ข่าวฮือฮาว่าด้วยรัฐบาลมาเลเซียขยายเวลาปิดประเทศถึง 31 ส.ค.63 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 งานนี้ไม่ส่งผลดีต่อแรงงานไทยในมาเลย์อย่างแน่นอน
ข่าวจากทางการมาเลเซียระบุว่า นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แถลงเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ขยายเวลาควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ส.ค. เพื่อทำลายวงจรการติดเชื้อโควิด-19
นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ขยายความว่า มาตรการที่ถูกหยิบมาใช้ คือควบคุมการเดินทางแบบมีเงื่อนไข หรือ Conditional Movement Control Order (CMCO) ซึ่งเดิมก็ประกาศอยู่แล้ว แต่มีการผ่อนปรนมากขึ้น โดยอนุญาตให้เดินทางข้ามรัฐได้ ให้ท่องเที่ยวภายในประเทศได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้เปิดการท่องเที่ยวต่างประเทศ
โรงเรียนสามารถเปิดการสอนได้ภายใต้คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข การประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งเรื่องเวลาเปิด-ปิดของธุรกิจ และอื่นๆ ส่วนการชุมนุมกันของประชาชน ก็ผ่อนปรนให้สำหรับการประกอบศาสนกิจที่มัสยิด การแข่งกีฬาบางประเภท ยกเว้นกีฬาที่มีการสัมผ้สกัน
ส่วนกิจกรรมที่ยังไม่อนุญาต ได้แก่ การเดินทางข้ามพรมแดน เพราะยังมีการปิดด่านพรมแดนทุกด้าน ยังไม่เปิดสถานเริงรมย์ บาร์ ไนท์คลับ คาราโอเกะ
"สรุปง่ายๆ คือ มาเลเซียยังปิดประเทศไปจนถึงปลายเดือน ส.ค.63 เบื้องต้นก็ถือว่าส่งผลกระทบต่อคนไทยที่ยังอยู่ที่มาเลเซียราวๆ 5 หมื่นกว่าคนที่มีความต้องการอยู่ที่นี่ และอีกแสนกว่าคนที่กลับไปแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาใหม่ แต่เรื่องนี้ต้องดูในระยะยาว" กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าว และว่า สำหรับแรงงานไทยในมาเลเซียยังคงสามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แม้มาเลเซียจะปิดด่านต่อไปจนถึงเดือน ส.ค.ก็ตาม เพราะฝั่งไทยยังเปิดรับแบบจำกัดจำนวนทุกวัน แต่ปัญหาคือเมื่อกลับมาแล้วก็ไม่สามารถกลับเข้าไปที่มาเลเซียได้อีก
ส่วนบรรยากาศที่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส มีรายงานว่าทันทีที่มีข่าวมาเลเซียปิดด่านและปิดประเทศยาวถึงเดือน ส.ค. แรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้งหลายแห่งที่กระจายอยู่ตามรัฐต่างๆ ของมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พากันตกใจกับประกาศของรัฐบาล และคาดว่าจะแห่เดินทางกลับเข้าประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากแรงงานไทยถูกเลิกจ้าง เพราะร้านอาหารน่าจะยอดขายลดลงมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ปรากฏการณ์แรงงานไทยจากมาเลเซีย โดยเฉพาะลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะไม่มีงานทำในมาเลเซียนั้น จะว่าไปยังไม่ร้ายแรงเท่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นั่นก็คือเมื่อแรงงานเหล่านั้นตัดสินใจเดินทางกลับไทยแล้ว การจะหวนกลับไปทำงานในมาเลเซียย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐบาลมาเลย์ก็จะถือโอกาสนี้จัดระเบียบแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมามาเลเซียเองก็มีปัญหาแรงงานต่างชาติเข้าไปแย่งงานคนมาเลย์ ทำให้พลเมืองของตนเองตกงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ประมาณการกันว่ามีแรงงานไทยทำงานอยู่ในมาเลเซียทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมายราวๆ 200,000 คน หากคนเหล่านั้นต้องกลับประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสามจังหวัด กฺ็จะทำให้ยอดคนว่างงานในพื้นที่ชายแดนใต้พุ่งสูงขึ้น เพราะจริงๆ ในพื้นที่ก็มีคนว่างงานอยู่แล้วราวๆ 100,000 ถึง 200,000 คน
ข้อมูลจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า มีแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียทั้งสิ้นประมาณ 150,000 ถึง 200,000 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 50,000 คน โดยตลอดมามีการหมุนเวียนและไหลเข้า-ออกของแรงงานไทยตลอดเวลา เพราะในแต่ละปีจะมีการจับกุมและเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายกลับประเทศต้นทาง (ทุกประเทศ ไม่เฉพาะไทย) ราวๆ ปีละ 140,000 ถึงกว่า 200,000 คน
