อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงอยู่ในสปอตไลท์...
ตั้งแต่เกิดปัญหาเกี่ยวกับสนามบินเบตง และไฟลท์บินตรง “เบตง-กรุงเทพฯ” หลังจาก นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไฟลท์บินปฐมฤกษ์ เพื่อเปิดทั้งสายการบินและสนามบินอย่างเป็นทางการเมืองวันที่ 14 มี.ค.65 ปรากฏว่าหลังจากนั้นทุกอย่างก็หยุดชะงักไป โดยเฉพาะไฟลท์บินนกแอร์ที่ประกาศว่าจะมีถึง 3 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ ก็ต้องยกเลิกอย่างไม่มีกำหนด
พูดง่ายๆ ก็คือ นอกจากไฟลท์บินปฐมฤกษ์ของนายกฯแล้ว ยังไม่มีไฟลท์บินของประชาชนจริงๆ เลยแม้แต่ไฟลท์เดียว สวนทางกับที่จัดกิจกรรมและเผยแพร่ข่าวกันอย่างมโหฬาร แถมต่อมายังมีเอกสารหลุดออกมาว่า งบประมาณที่ใช้สำหรับเปิดดำเนินการสนามบินช่วง 2 ปีแรก จำนวน 19 ล้านบาท ก็ไม่มีตั้งเอาไว้ให้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ทำให้ต้องไปของบกลางกันวุ่นวาย
ผ่านมาเดือนเศษ ดูเหมือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มจัดการปัญหาได้ มีการแถลงร่วมกันระหว่าง นกแอร์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย (สธทท.) เปิดบิน “เบตง-กรุงเทพฯ” สัปดาห์ละ 3 ไฟลท์ เริ่ม 29 เม.ย.65 นี้ พร้อมจัดทำแพ็คเกจส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ “@เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในราคาเริ่มต้น 9,900 บาท
หลังจากนั้นก็มีแต่ข่าวดีทยอยมา เช่น ศอ.บต.กำลังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูและพัฒนาอุโมงค์แห่งใหม่ “ต้าสวุ้ยต้อ” ที่จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ค และ “แหล่งท่องเที่ยวอันซีน” ที่สำคัญในพื้นที่เบตง
นอกจากนั้น ในห้วงวันที่ 6 – 8 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ศอ.บต.จะมีการจัดกิจกรรม “วิ่งเทรล” (วิ่งผจญภัยในพื้นที่ธรรมชาติ) ภายใต้ชื่อ Amazean Jungle Trail ซึ่งเป็นกิจกรรมวิ่งระดับโลก และเป็นสนามที่ 2 ของประเทศไทย แต่เป็นสนามแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักวิ่งกว่า 10 ประเทศเข้าร่วม
@@ ข่าวไม่ดียังมีอยู่...
นี่คือข่าวดีที่ทยอยเป็นระลอก แต่แล้วก็มีข้อมูลอีกด้านย้อนศรกลับมาเหมือนกัน
1.การเปิดไฟลท์บิน “เบตง-กรุงเทพฯ” 3 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ พร้อมแคมเปญ “เบตง หรอยแรงฯ” แท้ที่จริงแล้วเป็นโครงการนำร่องแค่ 3 เดือน ยังไม่ใช่การเปิดรูทถาวร
2.มีการส่งข้อมูลพร้อมภาพในกลุ่มไลน์คนเบตง และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก นรินทร์ เรืองวงศา ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย หรือ สธทท. เรื่อง “ห้องน้ำในแหล่งท่องเที่ยวของเบตง” ยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
@@ แชร์ภาพห้องน้ำพังตามแหล่งท่องเที่ยว
ภาพห้องน้ำตามแหล่งท่องเที่ยวในเบตงที่ นรินทร์ ส่งในไลน์กรุ๊ปของพี่น้องชาวเบตง และชายแดนใต้ เขียนข้อความอธิบายว่า ในฐานะที่ทำงานด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวมายาวนาน อยากให้ปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน อย่าให้คนเบตงต้องเสียหน้ามากกว่านี้
นรินทร์ เล่าว่า เคยยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ประชุมนานกว่า 2 ปีแล้ว ก่อนมีโควิด-19 เสียอีก และได้รับคำตอบว่าจะปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนได้พาคณะผู้บริหารสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและนักข่าวจากกรุงเทพฯ ไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่จะเริ่มบินดอนเมือง-เบตง สัปดาห์ละ 3 เที่ยว และจะเพิ่มเที่ยวบินพิเศษอีก 2 เที่ยวบินสำหรับช่วงแข่ง Amazean Jungle Trail 6-8 พ.ค.นี้ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวและนักกีฬาเดินทางจากทั่วโลกมาแข่งขันและมาเชียร์ที่เบตง แต่คำถามคือ เราชาวเบตงเตรียมพร้อมกวาดบ้านแต่งเมืองต้อนรับชาวโลกและชาวไทยแล้วหรือยัง
“ผมเสนอให้ปรับปรุงห้องน้ำที่บ่อน้ำร้อนเบตง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมากมาย เคยเสนอมา 2 ปีกว่าแล้ว เมื่อวานเจอนักท่องเที่ยวมาพูดต่อหน้าคณะของผมว่า ‘เบตงไม่โอเค’ เมื่อสอบถามกันแล้วได้ความว่า ห้องน้ำสกปรกมาก ไม่กล้าใช้ โดยเฉพาะสุภาพสตรี คณะจึงเดินเข้าไปสำรวจดู เข้าสำรวจเฉพาะห้องน้ำชาย ทุกห้องเป็นตามรูป” นรินทร์ กล่าว และว่า ไม่อยากให้ภาพเหล่านี้ออกไปสู่สังคมทั่วไทยหรือทั่วโลก จึงขอให้รีบแก้ไขก่อนที่ภาพจะแพร่ออกไปทั่วโลกหลังวิ่งเทรล
@@ ปัญหาไม่ได้มีแห่งเดียว - ผู้รับผิดชอบโยนกลอง
ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับทีมข่าวว่า ได้พูดคุยกับผู้รับผิดชอบหลายฝ่าย รวมทั้งนายอำเภอเบตง ก็ได้แจ้งเรื่องนี้ไปแล้ว และทางนายอำเภอทราบแล้ว บอกว่าจะรีบดำเนินการแก้ไข
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจุดสำคัญโดยเฉพาะ “ศูนย์พิพิธภัณฑ์” ที่สามารถชมวิวอยู่ในระดับสูง และสามารถมองเห็นเบตงได้ทั้งหมด แต่มีทิวทัศน์ที่ไม่โอเค ก็อยากให้มีการพัฒนาปรับปรุงตรงนั้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้ติดต่อไปยัง นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง โดยจะขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ปรากฏว่านายอำเภอไม่รับสาย จึงได้ส่งข้อความทางไลน์ ซึ่งทางนายอำเภอเปิดอ่านไลน์ แต่ไม่มีการตอบอะไร
จากการตรวจสอบของทีมข่าวทราบว่า การดูแลห้องน้ำตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น บ่อน้ำร้อน อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา หรือ อบจ.ยะลา ทีมข่าวพยายามโทรศัพท์ไปสอบถาม แต่ไม่มีใครรับสาย นอกจากนั้นยังได้พยายามโทรไปถามทางเทศบาล แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า เป็นหน้าที่ อบจ.