เหตุการณ์ “ผู้แสวงบุญฮัจย์” จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกลอยแพในซาอุดีอาระเบีย มีความคืบหน้าทั้งด้านดีและร้าย
เรื่องราวแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนา การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนเข้มงวด
แต่การเดินทางไปแสวงบุญใหญ่ครั้งแรกหลังวิกฤติโควิดของพี่น้องมุสลิมจากประเทศไทย กลับมีปัญหา มีผู้เดือดร้อนถูกปล่อยทิ้ง แทบไม่มีที่พักและอาหารกว่า 500 คน ในจำนวนนี้รวมทั้ง “แซะห์” หรือ “ไกด์” หรือ “ผู้ประสานงาน” ซึ่งบางคนก็เป็นผู้ประกอบกิจการฮัจย์เองด้วย
@@ ผู้ใจบุญยื่นมือช่วยเหลือ
17 ก.ค. ภายหลังข่าวผู้แสวงบุญฮัจย์ถูกลอยแพเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้ใจบุญเข้าช่วยเหลือเร็วกว่าหน่วยงานรัฐ
ผู้ใจบุญรายนี้คือ นายอาดัม พรภาพงาม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนฮาฟิศ อะลูกะห์ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
อาดัมเป็นหนึ่งในคนไทยที่ไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ในปีนี้ และได้ทราบข่าวความเดือดร้อนของกลุ่มผู้แสวงบุญที่ออกมาเรียกร้องเปิดตัว จำนวน 21 คน จึงได้เสาะหาข้อมูลและออกตามหา ก่อนจะหาที่พักใหม่ใกล้มัสยิดอัลฮะรอมให้ ห่างประมาณ 200 เมตร จะได้สะดวกในการไปประกอบศาสนกิจ
“เขาบอกว่าพวกเขาถูกทิ้ง แต่พวกเขาอดทนได้ เพียงแต่มีคนแก่ๆ ที่เขาไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะที่พักอยู่ใกล้กับมัสยิดมาก ทำให้เสียโอกาส บางคนนั่งรถวีลแชร์ เราก็เลยขึ้นไปคุยกับเขา และหาที่พักใหม่ให้”
ค่าห้องพักใหม่ที่อาดัมหาให้ ราคาห้องละ 2,800 บาทต่อวัน ต้องใช้ทั้งหมด 5 ห้อง รวมๆ แล้วต้องใช้เงิน 56,000 บาท อาดัมบอกว่าเงินจำนวนนี้ยังพอมีที่จะให้ เรื่องเงิน ใช้ไปแล้วก็หาใหม่ได้ แต่เรื่องคนที่มาฮัจย์ บางคนอาจจะมาได้ครั้งเดียวในชีวิต
หลังข่าวนายอาดัมช่วยเหลือผู้แสวงบุญที่ถูกลอยแพกระพือออกไป ปรากฏว่าได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง และมีหลายคนบริจาคช่วยเหลือ เพื่อลดภาระให้เขาด้วย
@@ เอกสารละเอียดยิบ ยังถูกโกง!
การเดินทางไปฮัจย์ในปัจจุบัน มีระบบการตรวจสอบที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทุกอย่างมีเอกสาร ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ละรายการมีระบุค่าใช้จ่าย และยอดเงินรวมอย่างชัดเจน จนชาวบ้านและผู้แสวงบุญไม่คิดว่าจะถูกโกงได้ เนื่องจากเอกสารชัดเจนมาก
ตัวอย่างรายการค่าใช้จ่ายที่มีการทำเอกสารกับบริษัทประกอบกิจการฮัจย์ ของผู้แสวงบุญที่ถูกลอยแพ
- ค่าทำหนังสือเดินทาง 1,000 บาท
- ค่าหนังสือรับรองศาสนา / เครือญาติ 200 บาท
- ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไป–กลับ 58,000 บาท
- ค่าพาหนะ / คำบริการในประเทศซาอุดีอาระเบีย 35,860 บาท
- ค่าอาหารในช่วงพิธีฮัจย์ 5,360 บาท
- ค่าอาหารระหว่างที่พักอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย 25,000 บาท
- ค่ากระเป๋าใส่สัมภาระ กระเป๋าถือ และจุดประกอบพิธีฮัจย์ 13,000 บาท
- ค่าเช่าที่พัก ณ เมืองมักกะฮ์ และเมืองมะดีนะฮ์ 98,000 บาท
- ค่าดัม 4,000 บาท
- ค่าบริการ 12,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 8,780 บาท
รวมเป็นเงิน 250,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บเพิ่มอีก 29,000 บาทก่อนเดินทาง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 279,000 บาท
เอกสารยังระบุเส้นทางบิน และกำหนดการหลังจากเดินทางถึงประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างละเอียด เช่น
วันที่ 20-25 มิ.ย. เข้าพักที่โรงแรมมักกะฮ์ เป็นโรงแรม 3-5 ดาวหรือเทียบเท่า
วันที่ 25-26 มิ.ย. เยี่ยมชมที่ประวัติศาสตร์ มักกะฮ์ จำนวน 1 ครั้ง
วันที่ 19 ก.ค. เดินทางจากมักกะฮ์ไปมะดินะฮ์ โรงแรม 3-5 ดาวหรือเทียบเท่า
วันที่ 20 ก.ค. เยี่ยมชมที่ประวัติศาสตร์ มะดีนะฮ์ 1 ครั้ง
วันที่ 23 ก.ค. ชมพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมมัสยิด ณ เมืองมะดินะฮ์
วันที่ 28 ก.ค. เข้าไปละหมาดในเราว์เฎาะ ท่านนบี (ซล.) (จุดฝังศพศาสดา ) 1 ครั้ง
วันที่ 29 ก.ค. เดินทางกลับบ้าน
เอกสารชัดขนาดนี้ ใครจะคิดว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้
ความจริงที่ผู้แสวงบุญต้องเจอก็คือ ไม่มีอะไรเป็นไปตามเอกสารเลย คณะที่ร่วมชะตากรรมเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มากที่สุด อายุ 89 ปี ต้องนั่งวีลแชร์ ไปไหนมาไหนลำบากมาก หนำซ้ำยังไม่รู้ว่าจะได้เดินทางกลับหรือไม่ ที่พักอยู่ใกล้ คับแคบ ไม่มีอาหารไปส่งเหมือนกับที่ตกลงกัน
@@ อดีต จนท.กองฮัจย์ ให้ข้อมูลไปอีกทาง
อดีตเจ้าหน้าที่กองฮัจย์รายหนึ่ง ซึ่งเคยปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยว่า หลังทราบข่าวได้ติดต่อเจ้าหน้าที่กองฮัจย์ว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่า ทราบและมีข้อมูลทั้งหมดแล้ว แต่อยู่ระหว่างการหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ
“ส่วนของที่พักตามที่มีการให้ข้อมูลว่าไม่มีมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ประจำเมืองมักกะฮ์ได้ไปเยี่ยมและสอบถามข้อมูล รวมถึงตรวจสอบแล้วพบว่า ที่พักอยู่ในระยะห่างจากมัสยิดอัลฮะรอม ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ของกระทรวงฮัจย์ (ของซาอุฯ) เพราะเขากำหนดว่าต้องไม่อยู่ห่างจากมัสยิดอัลฮะรอมเกิน 2 กิโลเมตร แต่ที่พักนี้ห่างเพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น”
