เหตุการณ์โจมตีป้อม ชรบ. ที่ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิตถึง 15 คนนั้น ทำให้ปัญหาไฟใต้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
แต่การพูดถึงของสังคม กลับกลายเป็นกระแสโต้เถียงกันเดิมๆ ระหว่างฝ่ายที่มองว่ากองทัพควรมีบทบาทนำในภารกิจดับไฟใต้ต่อไป กับอีกฝ่ายที่เห็นว่ากองทัพควรวางมือ และถอยฉากออกไปได้แล้ว เพราะแก้ปัญหามา 15 ปี ใช้งบไปหลายแสนล้าน แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น
สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารจากชายแดนใต้มาตลอดจะทราบว่า หลังจากจบดราม่า 15 ศพ ทำพิธีทางศาสนากันไปเรียบร้อย ทุกอย่างก็จะกลับสู่ความนิ่งเช่นเดิม และประเด็นที่โต้เถียงกันไปมาก็จะกลายเป็นเพียงบริบทชิงความได้เปรียบทางการเมือง คล้ายตะกอนไฟใต้ที่หากน้ำนิ่งก็จะนอนก้น ไม่เป็นที่สังเกตเห็น ต่อเมื่อใดที่น้ำกระเพื่อม มีความรุนแรงเกิดขึ้น ตะกอนก็จะลอยขึ้นมา เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ฉะนั้นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น จึงไม่ใช่แค่โต้เถียงแล้วจบไป เหมือนปล่อยให้ตะกอนนอนก้น แต่ควรหันกลับมาสรุปบทเรียนเพื่อกำหนดนโยบายใหม่ๆ ทั้่งระดับยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี
เริ่มจากในระดับยุทธวิธีก่อน ยุทธการที่แม่ทัพภาคที่ 4 ใช้ช่วงก่อนหน้าจะเกิดเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ก็คือ
1. ลุยปราบยาเสพติดในระดับชุมชนหมู่บ้าน มาตรการนี้ได้ผลระดับหนึ่ง และทำให้เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร เข้าพื้นที่ในระดับหมู่บ้านได้ง่ายขึ้น
2. แก้ปัญหาช่องโหว่การเคลื่อนย้ายคนและยุทโธปกรณ์ข้ามแดน ตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย หลังจากพบว่าเหตุระเบิดเกือบ 20 จุดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คนร้ายวางแผนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน แล้วขนย้ายอุปกรณ์ประกอบระเบิดผ่านด่านพรมแดนที่เป็นด่านศุลกากรเข้ามาเลย
ไม่นับอีกหลายเหตุการณ์ที่มีการขนอุปกรณ์ข้ามแดนไป-มา ตามท่าข้าม (ริมแม่น้ำโกลก ตากใบ) รวมถึงช่องทางธรรมชาติ บางเหตุการณ์เกิดระเบิดฝั่งไทย แต่คนร้ายลากสายไปกดจุดชนวนในฝั่งเพื่อนบ้านก็ยังมี...
