ควันหลงหลังคดีตากใบขาดอายุความ...
สถานการณ์ในพื้นที่ยังค่อนข้างเงียบ ยังไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ตามที่หลายฝ่ายกังวล
การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ กรณีข้าราชการในสังกัดซึ่งยังไม่เกษียณอายุราชการ จงใจลางานในลักษณะหนี้หมายจับคดีตากใบ ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน โดยเฉพาะข้าราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม
การสนองตอบของรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องของหลายฝ่าย เช่น หาช่องทางงดจ่ายบำนาญจำเลยคดีตากใบ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง แต่กลับหนีหมายจับในคดีสำคัญ, การสอบสวนอย่างเป็นระบบว่าเหตุใดตำรวจจึงดองคดีวิสามัญฆาตกรรมไปกว่า 19 ปี จึงส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดในห้วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนคดีขาดอายุความ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีรูปธรรมใดๆ จากรัฐบาล นอกจากความเงียบ เหมือนจงให้ลืมๆ กันไป
แต่ภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดูจะไม่เงียบ
@@ ภาคประชาสังคมขยับยื่นยูเอ็น 5 ข้อเรียกร้อง
วันอังคารที่ 5 พ.ย.67 เครือข่ายภาคประชาชน “กลุ่มทะลุฟ้า” นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เดินทางไปยังสำนักงานองค์การสหประชาติ ประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือ “20 ปี ตากใบต้องไม่เงียบ” ถึงข้าหลวงใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ
มีการอ่านแถลงการณ์ 5 ข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้สหประชาชาติผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบและทบทวนกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อพิจารณาว่ามีช่องทางใดที่สามารถเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายได้
2.ขอให้กลไกสหประชาชาติเฝ้าระวังการใช้กฎหมายละเมิดต่อโจทก์ นักกิจกรรม นักข่าว และกลุ่มอื่นๆที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อผู้สูญเสียในคดีตากใบ
3.ขอให้นานาชาติหาวิธีผลักดันกระบวนการยุติธรรมในเวทีระดับนานาชาติต่อไป เพื่อให้เกิดการติดตามอย่างต่อเนื่องในระดับสากลต่อกรณีดังกล่าว
4.ขอให้สหประชาชาติสนับสนุนกระบวนการค้นหาความจริงและสร้างการปรองดองในพื้นที่ โดยให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงและรับฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
5.ประเทศไทยยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับในพื้นที่ จึงขอให้สหประชาชาติเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการบังคับใช้กลุ่มกฎหมายนี้
@@ แม่ทัพ 4 ยันไม่มีผู้ต้องหาคดีตากใบในสังกัด กอ.รมน.
ด้านความคืบหน้าการค้นหาผู้ต้องหาคดีตากใบที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งมีข่าวเป็นข้าราชการยังไม่เกษียณอายุราชการ 3 คน หนึ่งในนั้นคือ ปลัดอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปแล้ว
แต่ข้าราชการอีก 2 คน ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน โดยมีข่าวว่าเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 นั้น
“ทีมข่าวอิศรา” พยายามสอบถามเรื่องนี้ไปยังโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ว่าได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่า ข้าราชการเหล่านั้นซึ่งหายตัวไปหลังถูกออกหมายจับคดีตากใบ กลับมาปฏิบัติราชการแล้วหรือยัง
แต่คำตอบที่ได้จากโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. คือ ไม่ทราบเรื่อง และไม่มีข้อมูลว่าผู้ที่ถูกออกหมายจับคือใคร เป็นกำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 หรือไม่
“ทีมข่าวอิศรา” จึงสอบถามไปยัง พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับคำตอบว่า ใน กอ.รมน.ภาค 4 ไม่มีข้าราชการในสังกัดถูกออกหมายจับในคดีตากใบ
“คนที่ยังรับราชการอยู่มี 2 คน เป็นปลัดอำเภออยู่ที่นครพนม กับที่กองบัญชาการกองทัพไทย ยืนยันว่าไม่มีในกองทัพภาคที่ 4” พล.ท.ไพศาล ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามถึงบุคคลที่ถูกออกหมายจับรายหนึ่ง คือ ร้อยโทฤทธิรงค์ (สงวนนามสกุล) อายุ 60 ปี น่าจะเกษียณปีนี้หรือปีหน้า ตามข่าวระบุว่ามีบ้านพักในค่ายทหาร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่ทัพภาคที่ 4 ตอบย้ำคำตอบว่า “ขอยืนยันว่าไม่มี มีการตรวจสอบแล้ว ไม่มีแน่นอน”
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยังนายทหารระดับสูงในกองบัญชาการกองทัพไทย ว่าทราบหรือยังกรณีแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า กำลังพลที่ถูกออกหมายจับในคดีตากใบอยู่ในสังกัดกองทัพไทย แหล่งข่าวตอบว่า ไม่ทราบ และไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น
อนึ่ง สำหรับขั้นตอนปฏิบัติตามปกติ กรณีกำลังพลถูกออกหมายจับในคดีอาญา พนักงานสอบสวน หรือตำรวจ จะส่งหนังสือแจ้งมายังหน่วยต้นสังกัด เพื่อขอรับตัวไปดำเนินคดี ซึ่งนายทหารพระธรรมนูญจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและส่งตัวไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือแนะนำแนวทางในการต่อสู้คดี แต่สำหรับคดีตากใบ ดูเหมือนกระบวนการนี้จะไม่เกิดขึ้น
----------------------
ภาพปก - เครือข่ายตากใบไม่ทน ยื่นหนังสือต่อยูเอ็น จากเพจ Decode.plus