นายกแพทยสมาคมหนุนยะลาลุยตรวจเชิงรุก แม้เจอผู้ป่วยเพิ่ม แต่ไม่ทำให้ลดทอนความเชื่อมั่น ยอมรับจังหวัดชายแดนเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น เพราะมีคนลักลอบข้ามแดน หวั่นสถานการณ์ภาพรวมโควิดหลังปลดล็อกอาจมีแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์พุ่งสูง ซึ่งติดตามเส้นทางได้ยากที่สุด
แม้ในที่สุด จ.ยะลา จะไม่ได้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวดวันเดียว 40 คน หลังจากตรวจซ้ำรอบ 3 ยืนยันผลว่าไม่ติดเชื้อ ตามที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ก็ตาม แต่ทว่าหลังจากนั้น จ.ยะลา ก็ยังมีรายงานจาก ศบค. แจ้งผู้ติดเขื้อรายใหม่แทบทุกวัน วันละ 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง คำถามก็คือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ หรือ "ผู้ป่วยยืนยันสะสม" ของ จ.ยะลา อยู่ที่ 132 ราย รักษาหายแล้ว 113 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 17 ราย และเสียชีวิต 2 ราย
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา (สสจ.ยะลา) ชี้แจงว่า สาเหตุที่ยังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น เพราะทีมแพทย์ยังใช้วิธีลงพื้นที่หาเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่เคยมีผู้ติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า "ยุทธการเชิงรุก" active case finding แต่ยืนยันว่าผลตรวจในครั้งหลังๆ นี้เชื่อถือได้ เนื่องจากใช้แล็บที่ จ.สงขลา (หมายถึงศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จังหวัดสงขลา) ส่วนแล็บของโรงพยาบาลยะลายังปิดอยู่ ตั้งแต่มีข่าวผลตรวจคลาดเคลื่อนกรณี 40 คน
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ในลักษณะยิ่งหายิ่งเจอ ทำให้เกิดคำถามว่าส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลงหรือไม่ เพราะอาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่ายังมีผู้มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ทว่าพร้อมเป็นพาหะ แฝงตัวอยู่มากมาย
"ทีมข่าวอิศรา" ขอความชัดเจนเรื่องนี้กับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคม ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ศิริราชพยาบาล ได้รับคำตอบว่า ความเชื่อมั่นไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วเพื่อเสาะหาคนติดเชื้อให้มากที่สุด จะได้สบายใจ
"ต้องเคลียร์ให้ได้ 14 วัน คือเมื่อเจอก็ต้องให้กักตัวผู้ที่สัมผัสทั้งหมด ตรวจคนรอบข้าง กักตัวทั้งหมู่บ้าน 14 วัน ซึ่งการดำเนินการก็ต้องไปตกลงกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นพื้นที่เป้าหมาย เพราะมีคนลักลอบข้ามแดน และมีผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และไปร่วมกิจกรรมเสี่ยงในต่างแดน ฉะนั้นการค้นหาเชิงรุกจึงถูกต้อง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศคิดว่าค่อนข้างเคลียร์หมดแล้ว"
เมื่อถามย้ำว่า จะทำให้คนไทยทั้งประเทศเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าไม่มีผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแฝงอยู่ หมออมร บอกว่า สิ่งที่ต้องทำคือเคลียร์เชื้อให้หมด คิดว่าจังหวัดอื่นๆ ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ส่วนยะลาก็ทำได้ดีและถูกต้อง แต่ถ้าทำไม่ได้ หลังจากนี้จะมีพวกที่ภูมิคุ้มกันดี เช่น คนหนุ่มสาว สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการป่วย เช่น ในระยะที่มีการผ่อนปรนล็อกดาวน์แล้ว ไปมั่วสุมกับตามผับ บาร์ หรือสถานบริการทางเพศ อาจมีการแพร่เชื้อในช่วงนั้น ซึ่งโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ติดตามเส้นทางได้ยากที่สุด และในอนาคตเมื่อโรงเรียนเปิดก็ยังห่วงเด็กที่จะไปโรงเรียน รวมถึงคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย จะเห็นได้ว่าโจทย์ที่รัฐบาลต้องค่อยๆ คลี่คลายยังมีอีกมากพอสมควร
ทางด้าน จ.นราธิวาส พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1 ราย เป็นชายวัย 80 ปีจาก ต.โละจูด อ.แว้ง นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 36 ของจังหวัด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 35 ก็เป็นชาว อ.แว้ง เช่นกัน แต่ภูมิลำเนาอยู่ใน ต.แว้ง และเป็นสาเหตุทำให้ทางจังหวัดต้องประกาศปิดตำบล
สำหรับ อ.แว้ง กับ อ.สุคิริน ที่อยู่ติดกัน และเป็นอำเภอที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย จัดเป็นพื้นที่สีแดงของจังหวัด เพราะเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ อ.แว้ง มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 5 ราย ส่วน อ.สุคิริน 3 ราย แม้จะไม่ใช่ตัวเลขผู้ป่วยสะสมสูงสุดของจังหวัด เนื่องจากสูงสุดอยู่ที่ อ.สุไหงโกลก จำนวน 8 ราย แต่อำเภอสุไหงโกลกก็ไม่พบผู้ป่วยใหม่มาแล้วถึง 28 วัน
------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
สสจ.ยะลานัดแถลงหลังมีข่าวพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มรวดเดียว 23 ราย!
ศบค.สั่งตรวจเชื้อใหม่ 8 อำเภอยะลา ยังไม่ยืนยันผลผู้ป่วยพุ่ง 40 คน
สสจ.ยะลายันพบผู้ติดเชื้อใหม่ 40 ราย! ส่งตรวจซ้ำ"ลงลึก"ตามคำสั่ง ศบค.
สสจ.ยะลาย้ำยังไม่รู้ผลตรวจซ้ำ 40 ผู้ป่วยโควิด - บาโงยซิแนปิดยกตำบล