ในส่วนของด่านพรมแดนถาวรที่เป็น "ด่านตรวจคนเข้าเมือง" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา มีทั้งหมด 7 ด่าน ได้สั่งให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลเฝ้าระวังกว่า 5,000 รายชื่อ
ส่วนการลาดตระเวนพื้นที่ช่องทางธรรรมชาติ ท่าข้ามที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 74 ช่องทาง รวมทั้งจุดผ่อนปรนอีก 7 จุดนั้น ได้มีการจัดชุดปฏิบัติการ กองพันทหารราบเชิงรุก (พัน ร.เชิงรุก) ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ใช้กำลังมากถึง 5,000 นาย
3. ส่งกำลังทหารที่เรียกว่า "ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์" เข้าไปในหมู่บ้านเป้าหมายที่คาดว่าเป็นที่หลบซ่อนตัวหรือกบดานของบรรดาแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้้งหมู่บ้านที่ยังคงมีเหตุรุนแรงอยู่ จำนวน 118 หมู่บ้าน (จากหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ 1 พันกว่าหมู่บ้าน) เพื่อกดดันให้ผู้ก่อความไม่สงบไม่สามารถอำพรางตัวอยู่ในหมู่บ้านได้ ต้องหนีขึ้นภูเขา ซึ่งก็จะมีกองกำลังทหารพรานลาดตระเวนอยู่
มาตรการทั้งหมดนี้ทำต่อเนื่องมาหลายเดือน ส่งผลให้เหตุการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเงียบสงบ แต่จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้หมดไป เพียงแต่ผู้ก่อการรอจังหวะ และมีเวลาวางแผนอย่างรอบคอบ สุดท้ายก็ตัดสินใจโจมตีชรบ. ในหมู่บ้านทุ่งสะเดา บ้านย่อยของบ้านทางลุ่ม ตำบลลำพะยา ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้มีชื่อติดกลุ่ม 118 หมู่บ้าน เพราะเป็นหมู่บ้านที่ภาคประชาชนค่อนข้างเข้มแข็ง และตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง
สะท้อนว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุ เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐมาตลอด มีการวางแผนและเลือกเป้าหมายอย่างรัดกุม
ปัญหาเฉพาะหน้าในแง่ยุทธวิธีตอนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่บางฝ่ายเรียกร้องว่าควรจะปลดอาวุธกองกำลังภาคประชาชนหรือไม่ แต่ควรมาถอดบทเรียนกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ทำไมเหตุการณ์โจมตีป้อม ชรบ.จนสูญเสียถึง 15 ศพถึงเกิดขึ้นได้ มีความหละหลวม ประมาทเลินเล่อตรงไหน
ป้อม ชรบ.แห่งนี้ทำไมถึงมีคนไปรวมตัวมากเป็นพิเศษ มีตำรวจและคนจากนอกพื้นที่เข้าไปทำอะไร และเมื่อเข้าไปรวมตัวกันแล้วได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางยุทธวิธีในการรักษาความปลอดภัยหรือไม่ หน่วยเหนือได้ติดต่อสื่อสาร แจ้งเตือน หรือแจ้งให้เฝ้าระวังมาก่อนหรือไม่ อย่างไร
ส่วนเรื่องการปลดอาวุธจากกองกำลังประชาชน หรือการถอนทหาร ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ต้องหารือกันอย่างรอบคอบในระดับยุทธศาสตร์
แต่ในแง่ยุทธศาสตร์ที่ปรับได้ทันที คือการทำความเข้าใจว่าหากยังใช้กองทัพเป็น "หน่วยนำ" ในภารกิจดับไฟใต้ ปัญหาภาคใต้ก็จะยังทรงๆ อยู่แบบนี้ ฝ่ายที่ก่อเหตุก็หาจังหวะก่อได้เรื่อยๆ เพราะเป็นการต่อสู้ระยะยาว ขณะที่การเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเข้มงวดแค่ไหน ก็มีวันเผลอ วันประมาท วันอ่อนล้า วันสับเปลี่ยนกำลัง ฯลฯ จนมีช่องโหว่ช่องว่างให้ก่อเหตุได้อยู่ดี
ทางออกของปัญหาจึงต้องมีการพูดคุย เจรจา เพื่อดึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐมาร่วมโต๊ะพูดคุย หาทางออกสุดท้ายในแบบสันติวิธี แต่ปัญหาคือ กระบวนการพูดคุยเจรจาที่ทำอยู่ ก็ยังอยู่ในมือกองทัพ เพราะมีหัวหน้าคณะพูดคุยเป็นทหาร (อดีตทหาร ตั้งโดยนายกฯอดีตทหาร) และกลไกหลักๆ ในคณะพูดคุยก็ล้วนมาจากหน่วยงานรัฐ มีตัวแทนทั้งฝ่ายความมั่นคง งานต่างประเทศ และงานด้านยุติธรรรม
