"ก็ต้องสู้และรอคอยต่อไป ไม่สิ้นหวัง”
เป็นคำกล่าวอย่างมุ่งมั่นของ แม่ประเทือง เผือกสม มารดาวัย 71 ปีของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเชื่อว่าเสียชีวิตเพราะถูกครูฝึกและพวกทำร้ายในค่ายทหาร หลังจากทราบข่าวจากศาลว่า สั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีของลูกชายออกไปอีก 1 เดือนเต็ม
ทั้งๆ ที่ผู้เป็นแม่รอศาลสถิตย์ยุติธรรมคืนความเป็นธรรมให้ลูกชายมานานกว่า 12 ปีแล้ว...
จะว่าไปไม่เพียงแต่คุณแม่ และครอบครัวญาติพี่น้องของพลทหารหนุ่มเคราะห์ร้ายที่เฝ้ารอฟังคำพิพากษาอยู่เท่านั้น แต่ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็เงี่ยหูรอฟังอยู่เช่นกัน เพราะคดีนี้เงียบหายไปนานจริงๆ และศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ก็นัดฟังคำพิพากษาเองในวันนี้ 25 ต.ค.66 หลังจากเลื่อนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือน ส.ค.ปีเดียวกัน
คดีพลทหารวิเชียร ฟ้องว่าเจ้าตัวถูกเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายกระทำการละเมิด ซ้อมทรมาน เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2554
ค่ายทหารแห่งนี้ เป็นค่ายเดียวกันกับที่เคยโดนปล้นปืน 413 กระบอกเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “วันเสียงปืนแตก” ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ เป็นปฐมบทความรุนแรงระลอกใหม่ที่สามจังหวัดชายแดน ปลายด้ามขวาน
แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัด ศาลได้แจ้งคู่ความเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีออกไปอีกครั้ง แล้วนัดใหม่เป็นวันที่ 24 พ.ย.66 โดยศาลได้ชี้แจงเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องพิจารณาหลายประเด็นโดยละเอียด และคดียังอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอีกด้วย จึงต้องส่งให้ฝ่ายหัวหน้ามณฑลทหารพิจารณา
@@ ครอบครัวเสียใจ เอ็นจีโอผิดหวัง-เสียดาย
คำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาล ทำให้ครอบครัวของ พลทหารวิเชียร รู้สึกเสียใจ เพราะเฝ้ารอคอยความเป็นธรรมมาเนิ่นนาน ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ซึ่งไปเฝ้าติดตามฟังผลคดี ก็รู็สึกผิดหวังและเสียดาย เพราะอยากทราบผลคดีเสียที ที่สำคัญคดีนี้จบในศาลเดียว เพราะเป็นศาลทหารในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก
พนักงานอัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร้อยโท ภูริ เพิกโสภณ (ยศในขณะเกิดเหตุ) พร้อมพวกอีก 9 คน กล่าวหาว่ารุมซ้อมทรมานจนเป็นเหตุให้ พลทหารวิเชียร เสียชีวิต ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
ศาลนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ส.ค.66 แต่ปรากฏว่า ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบในวันนัดว่า มีปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 25 ต.ค.66 แต่ก็เลื่อนอีกครั้ง เป็นวันที่ 24 พ.ย.66
คุณแม่ประเทือง เผือกสม มารดาของพลทหารวิเชียร กล่าวอย่างเข้มแข็งจากใจของคนเป็นแม่ "ก็ต้องสู้และรอคอยต่อไป ไม่สิ้นหวัง"
@@ สร้างบรรทัดฐานทหารเข้ากระบวนการ ยธ.
ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเกาะติดคดีนี้มาตั้งแต่เกิดเรื่อง กล่าวว่า แม้คดีจะล่าช้า แต่ก็แสดงให้เห็นบรรทัดฐานว่า กระบวนการยุติธรรมสามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่เป็นทหารเข้าสู่กระบวนการทางคดีได้
นอกจากนั้น การมีกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ก็จำกัดอำนาจศาลทหาร แม้ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นทหารก็ตาม
“กฎหมายเดิมซึ่งเป็นธรรมนูญศาลทหาร จะพิจารณาคดีกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นทหารในทุกๆ ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ถ้าทหารตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน หรือปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือบังคับบุคคลให้สูญหาย ก็จะถูกพิจารณาคดีที่ศาลพลเรือน ก็คือศาลจังหวัด" น.ส.พรเพ็ญ กล่าว
แต่น่าเสียดายที่คดีนี้เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ จึงยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่เช่นเดิม ไม่ได้อานิสงส์ของกฎหมายใหม่
@@ ได้เวลาแก้ธรรมนูญศาลทหาร?
การที่ทหารก่อคดีกับพลเรือน ในคดีที่พลเรือนเป็นผู้เสียหาย แต่กลับต้องขึ้นศาลทหาร ยิ่งในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก หรือประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้วยแล้ว คดีจะจบแค่ศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกานั้น เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า สมควรยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายแบบนี้ได้หรือยัง
เพราะคดีที่บังคับให้ขึ้นศาลทหารนั้น ส่วนใหญ่เป็นคดีอาญาทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวกับคดีความมั่นคง ไม่เกี่ยวกับการรบทัพจับศึก กิจการของกองทัพ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของทหารแต่อย่างใดทั้งสิ้น
อย่างเช่นคดีพลทหารวิเชียร ก็เป็นคดีมีการกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายจนตาย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรบ หรือสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแค่เกิดขึ้นในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น
คดีที่พิจารณาบนศาลทหาร โดยเฉพาะคดีสำคัญที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ มักถูกมองจากหลายฝ่ายว่าใช้เวลาพิจารณาคดีนานเกินไป และมีการตั้งข้อสงสัยว่า องค์คณะที่ร่วมพิจารณาคดี มีความเชี่ยวชาญคดีบางประเภทที่ไม่ได้เกี่ยวกับกิจการของทหารโดยตรงจริงหรือไม่
ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว สส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็น สส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.แบบบัญชีรายชื่อ (ในขณะนั้น) ได้ยื่นญัตติเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร
โดยแก้เพียงประเด็นเดียว ให้คดีที่ทหารกระทำผิดต่อพลเรือน ต้องขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกิจการของกองทัพ
@@ อุทาหรณ์ “ฟุครุดดีน บอตอ” ถูกยิง 15 ปียังไม่มีคำพิพากษา
โดยในการอภิปรายญัตติเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร สส.นราธิวาส ได้ยกตัวอย่างคดียิง นายฟัครุคดีน บอตอ อดีต สว.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2549 แต่ปรากฏว่าผู้ที่ถูกจับกุมและถูกระบุว่าเป็นมือปืน คือ “ทหารประจำการ” ทำให้คดีต้องขึ้นศาลทหาร และใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานมาก
นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ ผ่านมาถึง 15 ปีแล้ว คดีเพิ่งผ่านศาลชั้นต้น ซึ่งศาลยกฟ้อง ทำให้ นายฟัครุดดีน ยื่นอุทธรณ์ แต่เฉพาะชั้นอุทธรณ์ก็หมดไปอีก 5 ปี และทุกอย่างก็เงียบหายไปเลย
ปัจจุบันชีวิตของนายฟัครุดดีน ก็ไม่กลับมาเหมือนเก่า ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา และปิดฉากชีวิตการเมืองตลอดกาล ยังคงเป็นเจ้าของโรงเรียนดารุสสาลาม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังของ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เท่านั้น