ความเคลื่อนไหวการดูแล “คนหลังกำแพง” ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน รวมถึงปัญหาความไม่สงบอย่างไฟใต้ด้วย
25 ม.ค.68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยม “กิจกรรมพบญาติ” ของ “ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง” ในพื้นที่ชายแดนใต้
นับเป็นมิติใหม่ของการบริหารเรือนจำ บริหารโทษในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะผู้ต้องขังกลุ่มนี้เดิมจะถูกมองในแง่ลบ และเป็นกลุ่มต้องห้าม ถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่ พ.ต.อ.ทวี เปลี่ยนนโยบาย ใช้ครอบครัวและกำลังใจเข้าไปแก้พฤตินิสัย จึงเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
ปรากฏว่าผู้ต้องขังได้กอดภรรยา กอดลูก กอดแม่ ได้รับประทานอาหารร่วมกันอย่างมีความสุข
ผู้ต้องขังหลายคนถึงกับเอ่ยว่า ยอมรับผิด และรู้สึกผิดพลาดกับการกระทำที่ผ่านมาที่ทำให้ครอบครัวและชาวบ้านเดือดร้อน จึงพร้อมกลับตัวเป็นคนดี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ต้องการให้ผู้ที่เดินผิดพลาดไปแล้วในขณะนี้สามารถกลับเนื้อกลับตัวและกลับใจ
“มันยังไม่สาย เราจะหนีหรือหลบซ่อนตัวไปทั้งชีวิตทำไม” รัฐมนตรียุติธรรม ให้กำลังใจ
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้มอบคัมภีร์อัลกุรอานให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เพื่อนำไปศึกษาบทบัญญัติและคำสั่งสอนที่ถูกต้อง จะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาดซ้ำ และเมื่อพ้นโทษออกมาจะได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดียวกันได้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนต่อไป
@@ ฟ้อง 9 นักกิจกรรมไม่ใช่เรื่องชุดมลายู ชี้ปัญหาที่ภาษา
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้กล่าวถึงกรณีนักกิจกรรม 9 คนถูกอัยการจังหวัดปัตตานียื่นฟ้องต่อศาล ในคดียุยงปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร จากการจัดงานชุมนุมแต่งชุดมลายู ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี 65 โดยอ้างคำปราศรัยมีเนื้อหากระทบความมั่นคง และมีภาพหลักฐานชูธงขบวนการแบ่งแยกดินแดน
โดย พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ก่อนอื่นต้องให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกฟ้อง เพราะในกระบวนการยุติธรรม ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
“กระบวนการนี้เป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญรองรับ โดยอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เหมือนศาล แล้วเขาก็จะมีอิสระในการสั่งสำนวน ซึ่งในส่วนของทั้ง 9 คนที่ถูกฟ้องไป เขาฟ้องข้อหาอื่นโดยที่ไม่ใช่ข้อหาเรื่องวัฒนธรรม เรื่องการแต่งกาย แต่เนื่องจากว่าอาจจะเป็นข้อความที่ใช้ภาษาต่างกัน ทุกท่านที่ถูกฟ้องยืนยันว่าภาษาที่ใช้ไม่ได้ยุยงส่งเสริม แต่เป็นภาษาที่สร้างสันติภาพมากกว่า”
“แต่เมื่ออัยการฟ้องไปแล้ว ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ทางนักกิจกรรมมีการขอความเป็นธรรม และผมก็ได้ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด แต่ทำไปเราก็รู้ถึงหน้าที่ว่าเราไม่สามารถจะไปก้าวก่ายดุลยพินิจของอัยการได้ ซึ่งโดยหลักการของรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักนิติธรรม หรือไปใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความเป็นธรรม ฉะนั้นการร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการจึงเป็นเรื่องปกติ ในกรุงเทพฯก็มี”
“เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราได้พิจารณาไปนั้น ไม่มีข้อหาเรื่องการแต่งกาย พอไปบอกว่าเรื่องชุดมลายู มองไปในเรื่องของการยุยงส่งเสริม ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นทางภาษา”
@@ แง้มประเด็นพูดคุย : การปกครองที่ทุกคนรับได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของนักกิจกรรมทั้ง 9 คนที่ถูกฟ้องดำเนินคดี จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ยังเชื่ออยางจริงใจว่าจะเกิดสันติภาพและสันติสุขขึ้นมา ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบททดสอบ และที่สำคัญคือรัฐบาลมีความจริงใจ
“เราคิดว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเราคิดว่าถ้าทุกคนหันหน้ามาพูดคุยกัน และอยู่ในการบริหารการปกครองที่ทุกคนยอมรับได้ มันจะเป็นพื้นที่ที่เป็นโอกาสของประเทศด้วยซ้ำไป และเชื่อว่าต้องทำความเข้าใจ โดยเป้าหมายของเราต้องการให้เกิดสันติภาพและมีความสันติสุขที่ยังยืน” พ.ต.อ.ทวี ระบุ