ฉะนั้นสิ่งที่แก้ไขได้ทันที อาจต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยให้เป็นพลเรือน หรือนักการทูตมืออาชีพ ส่วนตัวแทนกองทัพก็ยังเป็นกลไกอยู่ในคณะพูดคุย เพียงแต่ต้องไม่ใช่ผู้นำ และที่สำคัญต้องมีตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในฐานะ "คนใน" ที่ผ่านการคัดเลือกในฐานะที่เป็น "ตัวแทนคนสามจังหวัดจริงๆ" มามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่งานพัฒนา กองทัพควรปล่อยมือจากหน่วยงานที่มีภารกิจด้านนี้ เพื่อลดการถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจ เช่น ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกแบบมาดีมาก แต่ปัจจุบันโดนคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ไปอยู่ใต้ กอ.รมน. และมีทหารเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. (พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร)
นอกจากนั้นยังควรให้น้ำหนักบทบาทงานพัฒนากับหน่วยงานปกติที่รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยให้ฝ่ายกองกำลัง (ทหาร) ทำหน้าที่ รปภ. และขณะเดียวกันก็ต้องลดปัญหาการคอร์รัปชั่น หักหัวคิว เพราะหากยังปล่อยให้มีการทุจริต จะยิ่งดิสเครดิตฝ่ายรัฐเอง พร้อมเสริมบทบาทท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
ปัญหาทั้งหมดนี้เหมือน "ตะกอนไฟใต้" ที่พอเกิดเหตุรุนแรงที ก็มีแรงกระเพื่อมให้ตะกอนปรากฏขึ้นมาให้เห็นทีหนึ่ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ตะกอนก็กลับไปนอนก้นเหมือนเดิม รอวันกระเพื่อมใหม่ ทั้งๆ ที่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ความสูญเสียที่ปลายด้ามขวานมากมายเกินกว่าจะยอมรับได้อีกต่อไปแล้ว มากกว่าหลายๆ พื้นที่ขัดแย้งในโลกที่ใช้เวลามากกว่าไทยเป็นเท่าตัว อย่างเช่น ไออาร์เอ ขัดแย้ง 30 ปี มีผู้สูญเสียน้อยกว่าที่ชายแดนใต้ของไทยเกือบครึ่ง
ถึงวันนี้จึงน่าจะได้เวลาที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับตรงกันแล้วว่า การแก้ไขปัญหาไฟใต้ต้องใช้ทุกองคาพยพร่วมกัน ไม่สามารถมองแบบแยกส่วน หรือมองคนกันเองเป็นศัตรูไม่ได้อีกต่อไป ฝ่ายทหารหรือกองทัพก็ยังมีความสำคัญ เพราะที่ผ่านมาก็ช่วยลดระดับความรุนแรงลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ต้องปรับภารกิจให้สอดคล้องกับทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไป คือก้าวข้ามความรุนแรง
ขณะที่รัฐบาลในฐานะผู้คุมยุทธศาสตร์ ต้องสร้างความเชื่อมโยงกับภาคประชาชนและประชาสังคม จัดบทบาทและภารกิจที่แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่ดี เพื่อให้เราก้าวข้ามไฟใต้ในวังวนเดิม และสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นจริงต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
คนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจ ชรบ.ในยะลา ดับ 14 ศพ-ชิงปืน!
เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุโจมตี ชรบ.ในยะลา
เมื่อกองกำลังประชาชนตกเป็นเป้า! ประเมิน 4 ปัจจัยไฟใต้ปะทุอีกระลอก
นายกฯประณามเหตุโจมตีป้อม ชรบ. ยอดตายพุ่ง 15 - หญิง 4 ศพ
แม่ทัพ 4 สั่งปรับแผนห้ามเฝ้าป้อม-นอนฐาน - ปากคำชาวบ้านคนร้ายมีสาหัส
ผบ.ตร.บินด่วนลงใต้ พบคนร้ายใช้เอ็ม 79 ถล่มป้อม ชรบ.
"ปณิธาน" เตือนภัย "ผู้นำรุ่นใหม่" แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปี
เสียงจากลำพะยา...โจมตีป้อม ชรบ.ตาย 15 เกิดขึ้นได้ไง
สรุปโจมตีป้อม ชรบ.ลำพะยา "ทีมปัตตานี-ยะลา" จับมือ "หน้าขาว-ฝึกใหม่"