อดีตเจ้าหน้าที่กองฮัจย์ บอกด้วยว่า ปัญหาตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจของบริษัทผู้ประกอบกิจการฮัจย์ได้เลย แต่ได้พูดคุยกับพนักงานบางคนของบริษัท ได้รับคำชี้แจงว่า ปัญหาเกิดจากแซะห์ไม่จ่ายเงินให้บริษัท แซะห์คุยกับบริษัทว่าจะทำอาหารเอง จึงขอไปอยู่ตรงนั้น ยืนยันว่าปัญหาไม่ได้เริ่มจากรัฐ แต่หน่วยงานรัฐต้องเข้าไปไกล่เกลี่ย เพราะไม่สามารถทิ้งได้ ธุรกิจนี้มีผลประโยชน์ร่วมจำนวนมาก
@@ หาไม่เจอ! หจก.เจ้าปัญหา ลอยแพผู้แสวงบุญ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อตามหาที่ตั้งของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่เกิดปัญหาลอยแพผู้แสวงบุญ ตามที่อยู่ที่ให้ไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คืออาคารริมถนนเมืองใหม่ ในเขตเทศบาลนครยะลา และยังระบุทุนจดทะเบียนเมื่อปี 63 จำนวน 3 ล้านบาท
แต่เมื่อทีมข่าวไปถึงอาคารตามที่อยู่ที่แจ้ง ปรากฏว่าเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 3 คูหา ทาสีฟ้า มีป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า โรงเรียนพัฒนยะลาบริรักษ์ เมื่อเข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในอาคารทราบว่า อาคารแห่งนี้ถูกปรับเป็นโรงเรียนมา 2 เดือนกว่าแล้ว ตนไม่รู้เรื่องว่าเป็นบริษัทผู้ประกอบกิจการฮัจย์มาก่อน
ส่วนในเรื่องของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาบูฮานาน แทรเวิล ไม่มีใครรู้ ไม่สามารถตอบได้
@@ “อะมีรุ้ลฮัจย์” เผยบริษัท-แซะห์ มีปัญหาการเงิน
ด้าน นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะ “อะมีรุ้ลฮัจย์” หรือ คณะผู้แทนฮัจย์ทางการ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูล พบว่าบริษัทมีปัญหาการเงินตั้งแต่ก่อนโควิด มีผู้แสวงบุญจำนวนหนึ่งตกค้างจากตอนนั้น บริษัทไม่จ่ายเงินคืนในปีนั้น แต่ให้ไปฮัจย์ปีนี้แทน เมื่อไปปีนี้ ทราบว่าบริษัทเอาเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายค่าโรงแรมไว้ตั้งแต่ช่วงโควิด 6 ล้านบาท เป็นการมัดจำโรงแรม ในช่วงมีโควิดได้ขอเงินคืน 3 ล้าน โรงแรมก็คืนให้
“ปัญหาอยู่ที่บริษัทส่วนหนึ่ง และที่แซะห์ส่วนหนึ่ง คือทราบว่าแซะห์บางคนจ่ายเงินยังไม่ครบ ติดค้างเงินบริษัท พอเป็นแบบนี้ บริษัทซึ่งมีปัญหาเรื่องการเงินอยู่แล้ว ทำให้ทุกอย่างรุมเร้า พอจะบิน ปรากฏว่าบริษัทไม่มีเงินค่าตั๋วเครื่องบิน พอไม่มีค่าตั๋วก็ถูกเรียกเก็บ บริษัทก็ดิ้นหาเงิน บวกกับแซะห์ร่วมกันรวบรวมเงินเพื่อให้ได้บินก่อน จึงเดินทางบินมนสภาพที่รู้อยู่แล้วว่าถ้าบินไปจะมีปัญหาแน่”
@@ สัญญาเช่าบ้านแนบสัญญาโรงแรม
“ปรากฏว่าเมื่อไปถึง ก็พาผู้แสวงบุญไปอยู่บ้านปกติ ไม่ใช่โรงแรมตามสัญญา บ้านเช่าหลังนี้กรมการปกครองเองอนุญาตให้พัก ด้วยเงื่อนไขที่บริษัทแนบสัญญาโรงแรมซอฟวะ ที่เขาโอนมัดจำตอนแรก 6 ล้าน ทางกรมฯจึงอนุโลม เพราะเห็นว่ามีสัญญาแนบประกบ แต่บ้านนี้ไม่ได้ และไม่ได้ไปโรงแรม จึงถือว่าผิดสัญญา” ซากีย์ กล่าว
และว่า เบื้องต้นได้นำเงินเยียวยาที่เป็นเงินบริจาคจากฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) และองค์กรศาสนา 6 จังหวัด (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ กรุงเทพฯ) รวมทั้งเงินส่วนตัวรวม 27,000 บาท เป็นค่าอาหารได้ 2 วัน นำไปบรรเทาความเดือดร้อนก่อน”
@@ แฉขบวนการโกง ช่องโหว่ใช้นอมินี
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจาก ซากีย์ เล่าในฐานะ “อะมีรุ้ลฮัจย์” ว่า กรมไม่มีช่องทางไปบังคับบริษัทพวกนี้ เพราะมีความเชี่ยวชาญ
