กลายเป็นประเด็นที่วิจารณ์กันให้แซ่ดในช่วงนี้ นั่นก็คือรายงานพิเศษของสื่อออนไลน์ เดอะรีพอร์ตเตอร์ ที่เปิดชื่อ เปิดหน้า “คีย์แมนคณะพูคคุยเพื่อสันติภาพดับไฟใต้” ชุดใหม่
ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายดับไฟใต้เป็นนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองหลายพรรคใน “ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” ที่นำโดยพรรคก้าวไกล
“ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานไปแล้วว่า พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายเรื่องนี้ นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมี “พรรคประชาชาติ” ซึ่งเป็นแชมป์ ส.ส.ชายแดนใต้ และ “พรรคเป็นธรรม” ซึ่งแม้จะเป็น “พรรคจิ๋ว 1 เสียง” แต่ชูนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะ กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียงหนึ่งเดียวของพรรค และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม
นโยบายที่นำเสนอล้วนถูกมองว่า “ตรงและแรง” คือจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะการถอนทหาร, ยกเลิกด่านตรวจ, เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เลิกกฎอัยการศึก และยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษดับไฟใต้ ทำหน้าที่มานานหลายปี
จากนโยบายแนวฮาร์ดคอร์ ได้ใจคนอย่างเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเคลื่อนไหวของว่าที่รัฐบาลใหม่ที่เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาไฟใต้ถูกจับตาและซักถามจากหลายฝ่ายอย่างมาก โดย “ว่าที่นายกฯพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็เคยตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้จะเป็น “วาระแห่งชาติ” และตนให้ความสนใจจะดูแลเอง
ส่วนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินหน้ามาตลอดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และใช้บริการอดีตทหาร อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยมาทุกครั้งนั้น “ว่าที่รัฐบาลใหม่” ยืนยันว่าจะมีการเปลี่ยนตัวแน่นอน โดยใช้ “พลเรือน” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทน เลิกใช้บริการทหาร
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีรายงานพิเศษของสื่อออนไลน์ เดอะรีพอร์ตเตอร์ ที่สร้างกระแสฮือฮา เพราะมีการเขียนเปิดตัว “ว่าที่คีย์แมนคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพดับไฟใต้” ประกอบด้วย
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย
ผู้มีบทบาทสำคัญ / ว่าที่ผู้ร่วมคณะ ได้แก่
- รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนนี้เคยเป็นอดีตสื่อมวลชน ลูกชายของ สุริยา ปันจอร์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และแกนนำองค์กรดีพเซาท์วอทช์
- กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ผู้ที่ชูวาทกรรม “ปาตานี” หวังฟื้นความยิ่งใหญ่ของรัฐปาตานีในอดีต เคยทำงานที่ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์
- พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้สนับสนุนพรรคเป็นธรรม รู้จักมักคุ้นกับ กัณวีร์ เป็นอย่างดี
- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตแกนนำคณะพูดคุยฯ ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เคยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ
ข่าวที่ออกมาทำให้ฝ่ายความมั่นคงให้ความสนใจอย่างมาก เพราะหลายคนในกลุ่มที่ถูกระบุว่าเป็นคีย์แมน โดยเฉพาะ ธนาธร เคยแสดงความเห็นต่อสาธารณะ สนับสนุนแนวทาง “เขตปกครองตนเองแบบพิเศษ” เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้โดยใช้รูปแบบการปกครองรูปแบบใหม่ ซึ่งสวนทางกับแนวทางของฝ่ายความมั่นคงที่มองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่ได้สำเร็จ และมองว่าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ที่ถูกต้อง
@@ เปลี่ยนชื่อ “สันติสุข” เป็น “สันติภาพ”
สำหรับแนวทางการพูดคุยดับไฟใต้ นอกเหนือจากเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยเป็น "พลเรือน" ซึ่งมีข่าวว่า ธนาธรให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมากแล้ว ยังมีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ใช้ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในการพูดคุยยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย โดยกลุ่มคนเหล่านี้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และความหมายของ “สันติสุข” กับ “สันติภาพ” ก็แตกต่างกัน
@@ “เสธ.แมว” แง้ม “หลงทาง - ยังไม่ใช่เวลา”
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถาม พล.ท.ภราดร เกี่ยวกับข่าวที่ออกมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวหัวหน้าและทีมพูดคุยดับไฟใต้ มีชื่ออกมาพร้อมสรรพ
พล.ท.ภราดร บอกว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในรายละเอียด เพราะต้องตั้งรัฐบาล และฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยมาหารือเรื่องคณะพูดคุยดับไฟใต้
ส่วนข่าวที่ออกมาในช่วงนี้ และฝ่ายความมั่นคงให้ความสนใจ แชร์ข่าวกันอย่างกว้างขวางนั้น พล.ท.ภราดร หรือ “เสธ.แมว” ตอบว่า “หลงทางกันไปครับ”
@@ ย้อน 10 ปีพูดคุยดับไฟใต้ “เปิดเผย - บนโต๊ะ”
อนึ่ง โต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ และเปิดการพูดคุยกับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ
แกนนำสำคัญของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย นอกจาก พล.ท.ภราดร แล้ว ยังมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ในขณะนั้น และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีประสบการณ์เคยร่วมสังเกตการณ์การปลดอาวุธในกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ลงนามในเอ็มโอยู เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นการพูดคุยแบบ “เปิดเผย - บนโต๊ะ" เป็นครั้งแรก และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ฝ่ายรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มองว่าเป็นการพูดคุยที่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย โดยมองเห็นสันติภาพอยู่ปลายทาง แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับมองสวนทางว่า การพูดคุยแบบ “เปิดเผย - บนโต๊ะ” ทำให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น และจะเพิ่มข้อเรียกร้องมากกว่าเดิมจนยากที่จะหาจุดลงตัวร่วมกัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีมวลชนของตนเอง
กระบวนการพูดคุยหลังจากลงนามในเอ็มโอยู ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ทำให้โต๊ะพูดคุยล่มไป พร้อมๆ กับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เผชิญปัญหาทางการเมืองจากการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งเชื่อกันว่าเพื่อเปิดทางให้พี่ชายของเธอเอง คือ นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้าน และรัฐบาลของเธอถูกยึดอำนาจโดย คสช.เมื่อปี 2557
@@ เปลี่ยน 3 หัวหน้าคณะพูดคุยยุค “บิ๊กตู่”
ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรก ได้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่ในปี 2558 แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “พูดคุยสันติสุข” และเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยจาก พล.ท.ภราดร เป็น พล.อ.อักษรา เกิดผล พูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม แต่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้
จากนั้นมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงรอยต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 กับ 2 ราวๆ ปี 2561-2562 แต่ก็ไม่บรรลุข้อตกลงอีก มีการแถลงยุติการพูดคุยจากฝ่าย “มารา ปาตานี” โดย นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 (ก่อนเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเพียงเดือนกว่าๆ)
กระทั่งปลายปี 62 ต่อเนื่องถึงต้นปี 63 มีการตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และริเริ่มโต๊ะพูดคุยขึ้นใหม่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ หีพนี มะเร๊ะ หรือ อนัส อับดุลเราะห์มาน การพูดคุยดำเนินไปด้วยดี แต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป และเพิ่งมาฟื้นกระบวนการพูดคุยเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็ชะงักไปอีกรอบช่วงก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ยอมคุยต่อ เพราะมองว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
หากพรรคก้าวไกลได้ตั้งรัฐบาล โต๊ะพูดคุยจะถูกเปิดขึ้นใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ ส่วนจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตามที่เป็นข่าวหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!