ในที่สุดรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ก็ยอมรับเรื่องการส่ง “ชาวอุยกูร์” กลับประเทศจีน หลังจากที่มีข่าวลือมาเป็นระยะ และมี สส.ฝ่ายค้าน ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจี้ถามรัฐบาลมาตลอด แต่ไม่เคยมีคำตอบ
ค่ำวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ.68 สามรัฐมนตรีของรัฐบาล ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าว สรุปความได้ว่า...
- การส่งกลับตัวชาวอุยกูร์ ทุกกระบวนการรัฐบาลได้มีการวางแนวทางในการดำเนินการ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
- เป้าหมายเพื่อให้ชาวอุยกูร์กลับสู่มาตุภูมิและพบกับครอบครัว
- ไทยไม่อยากกักตัว และรัฐบาลจีนมีการร้องขอมา
- บุคคลเหล่านี้ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง
- จีนให้คำมั่นว่าเมื่อนำตัวกลับไปแล้วจะดูแลอย่างดีและจัดหาอาชีพให้
- ทางการไทยจะเดินทางไปติดตามตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
- ในช่วง 7 วันแรก พ.ต.อ.ทวี จะเดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเอง
- เหตุผลของจีนคือ ต้องการตัวพลเมืองของประเทศตัวเองกลับ
การแถลงมีการให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางการไทยเคยส่งตัวกลุ่มผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นหญิงเด็กและคนชราจำนวน 109 คน ให้ประเทศตุรกี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และในทุกปีประเทศไทยพยายามติดต่อหาประเทศที่สามให้ แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปี ไม่มีประเทศใดรับตัวกลุ่มชาวอุยกูร์ที่เหลือกลุ่มนี้ไป โดยผู้ต้องกักทั้งหมดมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับโดยความสมัครใจ
การที่ต้องส่งตัวผู้ต้องกักทั้งหมดในช่วงเวลากลางคืน รวมถึงไม่เปิดเผยรายละเอียดนั้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในกระบวนการส่งตัว รวมถึงไม่อยากให้กรณีนี้เกิดการจินตนาการไปเอง เพราะทุกอย่างทำตามขั้นตอน ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมุมมองของต่างชาติ รวมถึงผลต่อการจัดอันดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลเห็นว่าภาพทั้งหมดกับข้อเท็จจริงที่ออกมาจะเป็นคำตอบในเวทีโลกได้
พ.ต.อ.ทวี ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ขณะนี้ยังคงมีชาวอุยกูร์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำประเทศไทยอีก 5 คน เนื่องจากมีพฤติกรรมหลบหนีออกจากห้องกัก ทำให้ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 7 ปี และจะพ้นโทษในปี 2572 จากนั้นจะมีกระบวนการส่งตัวกลับเช่นเดียวกัน
@@ กลุ่มพลังมุสลิมใต้ - มาเลย์ ฮือประณามรัฐ
ตั้งแต่มีข่าวส่งกลับชาวอุยกูร์ ปรากฏว่ามีกลุ่มพลังชาวมุสลิมต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่อง
ดร.ขดดะรี บินเซ็น นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การส่งชาวอุยกูร์กลับจีน เป็นการละเมิดต่อ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ” ซึ่งรัฐบาลไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเคารพหลักการไม่ส่งกลับ อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ห้ามประเทศต่างๆ ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า จะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่เลวร้ายอย่างร้ายแรงอื่นๆ การคุกคามเอาชีวิต หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงแบบเดียวกัน
นาย MOHD AZMI BIN ABD HAMID ประธานสภาที่ปรึกษาองค์กรอิสลามแห่งมาเลเซีย (MAPIM) ได้ส่งจุดหมายถึงนายกฯแพทองธาร เพื่ออุทธรณ์อย่างเร่งด่วนให้ทบทวนการส่งชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีน เพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนและปกป้องผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์
ตอนหนึ่งของจดหมายระบุว่า “การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนโดยการบังคับ จะไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง แต่ยังเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (1951) ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศได้เคารพอย่างสม่ำเสมอ
ความกังวลเกี่ยวกับการส่งกลับไปยังประเทศจีน มีการบันทึกไว้โดยหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับประเทศจีนต้องเผชิญกับการกักขังโดยพลการ และค่ายบังคับให้การศึกษาใหม่ การทรมาน แรงงานบังคับ และการปราบปรามอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม การจำคุกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และในบางกรณีทัการบังคับให้สูญหาย
@@ สส.ประชาชาติ อภิปรายทักท้วง หวั่นละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันเดียวกัน นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในสภา ในญัตติด่วน ขอให้สภาพิจารณาข้อเท็จจริงและผลกระทบจากการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน โดยแสดงความกังวลว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งผลกระทบต่อหลักมนุษยธรรม
“ผมและพรรคประชาชาติขอมีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เราเป็นห่วงว่าชาวอุยกูร์ 40 รายที่ถูกส่งกลับไปแล้ว อาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”