การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ของพรรคร่วมฝ่ายค้านหนนี้ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่วาระใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกแถลงหรือตั้งคำถามกัน เนื่องจากมีเพียง นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เพียงคนเดียวที่ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นไฟใต้
สาระสำคัญจากการอภิปรายของ สส.รอมฎอน คือ กล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพลเรือนไม่แยแส ไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาติ เกรงใจอำนาจมืดและกองทัพ จนทำให้กระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาหยุดชะงัก ส่งผลให้ความรุนแรงหวนกลับมาอีกครั้ง เป็นการทำลายโอกาสที่ประเทศจะได้บรรลุถึงสันติภาพ
“ต้องใช้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนำการทหาร ต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแทนที่จะไปปราบหรือใช้กำลัง โดยทำพร้อมกับการฟื้นฟูและคืนความยุติธรรม อย่างกรณีการอำนวยความยุติธรรมให้กับคดีตากใบ นอกจากความไม่จริงจังในการฟื้นฟูความยุติธรรมแล้ว รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนายกฯ แพทองธาร ยังอ่อนแอปวกเปียก ทั้งการปฏิรูปกองทัพ และการปฏิรูประบบยุติธรรมต่างๆ” สส.จากพรรคประชาชน ระบุตอนหนึ่ง
@@ “บิ๊กแป๊ะ” เปิดวงถกคนพื้นที่ ยันพูดคุยสันติภาพเดินต่อ
ด้านความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการกระบวนการสันติภาพ วันอังคารที่ 25 มี.ค.68 พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวว่าอาจได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯคนใหม่ พร้อมคณะจากสภาความความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังปัญหาจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และประชาชน ในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่ 4 ที่คณะเดินสายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งหลักๆ ก็ได้พบปะกับผู้นำศาสนาทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคม แม้กระทั้งชุมชนชาวไทยพุทธ เพื่อที่จะมายืนยันให้รับทราบแนวทางการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ถือว่าเสียงตอบรับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมาก น่าดีใจ เพราะว่าทุกฝ่ายมีความต้องการที่จะเห็นความสงบสุขและสันติภาพเกิดขึ้น เพราะว่า 21 ปีที่ผ่านมา มันคือการเสียโอกาส
ทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเหตุรุนแรงต่างๆ ทุกคนมีความเห็นตรงกันหมด ก็อยากจะทำให้มันหมดไป โดยยืนยันทำตามนโยบายของรัฐบาลโดยใช้สันติวิธีและการสร้างความเข้าใจ
“เรามาทำภารกิจตรงนี้ คือการลงมาสร้างความเข้าใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยให้ท่านเหล่านี้สื่อสารลงไปในมิติทางด้านศาสนา”
“ในส่วนของการพูดคุยสันติสุขฯ ยังคงดำเนินการต่อไป เพราะทุกวันนี้การทำงานไม่จำเป็นต้องไปนั่งคุยกันบนโต๊ะอย่างเป็นทางการแล้วพูดคุยกัน การทำงานตรงนี้คือการพูดคุยกันเพื่อสื่อสารไปในทางกว้าง ถ้าเรามีข้อมูลที่ชัดเจนจากข้างล่างทุกฝ่าย มันจะทำงานได้แม่นยำกว่า”
“ขอย้ำว่าการพูดคุยไม่ได้ยุติ อันนี้ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องทำงานต่อไป ซึ่งการทำงานอาจจะไม่ต้องใช้รูปแบบเดิมๆ แต่ใช้การสื่อสารในทางกว้างกับทุกฝ่าย เราขอยืนยันและให้ความสำคัญต่อการพูดคุยเจรจา และยังคงให้มีการดำเนินการต่อไป” พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งเคยร่วมคณะพูดคุยสันติภาพฯ ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าว
@@ รับฟังเสียงไทยพุทธ ห่วงปัญหาอพยพทิ้งถิ่น
พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีเรื่องชาวไทยพุทธในพื้นที่ที่มีการอพยพออกไป มีการประกาศขายที่ดินกันจำนวนมาก เมื่อสำรวจจำนวนประชากรชาวไทยพุทธ พบว่าออกไปนอกพื้นที่มากพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง และเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก
“ผมเองก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายพี่น้องชาวไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่ราวๆ 30 คน ใช้เวลาในการพูดคุยกันราว 2 ชั่วโมง ในการสรุปปัญหาที่พี่น้องชาวพุทธประสบอยู่ พบว่าเป็นความจริง ถ้าใช้คำง่ายๆ ก็คือ ชาวไทยพุทธทิ้งถิ่นฐาน อพยพย้ายออกไปจากพื้นที่ เป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างมาก
“แล้วเรื่องอื่นๆ ที่พี่น้องชาวไทยพุทธเสนอแนะ เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รวมถึงโอกาส ความเท่าเทียมอะไรต่างๆ ที่พี่น้องชาวพุทธรู้สึกว่าเป็นห่วงกันเอง ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และทีมงานหลายฝ่ายที่มาพร้อมคณะได้ทำหนังสือบันทึก ทำสรุปเตรียมนำเสนอให้กับรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย รได้อ่านสรุปบันทึกการลงมาทำงานของคณะให้ท่านรับทราบต่อไป ยืนยันว่าทุกฝ่ายพร้อมหาทางออกสู่สันติสุข” พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ
@@ ตัวเลขไทยพุทธชายแดนใต้เหลือไม่เกิน 8 หมื่นคน
ด้าน นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม หนึ่งในคนพุทธที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะของ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า พล.อ.นิพัทธ์ เชิญมาร่วมพูดคุยสร้างความเชื่อมั่นต่อคนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องไทยพุทธซึ่งมีเหลืออยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 80,000 คนแล้วในเวลานี้
“ทางคณะได้รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของคนพุทธด้วย ก็รู้สึกดีที่ทางคณะลงมารับฟังด้วยตัวเอง เพราะจะได้เห็นและรับทราบปัญหาที่แท้จริงจากคนพื้นที่จริงๆ ด้วยตัวเอง”
@@ แฉเจตจำนงเรียกร้องเอกราชผ่านแนวคิด RSD
ด้าน พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงสถานการณ์และเจตจำนงเรื่องการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยยืนยันว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแสดงตัวตน เรียกร้องเอกราชผ่านแนวคิด RSD (Right to Self-determination หรือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของสหประชาชาติในการขอทำประชามติเพื่อแยกตัวตั้งรัฐเอกราช) โดยมีเงื่อนไข 4 ประการ คือ เงื่อนไขอาณานิคม, เงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธ, การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง และการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม
ทั้ง 4 ประการ มุ่งไปสู่การกำหนดชะตาตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงเฝ้าระวัง พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงนี้