ต้นสัปดาห์นี้ 17-18 ก.พ.68 จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา นำโดย นายกฯแพทองธาร ชินวัตร
ปรากฏว่าเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เตรียมเคลื่อนไหวประกาศจุดยืน หรือส่งข้อเสนอ และข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาลอย่างคึกคัก
เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ นำทีมโดย นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เครือข่ายภาคใต้สีเขียว อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ร่วมกันแถลงถึงการเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯแพทองธาร เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาภาคใต้
ทั้งนี้ จะมีเครือข่ายภาคประชาชนจากหลายจังหวัดในภาคใต้ ประมาณ 300 คน เดินเท้าเข้าพบนายกฯและยื่นหนังสือ ในวันอังคารที่ 18 ก.พ. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม ครม.สัญจร
@@ ไม่เอากฎหมายระเบียง ศก.พิเศษภาคใต้
ประเด็นหลักที่จะนำเสนอคือ
- ขอให้ทบทวนการนำเสนอกฎหมาย SEC หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เข้าสู่ที่ประชุม ครม.แม้ทราบมาว่าไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในครั้งนี้ก็ตาม
โดย กฎหมาย SEC นั้น เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษกับคนพิเศษ ก็คือนักลงทุน แต่ผลกระทบต่างๆ จะเกิดกับคนในพื้นที่ จึงไม่ต้องการให้เกิดกฎหมายพิเศษสำหรับคนพิเศษในภาคใต้หรือภาคอื่นๆ ของประเทศ
- มีประเด็นย่อยๆ ของเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาวเล กลุ่ม เครือข่ายคัดค้านกาสิโน และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปิดพื้นที่เพื่อพบปะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนโดยตรง เพราะเราต้องการนำเสนอข้อเรียกร้องเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการประชุม หากนายกฯรับฟังด้วยตัวเอง จะถือเป็นมิติใหม่ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่” แกนนำเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ ระบุตอนหนึ่งระหว่างการแถลง
@@ อย่าปิดกั้น หวั่นซ้ำรอยรัฐบาลพ่อเลี้ยง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา ในรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีนามสกุลชินวัตร เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุครัฐบาลไทยรักไทย นำโดย นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2545
โดยครั้งนั้นมีการชุมนุมแสดงพลังคัดค้านโครงการท่อแก๊สจะนะ และมีการสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บที่หน้าโรงแรม เจบี หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ต่อมาศาลฎีกาก็คำพิพากษาว่า ประชาชนที่เดินทางขอพบนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และถูกสลายการชุมนุม ไม่มีความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
@@ 42 องค์กรจี้นายกฯเดินหน้า “พูดคุยดับไฟใต้”
อีกกลุ่มหนึ่งที่จะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯแพทองธาร ก็คือ 42 องค์กร/กลุ่ม/บุคคล ที่สนับสนุนให้มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มนี้ มีสาระสำคัญอ้างถึงการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาล กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งริเริ่มขึ้นในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 56 และหลังจากนั้นเหตุรุนแรงและความสูญเสียก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน องค์กรร่วมทั้ง 42 องค์กร มีความกังวลต่อสถานการณ์ เพราะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง นายภูมิธรรม เวชยชัย กำลังสั่งทบทวนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ใหม่ จึงอยากเรียกร้องให้นายกฯแพทองธาร แสดงเจตจำนงที่ชัดเจน แน่วแน่ ว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพต่อไป และสนับสนุนให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ หรือ Public Consultation เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองต่อปัญหานี้ด้วย
อ่านประกอบ : เอกสารจดหมายเปิดผนึก (ตามภาพ)
@@ “นิพนธ์” แนะนายกฯผลักดัน Hatyai Monorail
อีกด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย อดีต สส.สงขลา 8 สมัย และอดีตนายก อบจ.สงขลา เรียกร้องให้นายกฯ เร่งผลักดันโครงการ Hatyai Monorail เพื่อขับเคลื่อนโครงการระบบขนส่งสาธารณะของอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมต่อ สถานีคลองหวะ – สถานีรถตู้ โดยโครงการดังกล่าวผ่านการศึกษาความเป็นไปได้โดย อบจ.สงขลา เรียบร้อยแล้ว และมีศักยภาพสูงในการพัฒนา
ขณะนี้โครงการต้องรอการพิจารณาจากสำนักงบประมาณว่า จะจัดสรรงบประมาณให้เท่าใด ซึ่งหากกระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ลดปัญหาการจราจร และสามารถควบคุมต้นทุนโครงการได้ แต่หากล่าช้า ต้นทุนก่อสร้างจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของโครงการ