จากดราม่ายายกำเงิน 2 พันซื้อมือถือให้หลานเตรียมเรียนออนไลน์ สะท้อนถึงความไม่พร้อมและความลำบากของหลายๆ ครอบครัวจากนโยบายจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ต้องเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.63 นั้น
แม้กระทรวงศึกษาฯและโรงเรียนหลายแห่งจะเริ่มออกมาชี้แจงแล้วว่า จะมีการจัดการเรียนการสอนทั้ง ON-SITE ซึ่งหมายถึงการเรียนการสอนตามปกติที่โรงเรียน แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ON-AIR คือการเรียนการสอนผ่านทางทีวี และ ON-LINE คือการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันก็ตาม แต่ท่าทีการให้น้ำหนักกับการเรียนการสอนออนไลน์เป็นหลัก เหมือนจะให้เป็น New Normal หรือ "วิถีใหม่" ทางการศึกษาของเด็กไทย ก็ยังทำให้ครอบครัว รวมถึงเด็กที่ไม่ความพร้อมอีกมากมายรู้สึกเครียดและกังวลใจ
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจนและความไม่สงบอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายครัวเรือนไม่มีแม้แต่ทีวีด้วยซ้ำ อย่าไปถามหาถึงอินเทอร์เน็ตหรือ Wi-Fi เหมือนกับครอบครัวในเมืองใหญ่
นายสือแม แวหะมะ อายุ 45 ปี ชาว ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งมีลูกถึง 6 คน และมี 4 คนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เมื่อทราบว่า ลูกๆ ต้องเรียนออนไลน์ แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ต้องไปถามคนที่เขารู้เรื่อง เขาก็บอกว่าต้องมีทีวี หรือมีอินเทอร์เน็ต ต้องมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนถึงจะเรียนได้ แต่เราไม่มีอะไรเลย
"คุยกับแฟน พยายามคิดจะหาทางออก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่มีทางออกเลย มึดไปหมด ทราบว่าเขาจะนำร่องเรียนออนไลน์วันที่ 18 พ.ค.แล้ว เพราะโรงเรียนยังไม่เปิดเทอม ฉะนั้นลูกเราคงไม่ได้เรียน"
"ปกติก่อนหน้านี้ก็เครียดอยู่แล้วเรื่องจะกินอะไรในแต่ละวัน เพราะเราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ตอนนี้มาเพิ่มเรื่องเรียนออนไลน์อีก ยิ่งหนักเลย ผมเองก็เป็นโรคหัวใจ แฟนก็ร่างก่ายไม่ค่อบแข็งแรง รถล้มแล้วก็เจ็บออดๆ แอดๆ มาตลอด กรีดยางได้วัน 50 บาท แล้วจะให้พอมาซื้อทีวีได้อย่างไร ก็ได้แค่เครียด สงสารลูก เราคนจนไม่มีทางให้เลือกมากกว่านี้" นายสือแม กล่าว
คุณพ่อวัย 45 ปี บอกอีกว่า มีลูกทั้งหมด 6 คน สาเหตุที่ให้เรียนเพียง 4 คน เพราะอีก 2 คนไม่มีเงินส่ง แม้ลูกอยากเรียนต่อก็ตาม พอจบ ป.6 ก็ให้ออกมาช่วยทำงาน แต่ก็มาเจอโควิดระบาดอีก ทำให้ไม่มีงานทำ
"อยากขอให้ครูอย่าลงโทษลูกเลย เราไม่มีอะไรที่จะให้พวกเขาเรียนออนไลน์ได้เลยจริงๆ"
ไม่เพียงพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้นที่เครียด และตัวเด็กเองก็เครียดเหมือนกัน แม้จะมีข่าวกระทรวงศึกษาฯออกมาปลอบว่าจัดจัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบให้ตอบสนองกับความพร้อมของผู้เรียน แต่เด็กที่ไม่พร้อมสำหรับการเรียนการสอนออนไลนก์ก็กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน
