ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และได้หยิบประเด็นการเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบไม่สมัครใจ หรือ "จำยอม" ขึ้นมาตรวจสอบ
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้ลงพื้นที่พูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วย กระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการเก็บดีเอ็นเอจากผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารทุกคน แต่จะเก็บเฉพาะคนที่จับได้ใบแดงหรือสมัครเข้าเป็นทหาร เพื่อนำใบตรวจสอบประวัติ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมาที่จะเก็บดีเอ็นเอผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคน และต้องมีแนวปฏิบัติเฉพาะว่าจะเก็บดีเอ็นเออย่างไร และเก็บกับใครบ้าง
สำหรับประเด็นที่จผลักดันต่อไป คือการห้ามบังคับเก็บดีเอ็นเอกับผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกเชิญตัวเข้ากระบวนการซักถาม ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อ้างว่าผู้ต้องสงสัยสมัครใจให้เก็บดีเอ็นเอ แต่จริงๆ แล้วเกือบทั้งหมดไม่ได้สมัครใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเดินหน้าต่อสู้ต่อไป
จากการสอบถามชายไทยที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารวันแรก ส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องถูกเก็บดีเอ็นเอ และหลายคนที่มีงานทำอยู่แล้วก็รู้สึกไม่อยากเป็นทหาร เพราะเกรงจะเสียงานและสูญเสียรายได้ อย่าง นายฮาซัน ละเตะ อายุ 24 ปี ซึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ และพ้นเกณฑ์การผ่อนผันแล้ว บอกว่า รู้สึกลุ้นมาก ไม่อยากเป็นทหาร เพราะได้งานและทำงานอยู่ที่ร้านอาหารอิสลามในห้างสรรพสินค้าชื่อดังกลางกรุงเทพฯ
เช่นเดียวกับ นายไอดี ดอเลาะ อายุ 21 ปีที่บอกว่า ทำงานอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต จึงไม่อยากจับได้ใบแดง ถ้าจับได้ใบดำก็จะเดินทางกลับไปทำงานที่ภูเก็ตทันที ส่วนการตรวจดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งแล้วว่าไม่มีการตรวจ