วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่พี่น้องชาวประมงที่เป็น "ประมงสีขาว" หมายถึงใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างกลุ่มประมงพื้นบ้านตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี ก็ยังโดนหางเลขไปด้วย
ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน "โอรังปันตัย" ซึ่งแปลว่า "ชาวเล" ที่บ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหลือล้นจนไม่มีที่เก็บอยางไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีใครสั่งซื้อ โดยชาวเลกลุ่มนี้เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้อวนลาก อวนรุน
ผลิตภัณฑ์ของพวกเขามีทั้ง "ปลากุเลาเค็ม" ที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง ผึ่งลม และกางมุ้งป้องกันแมลง หมักด้วยเกลือหวานปัตตานี ไม่ใช้สารฟอกสี หรือสารเคมีอื่นใด โดยปลากุเลาที่นี่ได้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งปลาเค็ม" ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,300-1,500 บาท นอกจากนั้นยังมีปลาอินทรีเค็ม ปลาหมึกตากแห้งตัวโตๆ กุ้งแห้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
นายมะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี เล่าว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด ทำให้ยอดสั่งสินค้าลดลงถึง 80% ส่งผลให้ชุมชนชาวประมงได้รับผลกระทบอย่างมาก ทุกวันนี้ต้องเก็บรักษาปลาในช่องแช่แข็ง เพื่อไม่ให้ปลาเน่าเสีย ชุมชนต้องหยุดทำประมง เพราะหาปลามาได้ก็ไม่มีที่เก็บ เนื่องจากขายไม่ออก จึงอยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ เผื่อใครสนใจจะได้ช่วยเหลือชาวบ้าน
ส่วนที่ช่วงนี้มีกระแส "ข้าวแลกปลา" ตามโครงการของมูลนิธิชุมชนไท ที่เพิ่งจัดกิจกรรม "ขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล" โดยลำเลียงข้าวจากเครือข่ายชาวนา จ.ยโสธร ไปแลกปลาจากชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ตนั้น นายมะสุกรี บอกว่า ถ้ามีเครือข่ายหรือชุมชนที่ไหนสนใจก็สามารถติดต่อมาและดำเนินการได้เช่นกัน โดยขณะนี้มีปลากุเลาเค็มและปลาอื่นๆ มากกว่า 1,000 กิโลกรัม
ขณะที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อยากให้ช่วยกันส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง อย่างเช่นวิสาหกิจชุมชน "โอรังปันตัย" ดูแลคนถึง 52 ชุมชน กว่า 80,000 ครอบครัว จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยเป็นสื่อกลาง อาจทำโครงการแลกสินค้าเกษตรกันเหมือน "ข้าวแลกปลา"
ตัวอย่างง่ายๆ อย่าง "ข้าวฮักพะเยา" ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีของ จ.พะเยา นายอำเภอหรือผู้ว่าฯที่นั่นอาจจะคุยกับนายอำเภอสุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งมีเงาะเยอะ และเป็นเงาะพันธุ์ดี อร่อย หวานกรอบ ก็อาจจะคุยกันระหว่างนายอำเภอ เพื่อแลกผลผลิตกัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้า แม้ในช่วงที่มีปัญหาอย่างสถานการณ์โรคระบาด แต่ผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องเป็นระดับจังหวัด หรือ ศอ.บต. จึงจะทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
จีนสั่งซื้อทุเรียนไทย 2 หมื่นตัน
อีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และ ผู้จัดการบริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัด ลงพื้นที่ ต.ทรายขาว จ.ปัตตานี เพื่อตรวจดูผลผลิตทุเรียน เนื่องจากปีนี้จีนสั่งซื้อในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน
นายประเสริฐ คณานุรักษ์ ผู้จัดการบริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ประเทศจีนสั่งซื้อทุเรียนมาแล้ว 2 หมื่นตัน สูงกว่าที่สั่งปีที่แล้ว สวนกระแสเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และคาดว่าผลผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีราคาแพงกว่าปีที่แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการส่งออกจะส่งในรูปผลสดเต็มลูก ไม่แปรรูป เพื่อจำหน่ายในประเทศจีน โดยทางบริษัทเตรียมแผนการขยายพื้นที่เพื่อรับซื้อผลทุเรียนวันละ 300 ตัน ยืนยันว่าทุเรียนในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงวางแผนรับผลผลิตทุเรียนครอบคลุมถึง จ.สุราษฎร์ธานี ขอให้เกษตรกรช่วยกันดูแลสวนทุเรียน ตัดแต่งกิ่ง ดูแลดอกและผลให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียน
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการโรงงานทุเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา และอีกหลายแห่ง ซึ่งปีที่แล้วสามารถรับซื้อได้ 12,000 ตัน และปีนี้คาดว่าจะรับซื้อได้ประมาณ 20,000 ตัน หรือ 20 ล้านกิโลกรัม
"ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจว่าสามารถส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีนได้แน่นอน และราคาผลผลิตจะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว มีโอกาสที่จะสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
ขณะที่ นายอารอฟัด อาบะ ชาวสวนทุเรียน จ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีข่าวจีนรับซื้อทุเรียนจากบ้านเรา เพราะจีนเปิดประเทศแล้ว สถานการณ์โควิด-19 น่าจะไม่มีปัญหา