ควันหลงจับสลาก “เบอร์พรรค” ที่ยื่นใบสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ต่อ กกต.
พรรคประชาชาติในฐานะ “แชมป์เก่า” สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มา 6 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 62 ไปยื่นใบสมัครปาร์ตี้ลิสต์ตั้งแต่วันเปิดรับสมัครวันแรก 4 เม.ย.66
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ควงคู่ไปกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค โดยทั้งสองได้รับการเสนอชื่อจากทางพรรคให้เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นคนขึ้นไปจับสลากหมายเลข ปรากฏว่าได้เบอร์ 11 แม้จะเป็นเลข 2 ตัว แต่ก็เป็นเลขเบิ้ล หาเสียงง่าย
หลายคนให้ความสนใจ “แบนเนอร์” และโพสต์ของพรรคประชาชาติที่พยายามสื่อสารกับแฟนคลับและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า “เลข 11 สำคัญอย่างไร” จะได้จำได้ว่าเป็นเบอร์ของพรรคประชาชาติ
โพสต์ของพรรคประชาชาติในเฟซบุ๊กของพรรค ระบุว่า ความสำคัญในมุมของพรรคประชาชาติคือ
11 พฤษภาคม เป็นวันเกิดท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค
11 พฤษภาคม เป็นวันเกิดท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ
11 เป็นบ้านเลขที่ของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค
และ 11 เป็นเบอร์ของพรรคประชาชาติ
สรุปว่าเบอร์ 11 สำคัญแบบนี้...
@@ วิจารณ์แซ่ด “ลำดับปาร์ตี้ลิสต์” อดีตแกนนำวาดะห์หลุด 4 คนแรก!
ส่วนอันดับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติมีเสียงวิจารณ์จากในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของพรรคประชาชาติด้วยเช่นกัน เพราะ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ กับ นายมุข สุไลมาน สองอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ ซึ่งร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ และเป็นผู้ใหญ่ในพรรค กลับกระเด็นไปอยู่ลำดับ 5 และ 10 ส่วนคนที่มาคั่นอยู่บนๆ บางคนเป็นคนใหม่ที่เข้าพรรคมาได้ไม่นาน และไม่ได้ร่วมต่อสู้ตั้งพรรคมาตั้งแต่ต้น
โดยเฉพาะลำดับ 3 คือ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ซึ่งแฟนคลับของพรรคประชาชาติเห็นชื่อแล้วงงว่าเป็นใคร
@@ รู้จัก “สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ” อดีต ส.ก. - บอร์ดรัฐวิสาหกิจ - โยงบีทีเอส
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบข้อมูลพบว่า นายสมบูรณ์ เป็นอดีตข้าราชการอัยการ เคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เคยเป็นกรรมการ หรือ บอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของบีทีเอส กรุ๊ป
มีรายงานว่า ระยะ 1-2 ปีมานี้ พ.ต.อ.ทวี มีความใกล้ชิดกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยนายคีรีเคยลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมาตามคำเชิญของ พ.ต.อ.ทวี เพื่อจัดกิจกรรมพบปะนักธุรกิจและนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีนที่ อ.เบตง จ.ยะลา
ส่วนลำดับ 4 คือ นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา เคยมีข่าวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ยะลา ของพรรคประชาชาติ แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นตัวแทนเขต ต้องหลีกทางให้ นายสุไลมาน บือแนปีแน คนสนิทของ นายซูการ์โน มะทา น้องชายหัวหน้าพรรค ทำให้ต้องดันขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ และอยู่ลำดับ 4 มีลุ้นเข้าสภา
@@ “ทวี” แจงโชว์พหุวัฒนธรรม - เชื่อแกนนำ “วาดะห์” เข้าใจดี
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตอบคำถาม “ทีมข่าวอิศรา” เรื่องการจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติว่า การที่นายอารีเพ็ญ มีชื่ออยู่ในลำดับ 5 ตามหลัง นายยู่สิน จินตภากร ลำดับที่ 4 ทั้งๆ ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนั้น เพราะต้องการทำให้เห็นถึงพรรค “พหุวัฒนธรรม" อยู่ร่วมกันได้ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา เพราะนายยู่สินเป็นตัวแทนคนไทยเชื้อสายจีนใน จ.ยะลา
ส่วนลำดับ 3 คือ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ เป็นอดีตข้าราชการอัยการ ถือเป็นตัวแทนข้าราชการ เชื่อมั่นว่านายอารีเพ็ญเข้าใจ ส่วนนายมุข สุไลมาน ผู้ก่อตั้งพรรคอีกคน อยู่ลำดับที่ 10 ทราบว่าอาจารย์วันนอร์เคลียร์แล้ว ทำความเข้าใจกันแล้ว
@@ เซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ประชาชาติ สูงสุด 5 อันดับ
อนึ่ง คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติ ในการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งส่งผู้สมัครทั่วประเทศ ได้มาทั้งสิ้น 485,279 คะแนน คำนวณออกมาเป็น ส.ส.พึงมี ได้ 7 คน โดยพรรคประชาชาติได้ ส.ส.เขตแล้ว 6 คน จึงได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน โดยตัวหาร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งปี 62 เป็นคนละตัวกับการเลือกตั้งปี 66 ซึ่งหารด้วย 100 และใช้ระบบบัตรสองใบ แตกต่างจากปี 62 ที่ใช้ระบบบัตรใบเดียว
มีการประมาณการณ์กันว่า คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่จะทำให้ได้ ส.ส. 1 คน ต้องสูงถึง 350,000-390,000 คะแนน คำนวณง่ายๆ คือ “ล้านละ 3 คน” หากพรรคประชาชาติได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใกล้เคียงกับปี 62 จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 1 คน
แต่พรรคประชาชาติคาดหวังได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1 ล้านถึง 1.5 ล้านคะแนน ซึ่งก็จะมีโอกาสได้ ส.ส.สูงสุด 5 คน หรือน้อยกว่านั้นหากตัวหารเพิ่ม และได้คะแนนต่ำกว่า 1.5 ล้านคะแนน
ฉะนั้น “เซฟโซน” ของผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติจึงอยู่ที่ลำดับ 3-4 เท่านั้น ส่วนลำดับ 5 เป็นต้นไปค่อนข้างยากที่จะได้เป็น ส.ส.