ในปี 2551 ประมาณการว่า มีร้านอาหารไทย (ร้านต้มยำกุ้ง) ในมาเลเซียมากกว่า 5,000 ร้าน และมีแรงงานไทยทำงานในร้านอาหารไทยกว่า 200,000 คน ทำรายได้ส่งกลับประเทศไทยประมาณ 200 ล้านถึง 300 ล้านบาทต่อเดือน
ปี 2559 มีการทำข้อมูลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ พบว่า ในมาเลเซียมีแรงงานถูกกฎหมาย 36,478 คน ประกอบด้วยแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ 12,394 คน ทำงานในภาคเกษตร 1,652 คน ภาคการผลิต 291 คน ภาคการก่อสร้าง 698 คน ภาคการบริการ 9,056 คน และผู้ช่วยแม่บ้าน 314 คน นอกจากนั้นเป็นแรงงานผู้เชี่ยวชาญ 2,084 คน และแรงงานที่เป็นลูกเรือประมงประมาณ 22,000 คน
ที่เหลือนอกเหนือจากนี้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ ได้แก่ ร้านต้มยำกุ้ง ร้านนวด สปา และสถานบันเทิงในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น เมืองยะโฮร์บารู อิโปห์ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ และมะละกา
ขณะที่ในปี 2560 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียคาดการณ์ว่า น่าจะมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้รับอนุญาต (ไม่มีเวิร์ค เพอร์มิต) ประมาณ 100,000 ถึง 150,000 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคบริการ ได้แก่ ร้านอาหารไทย หรือร้านต้มยำกุ้ง พนักงานนวด พนักงานสปา และพนักงานต้อนรับในสถานบันเทิง ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานถูกกฎหมาย และไม่รวมแรงงานในภาคการผลิตอื่นๆ
สรุปเป็นตัวเลขกลมๆ แบบชนเพดาน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีคนว่างงานอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงโควิดและหลังโควิด ราวๆ 200,000 คน และยังมีแรงงานไทยกลับจากมาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสที่จะไม่ได้กลับไปทำงานอีก เพราะทางการมาเลเซียจัดระเบียบอีกราวๆ 200,000 คน แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้กลับมาก็ไม่มีงานทำ เนื่องจากสาเหตุที่ต้องไปทำงานที่มาเลเซีย ก็เพราะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีตำแหน่งงาน
ยิ่งๆ ไปกว่านั้นเศรษฐกิจที่ปลายด้ามขวาน ยังพึ่งพิงภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา แต่ราคายางก็ตกต่ำต่อเนื่องมานานข้ามปี ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ลดลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนต้องข้ามไปทำงานฝั่งมาเลย์แบบผิดกฎหมาย
จากยอดคนตกงานที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย ประมาณ 400,000 คน ยังไม่รวมนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่งในพื้นที่ คือ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อีกราวๆ ปีละ 15,000 ถึง 25,000 คน แต่กลับไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เพราะในพื้นที่ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ย่อมทำให้ตัวเลขคนตกงานมีโอกาสสะสมและเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
หากมองภาพใหญ่ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มสงขลากับสตูลเข้ามาอีก 2 จังหวัด ก็จะพบปัญหาคล้ายคลึงกัน แต่สงขลากับสตูลจะมีปัญหาเรื่องนักศึกษาจบใหม่ต้องออกมาเตะฝุ่นจำนวนมากกว่าสามจังหวัดชายแดน เนื่องจากสงขลาจังหวัดเดียวมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีมากถึง 13 แห่ง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีตนายก อบจ.สงขลา บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เฉพาะนักศึกษาจบใหม่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละปีมีตัวเลขสูงถึง 75,000 คน คำถามก็คือคนเหล่านี้จะหางานทำที่ไหน เพราะสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บวกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย
ปรากฏการณ์คนว่างงานจำนวนมหาศาลกำลังจะเป็น "วิถีใหม่" ในมุมร้ายของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ไข ซ้ำเติมสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 16 ปี ซึ่งก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จเช่นกัน