ด.ช.มูฮัมหมัดอัสมิง แวหะมะ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านพงกูแว อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่า ตนและเพื่อนๆ อีกหลายคนพูด อ่าน เขียนภาษาไทยไม่คล่อง ถ้าไม่มีการอธิบายชัดๆ กลัวว่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง ยิ่งไปกว่านั้นพวกเรายังไม่มีทีวี ไม่มีอินเทอร์เน็ตที่จะเรียนออนไลน์ด้วย ทำให้กลัวกันว่าเมื่อโรงเรียนเปิดจะเรียนไม่ทันเพื่อนๆแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกเครียดเหมือนกัน
"แค่ร้องเท้านักเรียน ชุดนักเรียนใหม่ พวกเรายังหายาก ตอนนี้ยังต้องมาคิดถึงการเรียนออนไลน์อีก ซึ่งไม่มีทางได้เรียนเลย" ด.ช.มูฮัมหมัดอัสมิง กล่าว
ขณะที่เด็กโตที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็ยังรู้สึกกังวลกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ น.ส.วายีตา ดอเลาะ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า เครียดมากตอนนี้ ไม่รู้ว่าการเรียนออนไลน์จะออกมาในรูปแบบไหน เดาไม่ออกเลยว่าจะเป็นการเรียนแบบไลฟ์สด หรือเรียนเหมือนเราดูทีวีทั่วไป แต่บางกระแสบอกว่าต้องแต่งชุดนักเรียนเวลาเรียนด้วย และต้องเข้าไปเช็คชื่อในไลน์กลุ่มของห้อง ซึ่งถ้าใครไม่ผ่านก็จะมีผลต่อเกรด
"รู้สึกว่าเป็นการบังคับให้เรียน ทำให้เครียดมาก เพราะเดาไม่ออกว่าการเรียนออนไลน์จะมีหน้าตาแบบไหน ทุกคนบอกแค่ว่าเรียนออนไลน์เรียนกับมือถือหรือทีวีที่ต้องมีอินเทอร์เน็ต ข้อมูลที่ครูบอกและในกูเกิ้ลก็มีแค่นี้ ทางโรงเรียนก็บอกแค่ตารางเรียน ถ้ามีการบ้านก็ให้ส่งงานในไลน์กลุ่ม แต่เราเพิ่งขึ้น ม.4 ยังไม่รู้ว่าเรียนห้องไหน ครูประจำชั้นคนไหนก็ยังไม่รู้ จึงปรึกษาใครไม่ได้เลย นอกจากหาข้อมูลในกูเกิ้ลและเว็บโรงเรียน ซึ่งก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้"
นักเรียนหญิงที่เพิ่งขึ้น ม.4 บอกด้วยว่า จริงๆ โรงเรียนก็จะเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.แล้ว น่าจะให้เรียนพร้อมกันวันนั้นเลย จะได้ไม่ต้องมากังวลแบบนี้
ทางด้านครูรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งสอนอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า รู้สึกกังวลไม่ต่างจากผู้ปกครองและเด็กๆ เพราะทราบดีว่านักเรียนหลายคนไม่มีทีวี และมือถือ รวมทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต แล้วจะเรียนอย่างไร ตอนนี้ยังมีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น มีเด็กมาถามว่าต้องใส่ชุดนักเรียนด้วยหรือไม่ บางคนก็ถามว่าทางโรงเรียนจะเข้มงวดกับการเรียนออนไลน์ และส่งผลต่อเกรดด้วยหรือเปล่า ซึ่งคำถามแบบนี้แม้แต่ครูเองก็ยังตอบไม่ได้
"ส่วนตัวมองว่า การเรียนออนไลน์จะเป็นปัญหาต่อเด็กเรามาก ที่ผ่านมาทางโรงเรียนพยายามเข้มงวดเรื่องอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (หมายถึงการอ่านและเขียนภาษาไทย) ต้องมีครูดูแลอย่างใกล้ชิด บางคนสอนตัวต่อตัวกับเด็กเลย แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่เรียนไม่รู้เรื่อง เพราะพวกเขาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เนื่องจากเวลาอยู่บ้านใช้ภาษามลายู ฉะนั้นถ้าเราจะให้เด็กกลุ่มนี้เรียนออนไลน์ ด้วยการฟังและดูจากคนสอนที่พูดภาษาไทย 100% ก็เชื่อว่านักเรียนของเราเรียนไม่ได้แน่ เพราะไม่มีความพร้อมมากพอ"
