"ตอนนี้อยู่ในช่วงทำใจ อีกสักพักจะตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ต่อไปหรือกลับไปอยู่กับพ่อที่พะเยา"
เป็นคำบอกเล่าของ เยาะ ภรรยาของ มะรอซี มะแซ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงถล่มป้อมจุดตรวจ ชรบ.ใน ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อกลางดึกวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
พื้นเพของเยาะเป็นคนพะเยา แต่ย้ายมาอยู่ลำพะยากว่า 7 ปีแล้ว เธอรับอิสลามด้วยการแต่งงาน เพิ่งมีลูกสาวคนแรกและคนแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือ ด.ญ.นูรฟาฮาน่า
เยาะเล่าว่า ลูกสาวสนิทกับพ่อมาก สามีตามใจลูกสาวเพราะรอที่จะมีลูกมาหลายปี ส่วนอาชีพของเธอคือเป็นแม่บ้านและเลี้ยงดูลูก
"อาแบ (สามี) ทำงานคนเดียว ฉันทำงานบ้าน เลี้ยงลูก เมื่อมีเหตุร้ายนี้ก็คิดถึงการทำงาน เพราะเรียนจบแค่ ป.6 ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป ขอดุอาให้พ้นช่วงนี้ไปก่อน แล้วจะตัดสินใจอีกทีว่าจะอยู่ที่นี่ต่อหรือกลับไปอยู่ที่พะเยา เพราะพ่ออายุเกือบ 80 ปีแล้ว พ่ออยู่คนเดียวที่โน่น"
ขณะที่ญาติฝ่ายสามีของเยาะบอกว่า อยากให้เธอใช้ชีวิตในหนทางแห่งอิสลาม อยู่ที่ลำพะยาต่อไป บ้านที่กำลังต่อเติมก็ใกล้เสร็จแล้ว ทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลทั้งเยาะและลูกสาว
ในพื้นที่หมู่ 5 ที่เกิดเหตุ มีทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาเนิ่นนาน สัดส่วนมุสลิม 40 เปอร์เซ็นต์ พุทธ 60 เปอร์เซ็นต์ น้องสาวของมะรอซีบอกว่า ชาวบ้านไม่เคยมีปัญหาต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด รู้จักพี่น้องพุทธที่เสียชีวิตทุกคน เหตุที่เกิดขึ้นทั้งพุทธและมุสลิมต่างสูญเสีย และได้เข้าไปแสดงความเสียใจกับญาติพี่น้องผู้สูญเสียในวัดลำพะยา
"เห็นโลงศพวางเรียงยาวในวัด บอกความรู้สึกไม่ถูกเลย พูดไม่ออก ได้แต่บอกให้อดทนกัน"
ในห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศก มืดมน เครือข่ายภาคประชาสังคมพุทธ-มุสลิม ทั้งในจังหวัดชายแดนใต้และส่วนกลาง โดยผู้นำเครือข่ายและตัวแทนจำนวน 20 คน ได้นำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทุกคน
รักชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอกว่า อย่ามองว่าเมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องดูแล เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเป็นพี่เลี้ยงบ้าง และช่วยให้ชุมชนอื่นๆ เข้มแข็งด้วย แต่การดูแลหลังจากนี้ต้องระวังอย่าให้เป็นการปลุกระดมเพื่อยั่วยุให้เป็นประเด็นระหว่างศาสนา
บรรยากาศในวัดลำพะยาแต่ละวันหลังเกิดเหตุเต็มไปด้วยความเงียบงัน โศกสลด ญาติพี่น้องและคนรู้จักกับผู้สูญเสียพากันมาแสดงความเสียใจและปลอบใจคนที่อยู่ ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจสร้างเมรุชั่วคราวเป็นเชิงตะกอนแบบโบราณของพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ เพื่อฌาปนกิจพร้อมกันในช่วงบ่ายวันที่ 12 พ.ย.
ชาวบ้านรายหนึ่งบอกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจตระเวนชายแดนดูแลชาวบ้าน แต่เมื่อมีนโยบายให้ชาวบ้านดูแลกันเอง เจ้าหน้าที่ก็ถอนกำลังออกไป โดยที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัย
"เราไม่รู้ว่าใครทำเรื่องนี้ เขามาแบบกองกำลัง แบบนักรบกองโจร ชาวบ้านไม่ได้มีปืนทุกคน ยังยิงปืนกันไม่เป็นด้วยซ้ำ คนที่เป็น ชรบ.เสียสละช่วยกันดูแลคนอื่นเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ทำงาน ได้กรีดยางกัน พวกเขาทำงานเลี้ยงชีพเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนเสียสละไปอยู่เวรดูแลหมู่บ้าน เราไม่รู้ว่าใครมาทำ เพราะที่เราอยู่กันมา ไม่เคยมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเลย"
ขอให้ทุกดวงวิญญาณไปสู่สุคติ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (บน) พวงหรีดพระราชทาน (ล่างซ้าย) เยาะ (ล่างขวา) เชิงตะกอนชั่วคราวที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง
อ่านประกอบ :
คนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจ ชรบ.ในยะลา ดับ 14 ศพ-ชิงปืน!
เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุโจมตี ชรบ.ในยะลา
เมื่อกองกำลังประชาชนตกเป็นเป้า! ประเมิน 4 ปัจจัยไฟใต้ปะทุอีกระลอก
นายกฯประณามเหตุโจมตีป้อม ชรบ. ยอดตายพุ่ง 15 - หญิง 4 ศพ
แม่ทัพ 4 สั่งปรับแผนห้ามเฝ้าป้อม-นอนฐาน - ปากคำชาวบ้านคนร้ายมีสาหัส
ผบ.ตร.บินด่วนลงใต้ พบคนร้ายใช้เอ็ม 79 ถล่มป้อม ชรบ.
"ปณิธาน" เตือนภัย "ผู้นำรุ่นใหม่" แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปี
เสียงจากลำพะยา...โจมตีป้อม ชรบ.ตาย 15 เกิดขึ้นได้ไง
สรุปโจมตีป้อม ชรบ.ลำพะยา "ทีมปัตตานี-ยะลา" จับมือ "หน้าขาว-ฝึกใหม่"