วันจันทร์ที่ 27 พ.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 344/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
เนื้อหาของคำสั่งระบุว่า โดยที่รัฐบาลมีนโยบายการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิภาพและมีผลเป็นรูปธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งคณะพูดพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Peace Dialogue Panel” มีองค์ประกอบดังนี้
1.นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุย
2.เลขาธิการศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะพูดคุย
3.ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คณะพูดคุย
4.ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม คณะพูดคุย
5.ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะพูดคุย และเลขานุการร่วม
6.ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 คณะพูดคุย และเลขานุการร่วม
โดยให้มีหน้าที่และอำนาจ
1.ดำเนินการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐและผู้ก่อเหตุรุนแรงในช่องทางที่เป็นทางการ
2.ประเมิน วิเคราะห์ท่าที ทัศนคติของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐและผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.ประสานงานหรือแสวงหาความร่วมมือจากส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาชนให้เป็นไปตามการดำเนินงานขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.ประสานงานกับผู้อำนายความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
6.แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายบุคคลเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น เพื่อให้คำปรึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นเฉพาะหรือดำเนินภารกิจเชิงลึกเฉพาะกรณี
7.ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย
คำสั่งนี้ลงนามเรียบร้อยแล้ว โดยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ลงวันที่ 27 พ.ย.2566
@@ นายกฯเพิ่งบอกรอหารือมาเลย์ก่อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. วันเดียวกับที่มีการลงนามในคำสั่ง ปรากฏว่า นายกฯเศรษฐา ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงใต้เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับนายกฯมาเลเซีย ที่ด่านสะเดา จ.สงขลา
โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้คณะใหม่ ซึ่งขณะนี้หมดวาระไปพร้อมกับรัฐบาลชุดที่แล้ว จะมีการตั้งคณะใหม่หรือไม่ โดย นายกฯเศรษฐา ตอบว่า “จะต้องพูดคุยกันกับทางมาเลเซีย ส่วนฝั่งไทยจะใช้ตัวแทนจากฝ่ายทหารหรือพลเรือนมาเป็นพูดคุยนั้น จะต้องให้หน่วยงานไปพูดคุยกันก่อน”
@@ มีหัวหน้าคณะพูดคุยฯ แต่ยังไร้เลขาฯสมช.
สำหรับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.มาดำรงตำแหน่งนั้น น่าสนใจว่า จะมีการผลักดันให้ นายฉัตรชัย ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.คนใหม่ด้วยหรือไม่ เนื่องจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว หลังจาก พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.66
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า รัฐบาล และนายกฯเศรษฐา มีแนวคิดย้าย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ซึ่งไม่ได้ขยับขึ้น ผบ.ตร.คนใหม่ มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เนื่องจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานความมั่นคง และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อปลอบใจ เพราะ พล.ต.อ.รอย เป็นรองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 แต่ไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แต่มีการตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งอาวุโสอันดับ 4 หรืออันดับท้าย ขึ้นดำรงตำแหน่ง
มีรายงานว่า สาเหตุที่การแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. ยังคงชะงัก ไม่ราบรื่น เนื่องจากฝ่ายการเมืองกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และศาลอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในอดีตยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสไลด์ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทน เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ (พี่ชายของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยาของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์) ได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.
การโยกย้ายแบบพิสดารดังกล่าว ทำให้ นายถวิล ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และชนะคดี ก่อนจะนำผลคดีไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีความผิดกรณีย้ายนายถวิล จนศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้การตั้ง พล.ต.อ.รอย เป็นเลขาธิการ สมช. หากเกิดขึ้นจริง จะไม่ได้มีการย้ายเลขาธิการ สมช.คนเดิมให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะตำแหน่งนี้ยังว่างอยู่ แต่ฝ่ายการเมืองก็เกรงว่า รองเลขาธิการ สมช.อาวุโส อันดับ 1 อาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลอื่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งกลายเป็นปัญหาตามมาได้ จึงยังคงรั้งรออยู่
เป็นที่น่าสังเกตว่า หัวหน้าคณะพุดคุยดับไฟใต้หลายคนในอดีต ก็เคยเป็นเลขาธิการ สมช. หรืออดีตเลขาธิการ สมช. เช่น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เมื่อปี 2556 หรือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว