หยุดเดินรถไฟชายแดนใต้ 3 ขบวน หลังเกิดดินสไลด์ทับเส้นทางเดินรถไฟ ระหว่างสถานีช่องเขา - ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ระดับน้ำลดลง
จากสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ธ.ค.63 ได้เกิดเหตุดินสไลด์ทับเส้นทางการเดินรถไฟที่ กม.770/17 - 19 ระหว่างสถานีช่องเขา - ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ต้องปิดเส้นทางการเดินรถไฟในจุดดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทางการรถไฟจึงประกาศปิดเส้นทางและงดเดินรถไฟระหว่างสถานีช่องเขา- ร่อนพิบูลย์
ทำให้มีขบวนรถไฟ 3 ขบวนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องงดให้บริการในวันนี้ คือ ขบวนรถเร็ว 172 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 38 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ และ ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ
นายนิติ ชัยภูมาการ นายสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้แจ้งประชาชนที่ซื้อตั๋วโดยสารของวันที่ 2 พ.ย.63 สามารถคืนตั๋วโดยสารและรับเงินคืนได้ ณ สถานีรถไฟใกล้บ้านได้ทันที สำหรับการเดินทางในวันที่ 3 พ.ย.63 รอติดตามประกาศอีกครั้งว่า จะสามารถเปิดเดินรถได้หรือไม่ ส่วนรถไฟขบวนท้องถิ่นจากสุไหงโก-ลก จะให้บริการสิ้นสุดถึงปลายทางที่สถานีรถไฟพัทลุง
นางวรรณา มูซอ ชาว จ. ปัตตานี กล่าวว่า ทราบข่าวแล้ว ที่ทางรถไฟประกาศงดเดินวันนี้ เพราะทางตอนบน น้ำท่วมหนักหลายจังหวัด ก็เข้าใจดี ส่วนตนและครอบครัวต้องชะลอการเดินทางไปกทม.ไว้ก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นค่อยไป เพราะจะเปลี่ยนไปรถโดยสารชนิดอื่น ก็คิดว่าน่าจะเหมือนกัน น้ำอาจท่วมเส้นทางหรือน่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยได้ แถมราคาตั๋วโดยสารแพงกว่า เราไม่มีเงินมากแต่เราจำเป็นต้องไปทำธุระ แต่ถ้าไม่ได้ไปรถไฟก็ไม่ไปดีกว่า
ด้านภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 2 ธ.ค.63 ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.63 - 2 ธ.ค.63 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 58 อำเภอ 240 ตำบล และ 1,480 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 67,070 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ คือ จ.สงขลา น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 9 อำเภอ 34 ตำบล 279 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 8,684 ครัวเรือน ยังคงมีน้ำท่วมขังในทุกอำเภอ ระดับน้ำทรงตัว จ.นราธิวาส น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 9 อำเภอ 34 ตำบล 117 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 6,078 ครัวเรือน ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 1 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จ.ปัตตานี น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอ 7 ตำบล 117 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 525 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่-ลุยน้ำช่วยชาวบ้าน
เส้นทางสายหลักถูกน้ำพัดขาด 7 สายรวด
ช่วงบ่ายวันนี้ (2 ธ.ค.) พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จึงเดินทางด้วยด้วยเฮลิคอปเตอร์มายังพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยก่อนหน้านี้ได้สั่งการไปยังหน่วยทหารในพื้นที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทั้ง 8 ศูนย์ จ.นครศรีธรรมราช เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งทางศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 และมณฑลทหารบกที่ 41 ได้เร่งให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของและอพยพพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมายังศูนย์อพยพโดยด่วน พร้อมทั้งสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
หลังเดินทางมาถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางมายังศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อมอบอาหารเครื่องดื่มสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นเบื้องต้นให้กับผู้อพยพที่เดินทางมาอาศัยพักพิงชั่วคราวประมาณ 60 ครัวเรือน จำนวน 230 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดอาคารเรียนอาคารที่ 1 และ 2 ไว้สำหรับผู้อพยพได้เข้าพักพิงและยังคงมีสำรองไว้อีก 2 อาคาร คาดว่า จะเพียงพอต่อผู้ลงทะเบียนอพยพที่จะเข้ามาซึ่งมีมากถึง 167 ครัวเรือนจำนวน 687 คนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนัก การให้ความช่วยเหลือมีความยากลำบาก จากน้ำมีปริมาณที่สูงขึ้นและยังคงต้องตั้งรับน้ำที่ไหลมาจากคีรีวงและลานสกา ทางแม่ทัพภาคที่ 4 จึงได้สั่งการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ประสานการปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง เบื้องต้นจัดรถครัวสนามและเร่งอพยพผู้คนที่ยังติดค้างมายังศูนย์อพยพโดยด่วน คาดว่าใช้เวลา 6-7 วัน จนกว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายและลดระดับลง แต่หากน้ำยังคงท่วมขังการเข้าช่วยเหลือคงจะมีความยากลำบากจะต้องใช้ยุทโธปกรณ์ ปรับแผนการปฏิบัติโดยทันที
พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทางกองทัพบก โดยท่านผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เน้นย้ำให้หน่วยทหารทุกหน่วยได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากในห้วงปลาย พ.ย.- ธ.ค.ในพื้นที่ของภาคใต้มีมรสุมประจำทุกปี จึงได้ให้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของยุทโธปกรณ์กำลังพลและให้มีการซักซ้อมตลอด โดยกองทัพภาคที่ 4 เอง ได้สั่งการให้หน่วยดำเนินการสำรวจความพร้อมและทำหน้าที่ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากอุทกภัยเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ได้มีการแบ่งมอบพื้นที่เป็นอำเภอ เป็นเขตตำบลกันอย่างชัดเจนว่าหน่วยไหนใครจะรับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติกับทางจังหวัด ทางอำเภอ ตำบลที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วย เพื่อที่จะประสานข้อมูลการติดต่อสื่อสารเมื่อเกิดภัยธรรมชาติเกิดขึ้นให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หน่วยทหารทุกหน่วยไม่ต้องรอรับคำสั่งสามารถปฏิบัติได้ตามแผนได้ทันที พี่น้องประชาชนรวมไปถึงท้องที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถประสานการให้ความช่วยเหลือ เครื่องไม้เครื่องมือและเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ตลอด
"สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในขั้นต้น ซึ่งมีอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทราบว่ามี 23 อําเภอ ในขณะนี้แจ้งมาแล้ว 21 อำเภอเหลือ 2 อำเภอ คือทุ่งใหญ่ และบางขัน คาดว่าคงได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการบรรเทาทุกข์ดูแลพี่น้องในการอพยพในพื้นที่ เข้าสู่พื้นที่พักพิงชั่วคราวและการโยกย้ายสิ่งของของพี่น้องที่บ้านเรือนน้ำท่วม เพื่อป้องกันความเสียหาย ได้ดำเนินการไปแล้ว ในส่วนของเรื่องอาหารการกินบรรเทาทุกข์นั้นได้สั่งการรถครัวสนามเข้ามาช่วยดำเนินการจัดตั้งในพื้นที่บรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น"
สำหรับเส้นทางถนนเส้นทางหลักในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเส้นทางถูกตัดขาด 7 สาย ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประสานศูนย์ป้องกันภัยจังหวัดนำเรือเข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยห้ามสัญจรเส้นทางโดยเด็ดขาด เพราะยังมีน้ำหลากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หวั่นพี่น้องประชาชนจะได้รับอันตราย