ขณะที่ ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ ไม่สามารถจัดการศึกษาแบบเดียวกันได้ในทุกระดับชั้น เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม และมหาวิทยาลัย ฉะนั้นจึงต้องเตรียมรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งก็ทราบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการมีการเตรียมการเอาไว้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะสื่อสารได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกลายเป็นกระแสวิตกกังวลอย่างกว้างขวาง
"เด็กที่มีปัญหามีอยู่ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเด็กชายขอบอย่างเด็กพื้นที่สูงในภาคเหนือ สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย ฉะนั้นกระทรวงศึกษาฯต้องเร่งทำความเข้าใจ และจัดรูปแบบการเรียนการสอนรองรับเด็กทุกกลุ่มไม่ให้รู้สึกเหลื่อมล้ำหรือเรียนไม่ทันเพื่อนไปมากกว่านี้" ดร.เชษฐา กล่าว
เขตพื้นที่การศึกษา แจงมีมาตรการเสริมสำหรับเด็กไม่พร้อม
นายสุพจน์ มณีรัตนโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 2 (ผอ.สพป.เขต 2 นราธิวาส) ชี้แจงเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ว่า วันที่ 18 พ.ค.- 30 มิ.ย.63 จะเป็นช่วงของการทดลองระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้มอบหมายให้โรงเรียนทุกแห่งจัดตารางเรียนตามแนวทางของ DLTV ชั้นไหนเรียนวิชาอะไร ต้องเตรียมแบบฝึกใบงานให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนในสัปดาห์นั้น โดยครูจะนัดเจอกับผู้ปกครองสัปดาห์ละครั้งเพื่อส่งมอบใบงานให้เด็กได้ทำแบบฝึกหัด หมายถึงว่าในแต่ละสัปดาห์จะส่งมอบการบ้านและรับใบงานใหม่เพื่อให้สามารถทำการเรียนการสอนที่ครบถ้วนทั้งภาคทฤษฎีและการทำแบบฝึกหัดวัดความรู้ของนักเรียน
แนวทางนี้เป็นของกระทรวงศึกษาธิการที่จะทดลองระบบก่อนใช้จริงในวันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.63 แต่หากในห้วงนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ทุกโรงเรียนก็จะกลับมาสอนด้วยการเรียนในโรงเรียนเช่นเดิม
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจความพร้อมของครัวเรือนนักเรียน จากโรงเรียนในสังกัดจำนวน 117 แห่งในพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.นราธิวาส ที่รับผิดชอบ และจะการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม พบว่านักเรียนมีความพร้อมต่อการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมประมาณร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 ยังไม่พร้อมกับระบบนี้ โดยพบว่าไม่มีจานดาวเทียม ไม่มีกล่องรับสัญญาณ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรทัศน์ที่จะใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ประกอบกับผู้ปกครองก็ต้องออกไปประกอบอาชีพไ ม่มีเวลามาเฝ้าเด็กระหว่างเรียนได้ อีกทั้งไม่สามารถช่วยสอนเพื่อเสริมการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรครูไม่สามารถทอดทิ้งหรือละเลยเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ จึงต้องมีมาตรการเสริม โดยวางกรอบแนวทางจัดการศึกษา ในระยะต่อไป เช่น อาจจะพิจารณาเปิดสอนเป็นรายชั้น ชั้นละ 1 ชั่วโมง เน้นเรียนทฤษฎี แล้วนำใบงานกลับไปทำที่บ้าน งดเว้นการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการเว้นระยะห่างทางกายภาพ เพื่อเติมเต็มความรู้ให้เด็กนักเรียนอย่างทั่วถึง แต่ทั้งนี้ต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลักด้วย