มุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์มลายู” ระหว่างพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ถือเป็นปัญหามาโดยตลอด
และกลายเป็น “ความไม่เข้าใจ” จนบานปลายเป็นชนวนของความขัดแย้งแตกแยกในดินแดนปลายด้ามขวาน ทั้งยังเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของ “ไฟใต้” ที่คุโชนมานานกว่า 100 ปี โดยเฉพาะใน 2 ทศวรรษมานี้ที่เต็มไปด้วยเหตุรุนแรงรายวัน
“อัตลักษณ์มลายู” ที่ชาวบ้าน ประชาชนคนในพื้นที่มองเป็นเรื่องปกติ ก็เช่น การแต่งกายแบบมลายู, ภาษา ซึ่งคนพื้นที่ใช้ “ภาษามลายูถิ่น” ในการสื่อสาร ตลอดจนประเพณีต่างๆ อย่างการสร้างประตูเมือง และการทำสัญลักษณ์มือ หรือสัญลักษณ์อื่นๆ
เรื่องแบบนี้คนในพื้นที่มองว่า “ปกติ” แต่คนต่างถิ่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐอาจมองเป็น “ภัยความมั่นคง” หรือมีความพยายามปลุกกระแส “แบ่งแยกดินแดน” ได้เหมือนกัน นี่คือมุมมองที่แตกต่าง จนกลายเป็น “ความไม่เข้าใจ”
อย่างล่าสุด มีรายงานแจ้งเตือนของ “หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่” โดยอ้างอิงถึงกิจกรรมขบวนพาเหรดการแข่งขันกีฬาสีของ “ตาดีกา” แห่งหนึ่งใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
“ตาดีกา” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์การศึกษาประจำมัสยิด” พูดง่ายๆ คือโรงเรียนปฐมวัย สอนทั้งหนังสือให้กับเด็กๆ และสอนจริยธรรม ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักศาสนา เช่น การละหมาด ต้องทำอย่างไร เป็นต้น
กิจกรรมที่ถูกจับตานี้ เป็นกิจกรรมขบวนพาเหรดกีฬาสีของตาดีกาแห่งหนึ่งใน อ.จะแนะ ซึ่งจัดขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.66 มีการโพสต์ภาพในเพจเฟซบุ๊กกันอย่างเอิกเกริก
รายงานของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า พบการถ่ายภาพเด็กชูหนึ่งนิ้ว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่ายความมั่นคงตีความว่า สัญลักษณ์ชูหนึ่งนิ้ว แปลว่า “ปาตานีหนึ่งเดียว” (นัยหมายถึงการต่อสู้เพื่อปาตานี โยงกับแนวคิดแบ่งแยกดินแดน)
นอกจากนั้น ยังพบภาพเด็กในขบวนพาเหรด ถือรูปของ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ด้วย
“ทีมข่าวอิศรา” รายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาเรื่องนี้ เพราะเคยมีกลุ่มก่อการร้ายสากล ทั้งไอเอส และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ ทำสัญลักษณ์ “ชูหนึ่งนิ้ว” เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการลอกเลียนแบบ หรือปลูกฝังแนวคิด “แบ่งแยก” ในหมู่เยาวชน ซึ่งถือเป็น “เป้าหมายอ่อนไหว” สำหรับสังคม ถ้าเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายปกครองใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าไปจัดการ จะส่งผลทางลบอย่างมาก
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หากกลุ่มก่อการร้ายสากลยังทำสัญลักษณ์ “ชูหนึ่งนิ้ว” ความหมายย่อมไม่ใช่ “ปาตานีหนึ่งเดียว” ตามที่ฝ่ายความมั่นคงระบุอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มก่อการร้ายสากลคงไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการต่อสู้ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ก็นิยม “ชูหนึ่งนิ้ว” เพื่อแสดงสัญลักษณ์ “การทำญิฮาดเพื่ออัลลอฮ์” ด้วยเช่นกัน
ส่วนการถือภาพ “หะยีสุหลง” ฝ่ายความมั่นคงให้ความสนใจ เพราะตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เป็นที่รับรู้กันว่า “หะยีสุหลง” เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2500 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของปัตตานี โดยเน้นให้คนมุสลิมปกครองตัวเอง จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และถูกอุ้มฆ่าถ่วงน้ำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนั้นยังมีการถือภาพ นายสะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของนักรบที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐในสถานการณ์ไฟใต้ห้วง 2 ทศวรรษมานี้ โดย นายสะแปอิง ถูกออกหมายจับ และมีรางวัลนำจับหลักล้านบาท ทำให้ต้องหลบหนีไปพำนักในต่างประเทศจนเสียชีวิต
แต่คนในพื้นที่มองว่า นายสะแปอิง เป็นครูโรงเรียนสอนศาสนาที่มีความสามารถ และพัฒนาโรงเรียนธรรมวิทยาฯ จนโด่งดัง ได้รับการยอมรับไปถึงชาติมุสลิมอื่นๆ
“ทีมข่าวอิศรา” ขอสัมภาษณ์ อาจารย์มูฮัมหมัด อับดุลเลาะ ซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาคนหนึ่งในพื้นที่
อาจารย์มูฮัมหมัด บอกว่า การชูหนึ่งนิ้ว มีความหมายว่า “เพื่ออัลลอฮ์หนึ่งเดียว” หรือ “อัลลอฮ์ มีหนึ่งเดียวเท่านั้น“ ไม่มีความหมายอื่นนอกจากนี้
ในพื้นที่มีหลายกลุ่มที่ “ชูหนึ่งนิ้ว” เพื่อแสดงถึงการกระทำเพื่ออัลลอฮ์ มีอัลลอฮ์อยู่ในใจ เช่น กลุ่มเยาวชนในพื้นที่
อาจารย์มูฮัมหมัด บอกด้วยว่า อิสลามสอนให้เรียกร้องต่อสู้เพื่ออัลลอฮ์ การชูมากกว่าหนึ่งนิ้วถือเป็นการเรียกร้องไปสู่วิถีอื่น ระบอบอื่น ซึ่งคนมุสลิมในฐานะ “บ่าวของอัลลอฮ์” ไม่สามารถกระทำได้ เพราะคำปฏิญาณหนึ่งที่มุสลิมมักจะกล่าวขณะละหมาด คือ “แท้จริงการมีชีวิตอยู่ของฉัน การตายของฉันเพื่อเอกองค์อัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”
คำปฏิญาณนี้มุสลิมกล่าวอยู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละห้าครั้งที่ละหมาด จึงไม่ใช่เรื่องความมั่นคง หรือเป็นภัยร้ายใดๆ ทั้งสิ้น คนที่คิดว่าเป็นเรื่องความมั่นคง คือคนที่เป็นปรปักษ์กับอัลลอฮ์