จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ และยังเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวสูงในหลายมิติ
โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประชาชน
ที่สำคัญยังมีผลต่อโอกาสในการรับรู้ของมูลข่าวสารของเยาวชนในพื้นที่...ฉะนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ และไม่ให้เยาวชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง จนนำมาสู่การกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายมาเป็นปัญหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นี่จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการ “เยาวชนไทย หัวใจเดียวกัน” รุ่นที่ 9 ระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค.68 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานศาลยุติธรรม โดยได้คัดเลือกเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้นจำนวน 120 คน เข้าร่วมกิจกรรม
งานนี้ได้รับความสำคัญจากบุคคลสำคัญของประเทศ เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมในพิธีเปิด และกล่าวให้โอวาทแก่เยาวชนในโครงการ ถือเป็นสารจากระดับประธานองคมนตรีที่นานๆ จะปรากฏสู่สาธารณะสักครั้งหนึ่ง
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารศาลยุติธรรม และเยาวชนทั้ง 120 คนจากโครงการ ‘เยาวชนไทย หัวใจเดียวกัน’ รุ่นที่ 9 ซึ่งเป็นตัวแทนจากจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจากอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ได้โอกาสเข้ามาฝึกอบรม และศึกษาดูงานด้านการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการร่วมกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังมีโอกาสรู้จักเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกันด้วย
ที่ผ่านมาผมเองก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ เช่นโครงการ ‘สานใจไทย สู่ใจใต้’ โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งโครงการเยาวชนไทย หัวใจเดียวกัน และโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ แม้จะมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือให้เยาวชนที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าที่มีคุณภาพของสังคม
ในอนาคต เยาวชนที่อยู่โครงการเยาวชนไทย หัวใจเดียวกัน จำนวน 120 คนนี้ อาจจะครึ่งหนึ่ง มุ่งมั่นเรียนไปทางด้านนิติศาสตร์ เป็นทนายความ เป็นนิติกร หรือเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องการคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เพราะอาชีพกฎหมายซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความ การตีความสามารถตีความได้หลายแง่หลายมุม ดังนั้นต้องอาศัยอยู่บนหลักพื้นฐานของความยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับความเป็นธรรม
จึงขอให้เยาวชนทุกคนหมั่นเพิ่มพูนศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านกฎหมายที่ได้รับนี้ และมีความมั่นคงในสติปัญญาบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรมอันดีไว้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ความเชื่อ ความแตกต่าง ความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ แต่เมื่อเรามีความรักความสามัคคี จะทำให้สังคมน่าอยู่สงบสุขร่มเย็น อีกทั้งขอให้เยาวชนมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา และต่อประเทศชาติ เพื่อร่วมกันสร้างความสงบร่มเย็นและความเจริญมั่นคงให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบไป”
@@ สร้างคนรุ่นใหม่นับพัน...หัวใจเดียวกัน ใต้ร่มธงไทย
อนึ่ง โครงการ “เยาวชนไทย หัวใจเดียวกัน” เป็นการคัดเลือกเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีที่ตั้งในจังหวัดชายแดนใต้ หรือมีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย มาเข้าร่วมกิจกรรม
โดยโครงการนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2555
รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ. 2555 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 100 คน
รุ่นที่ 2 ปี พ.ศ. 2556 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
รุ่นที่ 3 ปี พ.ศ. 2558 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 117 คน
รุ่นที่ 4 ปี พ.ศ. 2559 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
รุ่นที่ 5 ปี พ.ศ. 2560 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 150 คน
รุ่นที่ 6 ปี พ.ศ. 2561 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
รุ่นที่ 7 ปี พ.ศ. 2562 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
รุ่นที่ 8 ปี พ.ศ. 2567 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
รุ่นที่ 9 ปี พ.ค.2568 มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 120 คน
นับถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 – 9 รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,087 คน
@@ กฎหมาย..เครื่องมือสร้างสันติภาพ-สันติสุข
นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจัดโครงการขึ้น นับเป็นสิ่งที่ดี สอดคล้องต่อนโยบายประธานศาลฎีกาด้านการ “สานต่อ” ข้อที่ 6 “ส่งเสริมและพัฒนาการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้เยาวชนและประชาชนเข้าใจเข้าถึงกระบวนการทางการศาล และรับรู้สิทธิของตนตามกฎหมาย”
“เนื่องจากเมื่อเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทางด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เข้าใจถึงบทบาท และหน้าที่ของศาลยุติธรรมในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่ใช้อำนาจตุลาการ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่คนในชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้หลักนิติธรรม ฉะนั้นในโอกาสต่อไปภายหน้า หากมีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการทางศาล ย่อมเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
นอกจากนี้ ในโครงการยังมีการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชน ด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย รวมถึงจัดให้มีการแนะนำแนวทางการศึกษาวิชากฎหมายให้แก่เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับการศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพในอนาคตของตนเอง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ตลอดจนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านกฎหมายที่จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชน ต่อสังคม และประเทศชาติตั้งแต่วัยเยาว์ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขและสันติภาพอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า”
สำหรับกิจกรรมในโครงการ มีการนำเยาวชนไปศึกษาดูงาน “ศาลฎีกานิทรรศน์” ศูนย์การเรียนรู้ทางด้านกฎหมายและกระบวนการทางศาล และยอดประสาทยุติธรรม ต่อจากนั้นเยาวชนได้ศึกษาดูงานห้องพิจารณาคดี 218 ซึ่งห้องพิจารณาคดีดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากใช้ในการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา รับชมวีดิทัศน์ "คดีพระยอดเมืองขวาง" และรับชมวีดิทัศน์ "ความรู้เกี่ยวกับศาลฎีกา" เป็นต้น