“คดีตากใบ” ยังคงมีประเด็นให้วิจารณ์กันไม่เลิก
ล่าสุด สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาแสดงความกังวลว่า หากจำเลยคนสำคัญในคดีตากใบที่ศาลนราธิวาสรับฟ้องแล้ว ไม่เดินทางไปศาลในวันที่ 12 ก.ย.67 นี้ อาจทำให้คดีขาดอายุความ โดยเฉพาะจำเลยที่ปัจจุบันเป็น สส. มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง
นายรอมฎอน ปันจอร์ พร้อมด้วย นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันอังคารที่ 10 ก.ย.67 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความคืบหน้าคดีโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 และจะขาดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.67 ว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องคดีตากใบ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น ข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว
โดยจำเลยในคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 7 คน เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมและการควบคุมสถานการณ์ในวันที่ 25 ต.ค.47 ซึ่งหนึ่งในนั้น คือจำเลยที่หนึ่ง ปัจจุบันมีสถานภาพเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยด้วย คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี
โดยศาลจังหวัดนราธิวาสนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง วันที่ 12 ก.ย.67 ซึ่งตรงกับวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ พล.อ.พิศาล ขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น และขณะนี้มีสถานะเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสมัยประชุมสภา โดยบังเอิญว่าในวันที่ 12 ก.ย.ที่ศาลนัด ก็มีการประชุมร่วมสองสภาเพื่อฟังคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะเป็นเหตุในการอ้างได้ว่าติดภารกิจ
อย่างไรก็ตาม วรรค 4 ของมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ที่พูดถึงการคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณาคดีระหว่างที่มีการเปิดสมัยประชุม ก็ยังเปิดช่องให้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยที่เป็นการแสดงเจตจำนงของทางสมาชิกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจะได้แสดงสปิริตในการเข้าร่วมการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาอนุญาตให้จำเลยที่หนึ่ง เดินทางไปร่วมการพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย รวมทั้งขอให้จำเลยทั้ง 7 เดินทางไปปรากฏตัวที่ศาลก่อนสิ้นอายุความ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบมานาน และสร้างสันติสุขกับผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย
@@ ถอดนัย สส.พรรคส้ม หวั่นคดีล้มเพราะจำเลยไม่ไปศาล
ถอดความหมายของ สส.รอมฎอน ก็คือ แม้คดีตากใบ ศาลจะประทับรับฟ้องแล้ว แต่อายุความยังไม่หยุดเดิน เนื่องจากอัยการยังไม่นำตัวจำเลยไปฟ้องต่อศาล โดยจำเลยที่ศาลประทับรับฟังมี 7 คน จากที่ยื่นฟ้องไป 9 คน จำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะเกิดเหตุ ปัจจุบันเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
สส.รอมฎอน เกรงว่า จะมีการใช้เอกสิทธิ์ สส. ไม่ยอมไปขึ้นศาล ก็อาจทำให้นำตัวไปฟ้องไม่ทันในอายุความ แม้ศาลจะประทับรับฟ้องแล้วก็ตาม กลายเป็นว่าชาวบ้านไม่ได้รับการพิสูจน์ความเป็นธรรม
เหมือนที่เคยมีผู้มีอำนาจ อดีตรัฐมนตรีบางคน หลบไปต่างประเทศชั่วคราวช่วงคดีใกล้หมดอายุความ แม้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้อง อายุความก็เดินไปเรื่อยๆ จนขาดอายุ เมื่ออายุความหมด อดีตรัฐมนตรีผู้นั้นก็กลับมา...
งานนี้จึงมีการเรียกร้องให้ พล.อ.พิศาลไปศาล และเรียกร้องให้ประธานสภา ส่งตัว พล.อ.พิศาล ไปขึ้นศาล หากมีหมายเรียกตัวมา
แต่ต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
“ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก”
ฉะนั้นหากจะส่งตัวไป โดย สส.ผู้นั้นต้องการใช้เอกสิทธิ์ ก็ต้องเสนอให้ที่ประชุมสภาโหวตกัน