“เขาเปิดบริษัท พอมีปัญหาเขาก็ปิด แล้วเอาคนอื่นไปจดบริษัทใหม่เป็นนอมีนี กรมการปกครองไม่สามารถรู้ได้ว่าคนนี้มาจดบริษัทให้กับใคร ปัญหาอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นกลับมา กรมการปกครองต้องปิดบริษัทเขา และผมได้คุยกับทนายอาดีลัน (อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายประจำศูนย์มุสลิมยะลา) ว่าจะดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน
สำหรับทนายอาดิลัน ยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องนี้ เพราะในคณะที่ถูกลอยแพ มีบิดา มารดาของภรรยารวมอยู่ด้วย
@@ กรมการปกครองแจงข้อมูลยิบ
ทางด้านกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ให้ข้อมูลว่า มีผู้แสวงบุญถูกลอยแพทั้งสิ้น 547 คน ปัญหาเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ประกอบกับแซะห์บางคนจ่ายเงินไม่ครบ
จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้ กรมการปกครองได้เตรียมเงินสำรองจ่ายเรียบร้อยแล้ว เป็นเงินจาก “กองทุนฮัจย์” ซึ่งมีอยู่ 300 กว่าล้านบาท มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการยืมไปสำรองจ่ายค่าที่พัก และทุกๆ ปีผู้ประกอบการจะทำเรื่องขอยืม โดยการยืมก็จะมีหลักประกัน เผื่อว่ากลับมาแล้วไม่ชำระหนี แต่กรณีนี้ ผู้ประกอบการไม่ได้ประสงค์จะยืมแล้ว ซ้ำยังยืนยันว่าได้จัดที่พักให้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ทางกรมการปกครองไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งตรวจสอบทันทีที่ทราบข้อมูล มีการเตรียมห้องพักไว้ เป็นสำนักงานกิจการฮัจย์ที่เช่าตึกไว้ในเมืองมักกะฮ์ สามารถรองรับได้ 130 คน แต่ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ประสงค์อยู่ที่เดิม และมี 21 คนที่มีผู้ใจบุญให้ความช่วยเหลือไปก่อน ซึ่งตรงนี้ คนที่ช่วยก็น่าชื่นชม เป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องอาหารมีหลายหน่วยเข้าไปช่วย ทั้ง “อะมีรุ้ลฮัจย์” กรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานอยู่ที่ซาอุฯ
@@ “นัจมุดดีน” ชงแก้กฎหมาย ปิดช่องโหว่
นายนัจมุดดีน อูมา คณะทำงานพรรคภูมิใจไทย จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย พร้อมคณะทำงานของพรรค แถลงว่า ได้เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524 เพื่อคุ้มครองฮุจญาจ หรือผู้แสวงบุญในอนาคต โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง และรัฐต้องพร้อมจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ที่ทำงานในหน่วยงานนี้ เสมือนเป็นข้าราชการ
สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ที่จะเสนอแก้ คือ
1.ให้มีคณะกรรมการกิจการฮัจย์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีข้าราชการระดับสูงหลายหน่วยงานเป็นกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลามอีกจำนวนหนึ่งเป็นกรรมการ
2.คณะผู้แทนฮัจย์ทางการ มีหน้าที่กำกับดูแลภารกิจที่เกี่ยวข้อง ได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนด
3. จัดตั้ง “สำนักงานกิจการฮัจย์” มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ให้มีเลขาธิการเป็นหัวหน้าสำนักงาน ได้รับค่าตอบแทนและเงินอื่นตามระเบียบ
4.จัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมกิจการฮัจย์” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกกิจการฮัจย์
“ทั้งหมดนี้หากมีปัญหา เกิดกรณีฉุกเฉิน หน่วยงานนี้จะต้องเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และมีเงื่อนไขที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทหรือผู้ประกอบการฮัจย์จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอย” อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย กล่าว