ประมงปัตตานีรวมตัวขับไล่ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาฯ ศอ.บต. พร้อมเรียกร้องเงินเยียวยานำเรือออกนอกระบบที่ล่าช้ามากว่า 3 ปี ด้าน ศอ.บต.แจงการจ่ายเงินชดเชยทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติของส่วนราชการ พร้อมแจงไทม์ไลน์ละเอียดยิบ สอดรับรองโฆษกรัฐบาล เผยเรื่องจ่อเข้าคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ 30 ม.ค.นี้ ก่อนชงเข้า ครม.อีกรอบ จึงจะจ่ายได้
เมื่อเวลา 10.00 น.วันพุธที่ 18 ม.ค.66 ที่ลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลลางจังหวัดปัตตานี ชาวประมงจังหวัดปัตตานีกว่า 100 คน นำโดย นายยอดยิ่ง จันทรโชติ ได้รวมตัวเรียกร้องให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เร่งช่วยเหลือเยียวยาเรือประมงจำนวน 104 ลำที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด ทำให้ชาวประมงในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมได้นำป้ายผ้ามีข้อความเพื่อขับไล่ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ “ดร.เจ๋ง” รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้ออกไปจากกระบวนการแก้ปัญหาของชาวประมง และให้ออกจาก ศอ.บต. เนื่องจากเห็นว่า นายชนธัญ แก้ปัญหาไม่เป็น ไม่กล้าตัดสินใจ บางอย่างทำไม่ได้ ทำให้เกิดความล้าช้า เหมือนชาวประมงถูกหลอก และรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม กลุ่มชาวประมงต้องการคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้จริงๆ ไม่ต้องการคนที่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ดังนั้นจึงได้มารวมตัวกันเพื่อมอบข้อเรียกร้องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยในวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมร่วมกันกับทางจังหวัด เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
นายยอดยิ่ง กล่าวว่า ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการแก้ปัญหา IUU Fishing (การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป หรือ อียู ชาวประมงได้เข้าร่วมกับภาครัฐทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา แม้กระทั่งการนำเรือออกนอกระบบก็ได้ให้ความร่วมมือ แต่ที่ผ่านมากว่า 4 ปีครึ่ง เกิดการยื้อเวลาและเหมือนถูกหลอก ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะได้รับเงินในช่วงก่อนปีใหม่นี้ แต่ก็ยื้อไปอีก จึงต้องบอกว่าเราจะไม่ทน ถ้าไม่ได้คำตอบ และขอเรียกร้องให้จ่ายเงินฟื้นฟู โดยขอให้จ่ายในเงินเร็วที่สุด จะไม่รอให้หมดปีเพราะรอมานานแล้ว และยิ่งจ่ายเงินช้ายิ่งทำให้ชาวประมงได้รับเงินเยียวยาลดลงไปอีก
“สุดท้ายการเอาคนที่ทำไม่ได้ ไม่คิดจะทำ และสร้างเงื่อนไขมาทำลายจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป เราไม่ต้องการ เพราะไม่รู้บทบาทของตัวเองว่า การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องดูแลทุกข์สุขของพี่น้องในทุกอาชีพ แต่กลับทำตัวเหมือนเป็นจุดศูนย์กลาง และพยายามเอาตัวรอด ไม่แก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชาวประมงหมดแรงไปเอง” แกนนำกลุ่มชาวประมงจังหวัดปัตตานี กล่าว
@@ ศอ.บต.แจงจ่ายเงินชดเชยฯ เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติ
ด้าน ศอ.บต. ได้ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ได้รับทราบปัญหาและหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวประมงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเรียนปัญหาดังกล่าวไปยังรัฐบาลเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดีที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ
โดยเมื่อวันที่ 11 ม.ค.66 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบดังนี้
1.เห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ของกลุ่มเรือประมงที่รับการประเมินสภาพเรือ จำนวน 97 ลำ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 166,723,800 บาท ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อให้เป็นเกณฑ์และคุณสมบัติเดียวกัน
2.มอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเป็นหน่วยดำเนินการจ่ายเงินชดเชยการทำลายเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะกำหนดไว้ต่อไป
@@ ย้ำต้องทำตามขั้นตอน ปัดยื้อ-ดึงเรื่อง
3.จังหวัดปัตตานีในฐานะประธานคณะทำงานด้านการตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติเรือประมง และเจ้าของเรือพื้นที่จังหวัดปัตตานี กำหนดจัดประชุมเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) โดยนำเกณฑ์และคุณสมบัติของเรือประมงและเจ้าของเรือที่จะนำออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (กลุ่มเรือ 1,776 ลำ) เพื่อนำผลเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเยียวยาตามมาตราการลดจำนวนเรือประมงเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะกำหนดประชุมในวันที่ 20 ม.ค.66 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอให้กรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติต่อไป
จากการดำเนินการข้างต้น ศอ.บต. ขอเรียนว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่ส่วนราชการได้กำหนดร่วมกัน ซึ่ง ศอ.บต.เป็นส่วนราชการหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติที่ส่วนราชการในฐานะหน่วยบังคับใช้กฎหมายกำหนด นั่นคือการเสนอเรื่องไปยังอนุกรรมการกลั่นกรอง 1 และคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติตามลำดับ ซึ่งเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติของประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานการปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า ศอ.บต และรัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการทุกอย่างให้เร็วที่สุด
@@ ลุ้นผลประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงฯ 30 ม.ค.
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ชี้แจงถึงข้อกังวลจากสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เรื่องการจ่ายเงินชดเชยการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้เมื่อได้เป็นมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (กพต.) แล้ว ขั้นตอนต่อไปตามระเบียบราชการ คือการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ในวันที่ 30 ม.ค.นี้ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นชอบการตรวจสอบประวัติความถูกต้องและคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่1) จำนวน 96 ลำเรียบร้อยแล้ว และจะได้ใช้เกณฑ์และคุณสมบัติการตรวจสอบนี้ เป็นมาตรฐานในการดำเนินการกับเรืออื่นอีก 1,776 ลำ ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์และคุณสมบัติเหลือเพียงเกณฑ์สีขาวและดำเท่านั้น จากเดิมที่มี ขาว เทา และดำ โดยเรือที่ผ่านเกณฑ์และมีคุณสมบัติครบถ้วน จะถูกเสนอเพื่อการพิจารณาจากอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติในลำดับต่อไป ก่อนเสนอสู่คณะรัฐมนตรี
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินการของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นส่วนราชการหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางกลไกระเบียบราชการ โดยต้องเสนอโครงการผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประมงทั้งประเทศมีเอกภาพ เกิดความเป็นธรรม และไม่เหลื่อมล้ำกับประมงในจังหวัดอื่น จึงขอเรียนให้พี่น้องชาวประมงเข้าใจในขั้นตอนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและคลายกังวล ทุกหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องเร่งรัดการแก้ปัญหาแก่ประชาชน และท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบถึงการดำเนิการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว